“เราสิ้นที่พึ่งเราคงต้องไป เพราะเขาไม่ให้เราอยู่ ผมไม่รู้เลยว่าให้ข่าวออกไป พูดไปแล้วผมจะได้อะไร แต่พวกเรา 30 คนต้องหาที่อยู่ใหม่”
นายสาม (ไม่มีนามสกุล) ผู้ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เชื้อชาติไทใหญ่ (บัตรหัว 6) อายุ 47 ปี หนึ่งในชาวชุมชนน้ำล้อมกล่าวอย่างสิ้นหวัง หลังการต่อสู้เพื่อสิทธิที่อยู่อาศัยเดินมาสู่ปีที่ 4
ชุมชนน้ำล้อมเป็นชุมชนเล็ก ๆ ตั้งอยู่ที่หมู่ 6 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยก่อตัวมานานกว่า 30 ปี มีบ้าน 9 หลังที่มีสมาชิกอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว เครือญาติ โดยสมาชิกชุมชนมีทั้งคนไทย ไทลื้อ ไทใหญ่ อาข่า ในส่วนของ “สาม” อาศัยอยู่มาราว 25 ปี เขาทำงานรับจ้างก่อสร้างหาเลี้ยงชีพ หลังจากหนีสงครามมาจากรัฐฉาน ประเทศพม่า และขณะนี้ได้ยื่นขอแปลงสัญชาติเป็นคนไทยตามกฎหมาย ตามที่นโยบายของรัฐบาลไทยที่ระบุให้สามารถขอแปลงสัญชาติเป็นไทย เนื่องจากเป็นบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ขณะที่สมาชิกในชุมชนหลายคนต่างก็อยู่ในระหว่างการดำเนินการขอสัญชาติไทยเช่นกัน มีเพียงบางคนเท่านั้นที่ได้รับสัญชาติและสามารถประกอบอาชีพตามใฝ่ฝันได้
“ตอนเราย้ายมาอยู่ เราก็ทำงานทุกอย่าง เก็บเงินได้ก็มาซื้อที่ดินจากคนแถวนี้ ซื้อแต่ไม่มีเอกสารหรอก แต่เราก็ซื้อเพราะอยากมีบ้านอยู่ ตอนนั้นก็คือตั้งใจแล้วว่าจะขอทำงานและอยู่ในไทยตลอดไป กฎหมายผมก็พอรู้บ้าง แต่ผมไม่รู้ว่าเราต้องทำยังไงให้มีที่ดินอยู่ เห็นคนแม่สายก็มีคนชนเผ่าเยอะ ผมคิดไปว่าไม่น่ามีปัญหา พวกเราไม่มีใครอยากอยู่แบบผิดกฎหมาย ทุกวันนี้เลยเดินหน้าทำบัตรประชาชน บางคนได้บัตรไปแล้วก็ไปทำงานที่อื่นกลับมาเยี่ยมญาติบ้าง”
ปี 2557 ฝันของ “สาม” และชาวชุมชนน้ำล้อมเริ่มสลาย เมื่อมีผู้นำท้องถิ่นเข้ามาทวงคืนที่ดินกว่า 1 ไร่ ที่เป็นที่ตั้งของชุมชน โดยบอกว่าเป็นที่ดินที่เป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) และทางเทศบาลตำบลแม่สายต้องการพัฒนาเป็นที่สาธารณะประโยชน์ ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันและร้องเรียนต่อเทศบาลและขอข้อเสนอทางออกเกี่ยวกับสิทธิที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งยื่นเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตลอด อาทิ ศูนย์ดำรงธรรม อนุคณะอนุกรรมการด้านสิทธิในที่ดินและการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และได้ขอประชุมเจรจาร่วมกับฝ่ายปกครองท้องถิ่นหลายครั้งเพื่อพิสูจน์สิทธิ์และหาหลักฐานว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ นสล.จริงหรือไม่ แต่ชาวบ้านก็ไม่เคยได้รับคำตอบนั้น
กระทั่งวันที่ 5 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้เสนอต่อเทศบาล 3 ข้อ เพื่อขออาศัยอยู่ต่อไป ได้แก่ 1 ขอที่อยู่พื้นที่เล็กลงจาก 1 ไร่กว่า อาจจะเหลือสักครึ่งหนึ่งของเนื้อที่ก็เป็นได้ ให้ชาวบ้านได้อาศัยอยู่และประกอบอาชีพตามกฎหมายในพื้นที่ตำบลแม่สาย 2 ขออยู่ในเนื้อที่เดิมแล้วจ่ายค่าเช่ารายเดือนที่ไม่แพงมาก เนื่องจากชาวบ้านเป็นผู้มีรายได้น้อยและต้องดำเนินการขอสัญชาติ จึงจำเป็นต้องหาที่อยู่อย่างมั่นคงจนกว่าจะได้รับสัญชาติไทยและสามารถครอบครองที่อยู่ในภายหลังได้ โดยไม่คิดจะออกเอกสารสิทธิ์มาเป็นแบบบุคคล แต่ให้เทศบาลและฝ่ายปกครองมาทำข้อตกลงเรื่องค่าเช่า 3 เสนอเทศบาลว่าให้มอบเงินเยียวยาระหว่างหาที่อยู่ใหม่ เพราะชาวบ้านเข้ามาอยู่นั้นต้องซื้อที่ดินและเก็บเงินสร้างบ้าน หากไม่มีต้นทุนเลยชาวบ้านอาจจะไม่มีกำลังทรัพย์ไปหาที่อยู่ใหม่
