“หากไม่มีหนทางที่จะหารายได้ใดเลี้ยงลูก เลี้ยงครอบครัว แล้วหนี้สินยังมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ ก็คงต้องเลือกงานรับจ้าง ทำนา ปลูกผัก และกรีดยาง เพื่อความอยู่รอด” พิน รักนาวา อายุ 40 ปี ชาวชุมชนราไวย์ จ.ภูเก็ต กล่าวถึงอนาคตที่อาจต้องเปลี่ยนทางทำมาหากิน จากอาชีพประมงสู่การรับจ้างรายวัน หลังจากเผชิญกับปัญหาการถูกจับกุมที่หมู่เกาะสิมิลัน ข้อหาบุกรุกเขตอุทยาน เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ที่ผ่านมา
พินย้อนเรื่องราวว่า ชาวเลที่ถูกจับกุมในวัน-เวลาดังกล่าว ต้องประกันตัวเองออกมา โดยไปกู้เงินจากภาคเอกชนมา 10,000 บาท ขณะที่พี่น้องชาวเลหลายรายก็พยายามจะบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือ แต่ตัวเองก็รู้สึกเกรงใจ จึงตัดสินใจกู้เงินส่วนดังกล่าว พร้อมทั้งทยอยจ่ายคืนเจ้าหนี้ประมาณวันละ 120 บาท หรือเดือนละ 3,600 บาท
พินเป็นชาวราไวย์ ที่เติบโตมาในครอบครัวคนหาปลา ทำให้ผูกพันกับวิถีชาวประมง และเริ่มออกเรือหาปลาตามหมู่เกาะต่างๆ ตั้งแต่อายุ 15 ปี จึงไม่เคยมีความคิดอยากจากไปไกลบ้านเกิดเลยสักครั้ง เว้นแต่ออกเรือนานต่อเนื่องประมาณ 3-5 วัน และมาวันนี้ วิถีดั้งเดิมของเขาก็ยังคงอยู่ โดยปัจจุบันมีลูกสาวอายุประมาณ 14 ปี ตัวเองก็ยังออกเรือเพื่อจับสัตว์น้ำมาขาย ส่งลูกเข้าโรงเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนกระทั่งเข้ามัธยม แต่เมื่อมาเผชิญกับปัญหาการถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่อุทยาน ก็รู้สึกท้อใจอย่างมาก
“ทุกวันจะออกเรือไปแถวๆ เกาะยูง ที่เป็นส่วนหนึ่งของเกาะพีพี ใน จ.กระบี่ โดยใช้อุปกรณ์ทำมือทั่วไป อย่างฉมวก เพื่อหาปลาในพื้นที่ที่คุ้นเคย โดยครั้งล่าสุดขออนุญาตกับทหารในพื้นที่แล้ว ก็บอกว่าให้หาได้บริเวณรอบนอกของเกาะ แต่พอหาไปได้สักพักก็ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ พร้อมกับชาวเลอีก 8 คน เขาบอกแค่ว่าเข้ามาจับสัตว์น้ำในพื้นที่หวงห้าม แล้วยึดเรือไว้ที่ทับละมุ จ.พังงา จะได้คืนเมื่อไหร่ยังไม่รู้ โดยจะต้องหาเงินไปประกันเรือออกมาประมาณ 1 แสนบาท โดยในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ จะต้องไปรายงานตัวที่ศาลเพื่อเดินหน้าด้านคดีความต่อไป ยังไม่รู้เช่นกันว่าผลจะออกมาอย่างไร หวงก็แค่ลูกสาว จะอยู่อย่างไร แล้วภรรยาจะหารายได้พอหรือไม่”
จิรศักดิ์ บางจาก ชาวประมง ชุมชนราไวย์ เสริมว่า ตนทำอาชีพประมงมานานกว่า 10 ปี ทำมาหากินในพื้นที่อันดามันมาโดยตลอด ซึ่งบรรพบุรุษชาวอุรักลาโว้ย ก็เคยออกเรือมานานกว่า 300 ปี ไม่เคยมีส่วนในการทำลายทรัพยากรใดๆ เพราะชาวเลทุกคนหาปลาด้วยวิธีดั้งเดิม เช่น ฉมวก เครื่องปั่นลม ไม่ได้ใช้เครื่องมือทันสมัยเหมือนเรือประมงลำใหญ่ ที่มีแรงงานประจำนับสิบคน
