ภาคภูมิ ป้องภัย /เรื่อง
วิชัย จันทวาโร /ภาพ
มีโอกาสไปร่วมงาน “วันหยุดเขื่อนโลก” เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา บังเอิญโชคดีได้ติดสอยห้อยตามชาวบ้านในละแวกนั้นไปเยี่ยมญาติที่เมืองผาซอง จ.บอละแค รัฐคะเรนนี
จากข้อมูลของทีมข่าวชายขอบ (www.tranbordernews.in.th) ซึ่งเคยไปเยือนรัฐคะเรนนีเมื่อ 3 ปีก่อนรายงานว่า รัฐแห่งนี้มีพื้นที่น้อยที่สุดในประเทศพม่า ตั้งอยู่ทิศตะวันออก ติดชายแดนไทย จ.แม่ฮ่องสอน ทิศใต้ติดรัฐกะเหรี่ยง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสลับที่ราบสูง แผ่นดินอุดมด้วยแร่นานาชนิด ทั้งทองคำ เหล็ก ตะกั่ว พลอย ดีบุก วุลแฟรม ในอดีตเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการทำป่าไม้ โดยเฉพาะไม้สัก ไม้สน ไม้ยาง ไม้ตะเคียน ไม้ประดู่ ฯลฯ ปัจจุบันถูกตัดขายจนเหลือไม่มากนัก
“ผาซอง”คือเมืองท่าเรือขนส่งไม้สักป้อนพ่อค้าไม้จีน-ไทยทางแม่น้ำสาละวินและทางบก เมื่อ 3 ปีก่อนแทบไม่มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคสาธารณูปการ แต่วันนี้ ผลจากพม่าย้ายเมืองหลวงมากรุงเนปีดอว์ ทำให้กลุ่มทุนชายแดนเล็งเห็นโอกาสทางการค้าการลงทุนในอนาคต จึงร่วมกับพม่าสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสาละวินที่เมืองนี้ เพื่อให้เกิดเส้นทางการค้าการคมนาคมเชื่อมต่อไทยจากบ้านห้วยต้นนุ่น อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน (40 กม.)-แม่แจ๊ะ-เมืองผาซอง–เมืองลอยก่อ–เมืองตองอู–เมืองเนปีดอว์ รวมระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร
สะพานข้ามแม่น้ำสะลาวินแห่งนี้เริ่มสร้างราวปี 2557 เพิ่งเปิดใช้เมื่อไม่นานมานี้ วันนี้ ผาซองจึงเหลือแต่ท่าเรือร้าง ไม่มีการขนส่งซุงมาไทยทางแม่น้ำเหมือนในอดีต แต่สภาพของเมืองคึกคักมีชีวิตชีวากว่าเดิม ผู้คนยิ้มแย้มมีอัธยาศรัย เดินเที่ยวเมืองได้อย่างสบายใจ ไม่อึมครึมตึงเครียดเหมือนอดีต
ถึงตัวเมืองไม่ใหญ่นัก แต่เป็นที่ตั้งศูนย์บัญชาการทหารพม่า กองกำลังกะเหรี่ยงดาวแดง (KNPLF) และกองกำลังกะเหรี่ยงดาวขาว แต่ละศูนย์มีกองกำลังและอาวุธไว้ดูแลต่อรองผลประโยชน์จากการค้าการลงทุนในพื้นที่ปกครองของตัวเองมากกว่ามีไว้รบกันเหมือนช่วงก่อนเจรจาหยุดยิง ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ (ชั่วคราว) ที่นี่ยังมีโรงพยาบาล,โรงเรียน, สถานีดับเพลิง, ร้านขายโทรศัพท์มือถือหลายแห่ง, ร้านอาหารกึ่งภัตตาคาร 2-3 แห่ง ไม่นับรวมถึงร้านขายส่งสินค้าสารพัน แต่ที่น่าแปลกใจคือ ร้านขายส้มตำ
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า สินค้าที่ขายดีที่สุดในหมู่บ้านสะกอท่า อันเป็นปากประตูทางเข้าสู่รัฐคะเรนนี แต่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพพม่านั้นคือ “ปลาร้า”