แต่ข้อเสนอดังกล่าวนั้น ทางเทศบาลแจ้งว่าเป็นเงื่อนไขที่มอบให้คนไทย จะรับเงินต้องมีบัตรประชาชน ชาวบ้านจึงต้องยอมจำนนและอาจจะต้องแยกย้ายกันภายในวันที่ 30 เมษายน นี้ ตามคำสั่งของเทศบาล
“น้องชายผมได้สัญชาติไทยมาก่อนแล้ว ได้บัตรมา 7 ปี มีบ้านเกิดในบ้านเลขที่แถวนั้นแล้ว ผมก็คุยว่าเอาชื่อน้องชายได้ไหม มารับเงินเยียวยา เขาก็ไม่ยอม และเมื่อต้นเดือนเมษายนก็เอารถมาจะขุด รื้อถอน พวกเราก็ทำอะไรไม่ได้ เราสู้มานานแล้ว เขาเองก็บอกว่าให้โอกาสเราตั้งตัวมาหลายปีแล้ว ตอนนี้คงต้องไปจริง ๆ” สามเล่า
ช่วงที่ถูกไล่รื้อครั้งแรกชาวบ้านถูกข่มขู่ คุกคาม และรั้วบ้านถูกทำลายโดยไม่มีการขออนุญาต หรือสอบถาม หรือนำเอกสารมาแสดงสิทธิการรื้อถอน รวมทั้งขู่ตัดน้ำตัดไฟฟ้าสารพัด แต่ชาวบ้านไม่สามารถเรียกร้องความเสียหายใด ๆ ได้ เนื่องจากระลึกอยู่เสมอว่าอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยที่ไม่ใช่บ้านเกิดของพวกเขา และ “พวกเขายังเป็นคนไทยไม่สมบูรณ์”
ปัจจุบันสามยังคงรับจ้างก่อสร้างและซ่อมบำรุงในศูนย์พัฒนาการศึกษาเพื่อท้องถิ่นและชุมชน และต้องแบ่งเวลาไปดำเนินการขอสัญชาติ เขาเองยอมรับว่า สิทธิการต่อสู้เพื่อชุมชนที่อยู่มานานถึงคราวต้องยุติลง เพราะชาวบ้านส่วนมากอยู่แบบไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้หนังสือและร้องเรียนมาหลายที่ได้รับความเห็นยืนตามเทศบาลทั้งหมด ขณะนี้บ้านบางหลังจึงมีคนยอมย้ายออกไปแล้ว เทศบาลเอารถแบคโฮ มารื้อถอนบางส่วน สำหรับชีวิตที่เหลืออยู่ที่ว่าจะย้ายถิ่นฐานไปทางใด แต่เป้าหมายหลัก คือการต่อสู้เพื่อขอสัญชาติไทยและมีสิทธิเท่าเทียมผู้อื่น
นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตกรรมการด้านสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ให้ข้อมูลว่า กรณีบัตรเลข 6 นั้นต้องดูบัตรประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ประเภทใด เช่น กรณีบุคคลที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย แต่เข้ามาอาศัยอยู่ในแล้วถูกบันทึกเป็นราษฎรไทยในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ให้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรประเภท ท.ร.13 ถือเป็นทะเบียนบ้านสำหรับคนมีสิทธิอาศัยชั่วคราวและมีสิทธิครอบครองที่อยู่อาศัยได้แต่ต้องอยู่ในพื้นที่ควบคุม หมายความว่าอยู่จังหวัดใดก็ต้องอยู่จังหวัดนั้น มีสิทธิซื้อบ้าน เช่าที่ได้ แต่ห้ามมีชื่อเป็นเจ้าของบ้านในโฉนดหรือที่ดินนั้น เช่น หากจะซื้อบ้านจากใคร มีหลักฐานซื้อขายแจ้งว่าอยู่อาศัยโดยถูกต้องก็พอ แต่ว่าโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์ต้องเป็นชื่อคนไทยที่ครอบครองอยู่ ซึ่งสิทธิส่วนนี้บุคคลเหล่านี้มักไม่รู้ และคนไทยเองบางครั้งพอรู้ว่า ชนกลุ่มน้อยที่ไม่มีบัตรประชาชนก็มักจะเอารัดเอาเปรียบและเลือกปฏิบัติเสมอ คนไม่มีบัตรประชาชนจึงหาคนเข้ามาช่วยเหลือยากเพราะติดปัญหาเรื่องนี้ แต่จริง ๆ แล้วสิทธิคนบัตรเลข 6 ที่เสียภาษีให้คนไทยในทางอ้อม ทำงานแล้วมีการหักภาษีไป ก็เท่ากับว่าเขามีสิทธิ์ในสิ่งของที่ซื้อหาได้ แต่กรณีการไล่รื้อเช่นนี้ต้องไปพิสูจน์แบบรายบุคคลว่าถือบัตรเลข 6 ที่ประกอบด้วยเลขใดบ้าง แต่ที่แน่ ๆ มีสิทธิอยู่อาศัยในจังหวัดเดิมซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมจากรัฐไทยโดยถูกกฎหมาย