ดูเหมือนแนวคิดการวารากฐานระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของประเทศไทยในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ก่อนจะขยายไปยังภาคอื่นๆ ต่อไปในอนาคต ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะโดนโจมตีไม่น้อย หลังจากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พรบ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … โดยประเด็นที่แทงใจประชาชนทั้งประเทศและถูกเรียกว่า “ทักษิณ คิด คสช.ทำ” ก็คือการขยายสิทธิการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากเดิม 50 ปี เป็น 99 ปี ,การยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง การรวบอำนาจในการให้ใบอนุญาตต่างๆ ไว้ที่หน่วยงานเดียว ฯลฯ
ซึ่งเรื่องนี้เครือข่ายจับตาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้พยายามจะชำแหละร่าง พรบ.หลายครั้งเพื่อออกสู่สาธารณะ แต่กลับถูกฝ่ายความมั่นคงสกัดกั้น ล่าสุดได้จัดขึ้นที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงความแตกต่างของกฎหมายการเช่าที่ดินของชาวต่างชาติในประเทศไทย และในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ว่า ความผิดปกติบางประการต่อข้อกล่าวอ้างของรัฐบาลที่ว่าเป็นกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว คือ พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์ฯ พ.ศ.2542 เกิดขึ้นจากแรงกดดันของกองทุนการเงินระหว่างประเทศในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ในกฎหมายฉบับนี้อนุญาตให้นักลงทุนต่างประเทศเช่าที่ดินได้ 50+49 ปีอยู่จริง แต่ก็มีเงื่อนไขและรายละเอียดพอสมควรในการอนุญาตและระบุถึงการเพิกถอนไว้โดยเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ฉบับก่อนเข้าที่ประชุม ครม. มาตรา 43 ระบุว่า ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการหรืออยู่อาศัยในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นคนต่างด้าวและได้รับสิทธิตามมาตรา 43(1) มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน
และในมาตรา 46 ระบุว่า การเช่าหรือให้เช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ มิให้นำมาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 5 แห่ง พรบ.เช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 มาใช้บังคับ เนื้อหาใน 2 มาตราข้างต้น มาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ระบุว่า อันอสังหาริมทรัพย์ ท่านห้ามมิให้เช่ากันเป็นเป็นกำหนดเวลาเกินกว่าสามสิบปี ถ้าได้ทำสัญญากันไว้เป็นกำหนดเวลานานกว่านั้นท่านก็ให้ลดลงมาเป็นสามสิบปี อนึ่ง กำหนดเวลาเช่าดังกล่าวมานี้ เมื่อสิ้นลงแล้วจะต่อสัญญาอีกก็ได้ แต่ต้องอย่าให้เกินสามสิบปีนับแต่วันต่อสัญญา ส่วนมาตรา 5 วรรค 2 แห่ง พรบ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์ฯ พ.ศ.2542 ระบุว่า การเช่าที่ดินที่มีเนื้อที่เกินกว่าหนึ่งร้อยไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมที่ดินตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ส่วนในวรรค 3 ระบุว่า การจดทะเบียนการเช่าตามพระราชบัญญัตินี้ การกำหนดประเภทของพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรมที่ให้ทำการเช่า และการใช้หรือการเปลี่ยนแปลงประเภทการใช้อสังหาริมทรัพย์ตามที่เช่า ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และในวรรค 5 ระบุอีกว่า ให้อธิบดีมีอำนาจเพิกถอนการจดทะเบียนการเช่าที่ฝ่าฝืนหรือมิได้ปฏิบัติตามความในวรรค 2 และ 3 แต่กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกกลับให้นักลงทุนที่ได้รับอนุญาตแล้วจะถือที่ดินกี่แปลงก็ได้ ที่ดินแปลงนั้นจะใช้ประโยชน์เพื่อการอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมประเภทใดก็ได้