“มันเก็บได้นาน ปรุงกับอาหารพื้นถิ่นได้หลายรูปแบบ รสชาติถูกปากถูกคอคนที่นี่มาก”ยอ นาซา เจ้าของร้านโชว์ห่วยและร้านน้ำชาในหมู่บ้านยืนยันเช่นนั้น
นี่อาจเป็นเหตุผลให้มีร้านส้มตำ 2-3 ร้านปรากฏตัวขึ้นที่ผาซองเมื่อไม่นานมานี้ แถมยังเป็นที่ชื่นชอบของชาวคะเรนนีพอสมควร
การเดินทางไปผาซองทางเรือได้ทั้งจาก ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย หรือบ้านสบแงะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ฤดูร้อนยามนี้ ควันไฟป่าฝีมือคนเผาปกคลุมไปทั่วขุนเขาและตลอดเส้นทางล่องแม่น้ำสาละวิน ทำให้อากาศร้อนแรงยิ่งขึ้น กว่า 3 ชั่วโมงจึงถึงหมู่บ้านสะกอท่า ริมสาละวิน ที่นี่เป็นท่าค้าควายและร้านขายส่ง-ปลีกเครื่องอุปโภคบริโภคให้ชุมชนต่างๆที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน เหนือหมู่บ้านขึ้นไปบนดอยเป็นฐานทหารพม่าตั้งตระหง่านราวพญาเหยี่ยวเกาะยอดไม้จับตาดูนกกระจิบเบื้องล่าง โชคดีที่เราไม่เจอพวกเขาระหว่างเดินชมหมู่บ้าน แต่ถึงกระนั้นยังต้องแอบบันทึกภาพพูดคุยเก็บข้อมูล
นอนค้างคืนในเรือใต้แสงจันทร์อาบเวิ้งน้ำสว่างนวลตา พอรุ่งขึ้น เดินทางเข้าสู่รัฐคะเรนนี ผ่านจุดตรวจคนเข้า-ออกทั้งของกองกำลังกู้ชาติคะเรนนี (KNPP) กองกำลังพม่า กะเหรี่ยงดาวแดง และดาวขาว สลับกันไปมาตลอดสองฟากลำน้ำจนถึงเมืองผาซอง
จะว่าเสี่ยงก็เสี่ยง จะว่าปลอดโปร่งก็ปลอดโปร่ง ทั้งนี้ทั้งนั้นมันขึ้นอยู่กับคนที่เราติดสอยห้อยตามเข้าไป รู้จักกว้างขวางกับกองกำลังต่างๆแค่ไหน ถ้าซี้ปึ้กกับทุกฝ่าย ทุกอย่างก็ราบรื่น หากดุ้ยๆเข้ามาโดยไม่รู้จักใครเลยก็ยากจะผ่านไปได้ง่าย เคราะห์ร้ายอาจโดนจับกุมสอบสวน
ฉะนั้น สำหรับใครที่สนใจมาดินแดนเข้าถึงยากอย่างรัฐคะเรนนีไปจนถึงรัฐฉาน ก่อนอื่นต้องได้ผู้กว้างขวางฝั่งไทยและคนเส้นใหญ่ที่นั่นเชื่อมต่อรับรอง จึงสามารถเข้าไปได้ทั้งทางบกและทางเรือ
เวลาอันน้อยนิดในเมืองผาซอง ไม่เปิดโอกาสให้เราไปแว่บดูสถานที่ท่องเที่ยว “อันซีน”ในละแวกนั้น แต่ไม่เป็นไร ถึงไม่ได้อะไรจากที่นั่น แต่ติดชายแดนคะเรนนี-ไทย ยังมีอันซีนให้สัมผัสเช่นกัน
สำหรับชาวกะเหรี่่ยงซึ่งพึ่งพิงแม่น้ำสาละวินมาตลอดชีวิต พวกเขาผ่านมันไปมาบ่อยครั้งจนเห็นเป็นสถานที่ปกติธรรมดา ต่างกับคนเมืองที่น้อยคนนักจะเดินทางผ่านมา
อันซีนที่ว่าคือ “หมื่อกาทีบู” แปลเป็นไทยว่า “สระกินรี” (หมื่อกา=กินรี ,ทีบู=บ่อน้ำ) ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ห่างจากเขตรัฐคะเรนนีไม่กี่กิโลเมตร
หากให้บรรยายความสวยงามและแปลกตาของสระกินรีอาจไม่เห็นภาพลึกซึ้งเท่ากับดูภาพถ่ายของ “วิชัย จันทวาโร”ช่างภาพอิสระฝีมือดี ซึ่งบ่งบอกความงดงามทุกอย่างแล้ว ส่วนที่จะขอเพิ่มเติมคือ สระแห่งนี้อยู่ติดแม่น้ำสาละวิน เกิดจากน้ำซับซึมผ่านใต้ภูเขาแล้วผุดออกมาไหลรินเป็นทางลงสระหินปูน ในฤดูฝน แม่น้ำท่วมมิดสระ พอฤดูหนาว ลดระดับเคียงขอบสระเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน คล้ายมองสระน้ำในรีสอร์ตหรูเห็นเป็นเนื้อเดียวกับทะเล