จิรศักดิ์อธิบายด้วยว่า หลังจากถูกเจ้าหน้าที่จับกุม พวกเขาก็ถูกสั่งการให้ไปทำแผนประกอบคำสารภาพที่เกาะดอน จ.กระบี่ ด้วยความกลัวในความผิดก็ต้องทำตามที่เจ้าหน้าที่ระบุ
“ความทุกข์ในขณะนี้คือ พวกเรามืดบอดไปหมด ไม่กล้าแม้แต่จะเอาเรือส่วนตัวออกทะเลได้อีก เพราะเกรงจะถูกจับกุมอีกครั้ง ที่สำคัญ เรามีรายได้ต่อการออกเรือ 3 คืน แค่ 700-800 บาท หากจะต้องจ่ายเงินประกันตัวเวลาบุกรุกสถานที่หวงห้ามเป็นหมื่น ก็จนปัญญาที่จะหามาได้” จิรศักดิ์อธิบาย
ชาวเลที่ถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกขณะนี้ บางคนต้องรับจ้างเป็นลูกเรือกับเพื่อนบ้าน โดยรับจ้างเป็นรายวัน วันละ 100 กว่าบาท ขณะที่บางคนก็ไม่มีวิธีหากินอื่น นอกจากนั่งรอเวลาให้ศาลตัดสินอย่างชัดเจน ว่าจะคืนเรือและอุปกรณ์จับสัตว์น้ำให้หรือไม่ ซึ่งถ้าคำตอบคือไม่ คงต้องจากบ้านไปรับจ้างต่างถิ่นจริงๆ
ทั้งสองยิ้มรับว่า รู้สึกหดหู่ใจทุกครั้งที่ต้องนั่งมองทะเลที่พวกเขาเกิดและเติบโตมา โดยไร้กรรมสิทธิ์ในการหากิน เพื่อการอยู่รอด การประกาศพื้นที่อุทยานทางทะเลแปรชีวิตของชาวเล เป็นแค่กลุ่มบางๆ ที่ไม่มีสิทธิ์ใดๆ ในการหากิน บางครั้งก็อดคิดไม่ได้ ในอนาคตอาจต้องแขวนเครื่องมือประมงไว้ในบ้านให้ลูกหลานดูเท่านั้น
ขณะที่ปัญหาเอกชนอ้างสิทธิเหนือที่ดิน ยังคงคุกคามชีวิตของคนในท้องถิ่นทุกโมงยาม โดยข้อมูลจากชุมชนไท ระบุว่า มีชุมชนชาวเลที่ไม่มั่นคงในการอยู่อาศัยถึง 28 แห่ง จากทั้งหมด 41 แห่ง ซึ่งเรื่องนี้ อานันน์ บางจาก ชาว จ.ภูเก็ต หนึ่งในผู้ประสบปัญหาด้านที่ดิน เล่าว่า ตนมักพบเอกสารข่มขู่ให้ย้ายออกจากพื้นที่ซึ่งอยู่อาศัยปัจจุบันโดยเร็วที่สุด แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนอุทธรณ์ ซึ่งชุมชนชาวเลบ้านราไวย์มีจำนวน 255 ครัวเรือนนั้น ถูกฟ้องขับไล่แล้ว 10 ครอบครัว และไม่แน่ว่าหากสู้คดีไม่ชนะก็จะถูกฟ้องทั้งชุมชน
“หลายครั้งแล้วที่เราพยายามอธิบายว่า เราอยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย แต่เมื่อเอาหลักวิชาการมาพูด มาเจรจา เราก็ไม่มีอะไรจะโต้เถียง เพราะบางครั้งเวลาคนในชุมชนลุกมาสู้โดยไม่มีความรู้ พวกเราก็โดนประณามว่าไร้การศึกษา บางคนก็ถูกทำร้ายร่างกาย ไม่รู้จริงๆ ว่าในอนาคต หากเราถูกไล่ที่ สั่งให้ย้ายออก แล้วเราจะไปอยู่ที่ไหน หากเลือกไม่ได้ก็ต้องเช่ารายเดือน ตอนนี้ก็ทำได้แค่ออกรับจ้างเป็นลูกเรือไปวันๆ”
แม้คนในชุมชนจะพยายามต่อสู้และเรียกร้องในสิทธิที่พวกเขาพึงได้รับบ่อยครั้งเพียงใดก็ตาม แต่วันนี้เสียงชาวเลก็ยังดังไม่พอ หลายภาคส่วนจึงยังเมินเฉยต่อการต่อสู้ของชุมชน ดังนั้น ในงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ณ ชุมชนราไวย์ จ.ภูเก็ต ที่จะมีขึ้นวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ จึงเป็นดั่งเวทีที่จะสะท้อนปัญหาที่ทุกคนได้รับอีกครั้ง ซึ่งคำตอบจะเป็นอย่างไรต้องรอติดตาม.
ไทยโพสต์ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555
.