“ยกตัวอย่างให้เห็นภาพนะครับ สมมติผมได้รับอนุญาตในการทำธุรกิจประเภทเอ แต่เมื่อผมได้รับอนุญาตแล้ว ผมอาจไปซื้อที่ดินเพื่อทำอุตสาหกรรมประเภทบี ประเภทซี ต่อไปก็ได้ ขณะที่กฎหมายเดิมจะต้องขออนุญาตเป็นรายแปลงนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียงในจังหวัดระยอง พัฒนามาเกือบ 40 ปีแล้ว ถ้าเช่าต่อไปเป็น 99 ปี เมื่อหมดระยะเวลา พื้นที่ที่ปนเปื้อนมลพิษขนาดใหญ่ขนาดนี้ ประเทศไทยจะทำอย่างไรกับพื้นที่นี้ เคยมีการกำหนดไว้หรือเปล่าว่าใครจะต้องเข้ามาฟื้นฟู ดูแลรักษาชาวบ้านที่เจ็บป่วย เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ” ดร.เดชรัต์ ขยายความ
ดร.เดชรัต กล่าวด้วยว่า การได้มาซึ่งที่ดินของกฎหมายฉบับนี้มีการกำหนดว่า ที่ดินที่จะเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษหรือใช้เพื่อการพัฒนาในเขตนี้ ภาครัฐสามารถซื้อ เช่า เช่าซื้อ เวนคืน หรือถมทะเลก็ได้ เมื่อได้ที่ดินมาแล้วก็สามารถนำไปปล่อยเช่าได้ โดยให้สำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นผู้กำหนดค่าเช่า การเช่าที่ดินนี้จึงแตกต่างจาก พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์ฯ เนื่องจากภาครัฐจะเป็นผู้จัดหาที่ดินมาให้เอกชนต่างชาติเช่า และเมื่อให้เช่าแล้ว การเพิกถอนก็คงเป็นไปไม่ได้เพราะในร่าง พ.ร.บ. นี้ได้ยกเลิกการบังคับใช้มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์ฯ ไปแล้ว
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เสนอทัศนะต่อสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร และการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย ว่า ประชาชนของทุกประเทศมีสิทธิที่จะทำสิ่งใดก็ตามเพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของประเทศ กรณีการเช่าที่ดิน 99 ปีง่ายที่จะถูกดึงและปั่นเป็นกระแสชาตินิยม แต่สิ่งที่ตนมองคือหากมีการศึกษาทางวิชาการตามกรอบกติกามาตรฐานสากลแล้วพบว่าการเช่าที่ดิน 99 ปีส่งผลดี ทางเราก็ยินดีสนับสนุน และประชาชนต้องมีส่วนร่วมซึ่งในรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ก็บัญญัติไว้ค่อนข้างรอบด้านว่า ต้องมีการประเมินอย่างไรและประชาชนควรมีส่วนร่วมอย่างไร เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องชาตินิยมหรือหวงแหนประเทศไทย แต่เป็นเรื่องของการจัดการที่ขาดการมีส่วนร่วม
“อยากถามว่านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียงในจังหวัดระยอง พัฒนามาเกือบ 40 ปีแล้ว ถ้าเช่าต่อไปเป็น 99 ปี เมื่อหมดระยะเวลา พื้นที่ที่ปนเปื้อนมลพิษขนาดใหญ่ขนาดนี้ ประเทศไทยจะทำอย่างไรกับพื้นที่นี้ ตรงนี้ไม่มีใครเคยพูดถึง”
ขณะที่กัญจน์ ทัตติยกุล จากเครือข่ายเปลี่ยนตะวันออก มองว่าเรื่องที่ดินกับชาตินิยมนั้น ในส่วนของชาวบ้านเห็นว่าเรื่องการใช้ที่ดินเกี่ยวเนื่องกับการใช้ทรัพยากร เรามองถึงสิทธิที่จะดำรงอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีมากกว่า จุดนี้เป็นปัจจัยหลักที่ชาวบ้านคำนึง เพราะเรามองเห็นการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งก่อให้เกิดปัญหามากมาย เช่น การเข้าถึงแหล่งน้ำ ตอนนี้กลายเป็นว่าแหล่งน้ำที่ภาคเกษตรหรือชุมชนจะใช้ถูกผันไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและยิ่งมีปัญหาหนักขึ้น ช่วงสองสามปีมานี้ที่มีวิกฤตภัยแล้ง ภาคตะวันออกกระทบหนักมาก แม้กระทั่งน้ำที่จะนำมาผลิตน้ำประปาก็ยังหาไม่ได้
ความเห็นจากภาคส่วนต่างๆเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นช่องโหว่ของ ร่าง พรบ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เท่านั้น ซึ่งรัฐบาลควรจะเปิดใจฟังและให้โอกาสประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจบ้าง เพราะเน้นกำไรระยะสั้น โดยไม่คิดถึงผลระยะยาว นั้นผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักสุด คือ ประชาชนคนไทยที่นอกจากสูญเสียพื้นที่ทำกินแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเป็นเหยื่ออุตสาหกรรมที่ยากต่อการฟื้นฟูด้วย
ทั้งนี้ในวันที่ 6 พฤษภาคม มีอีกเวทีที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว คือ เวทีเสวนาเรื่องส่องโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก จัด ณ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม โดยจะมีดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมเสวนาในประเด็นดังกล่าวด้วย