ยามฤดูแล้ง กลายเป็นสระลอยฟ้า สามารถพุ่งหลาวจากขอบสระลงแม่น้ำได้ถ้าใจกล้าพอ น้ำใสแจ๋วดุจตาตั๊กแตน พื้นราบเรียบดังกระจกจนมองเห็นภาพสะท้อนท้องฟ้าและขุนเขา เวลาลงเล่นแล้วไม่มีตะกอนฟุ้งขึ้นมากวนใจ
ทางเดินขึ้นสระเป็นเนินหาดทรายสีขาวนวล คืนนั้น เราปูผ้าใบนอนดูดาวนับหมื่นดวงบนท้องฟ้าจนพระจันทร์โผล่พ้นเหลี่ยมเขา ส่องสว่างกระจ่างไปทั่ว
ภาพจันทร์เหลืองนวลสะท้อนผิวน้ำข้างเงาตะคุ่มของเรือหางยาว ผืนแผ่นน้ำสะท้อนแสงเป็นสีเงินยวง ปลายสายไหลกลืนไปในความมืด โดยมีเทือกเขาดำทะมึนรองรับอยู่เบื้องหลัง เป็นความสวยงามหมดจดจนอยากหยุดห้วงยามนี้ไว้ตลอดไป และอดคิดไม่ได้ว่า ในชั่วชีวิตคนเรา จะมีสักกี่ครั้งที่ได้เห็นชีวิตและสรรพสิ่งแสนอัศจรรย์เช่นนี้
——————————————————-
(ล้อมกรอบ)
คนร่อนแร่
“คนร่อนแร่”คือวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงในรัฐคะเรนนีที่สามารถพบเห็นได้ตลอดริมฝั่งแม่น้ำสาละวินตั้งแต่สุดเขตแดนไทยไปถึงเมืองผาซอง
เมื่อ 3-4 ปีก่อน ยังมีเรือดูดทรายร่อนแร่เหล็กและทองคำของนายทุนจีนจอดเกลื่อนไปทั่ว แต่มาปีนี้ พบแค่เรือพังสนิมเกรอะจอดทิ้งริมตลิ่ง คงเหลือแต่อุตสหกรรมในครัวเรือน ผัวเมีย พ่อแม่ลูก ยายหลาน ต่างจับจองพื้นที่ทำการหลังได้รับอนุญาตจากกองกำลังทหารในพื้นที่นั้นๆ
หนุ่มสาวใช้รางไม้เกลี่ย ผู้เฒ่าและเด็กใช้จานไม้ร่อน ขั้นตอนกว่าจะเกลี่ยร่อนทรายสีเหลืองให้เหลือแค่ทรายดำ (แร่เหล็ก)วาววับยามสะท้อนแดดถือว่ายาวนานมาก พอได้มาแล้วต้องนำไปตากให้แห้งสนิทก่อนบรรจุถุงส่งขายโรงงานถลุงแร่ รับซื้อน้ำหนัก 1 จ๊อย (เป็นภาษาไทใหญ่ เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) ให้ราคา 6,000 จ๊าด (150 บาท) เสียภาษีหน้าโรงงาน 700 จ๊าดต่อ 1 จ๊อย ปกติแต่ละครอบครัวจะได้เฉลี่ยวันละ 3-4 กก. หรือมีรายได้วันละ 300-350 บาท
“ชิ ตอ เลาะ” หนุ่มวัย 31 ปีไม่มีงานทำในเมืองผาซองหลังหมดฤดูทำนาไร่ จึงพาเมียมาร่อนแร่หน้าร้อน ดีกว่าตกงานไม่มีกิน เขายอมรับว่างานหนักมากๆ แต่มีอิสระ ไม่ต้องเป็นลูกจ้างให้ใครจิกใช้
เขายังบอกอีกว่า ถ้าโชคดีจะพบแร่ทองคำปะปนในทรายดำ แต่ไม่ได้เน้นหามัน เพราะมีน้อยมาก ร่อน 1 เดือนได้อย่างมากเพียง 2 สลึงเท่านั้น
ไม่เพียงหนุ่มสาวเท่านั้น หญิงชราอย่าง “ซา เพือย”ยังหอบร่างกายในวัยเกือบ 70 มาช่วยหลานร่อนทองตั้งแต่ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา
เธอชี้ให้เราดูเศษทองจิ๋ว 2-3 ชิ้นที่ได้จากการร่อน และบอกว่า “หาแร่ทองได้ทุกวัน มากบ้างน้อยบ้าง ต่อวันได้ไม่ถึงหนึ่งสลึง พอมีเงินซื้อข้าวซื้อพริกกิน”
คุณยายซา เพือย พูดคุยกับเราด้วยรอยยิ้ม และหัวเราะร่วนยามคนขับเรือชาวกะเหรี่ยงกระเซ้าเย้าแหย่
งานหนักท่ามกลางเปลวแดดแผดเผา พวกเขายังมีความสุขกับวิถีแห่งกะเหรี่ยง อดทน ไม่ย่อท้อ และยิ้มอย่างมีความหวังในชีวิต