เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2560 ที่ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมจัดเวทีเสวนา “ส่องโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” โดยดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นักเศรษฐศาสตร์ด้านการเงินและตลาดทุน กล่าวว่า ประเทศไทยนั้นจะคิดจะพัฒนาทำโครงการอะไรก็ดัง อย่างกรณีการพัฒนาเป็นประเทศปริโตเคมีไทยก็ติดอันดับ 5 ของเอเชีย ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่แล้วไทยก็ก้าวผ่านมาได้ และก็ไม่เคยพัฒนาอะไรเลยนานแล้ว หลังจากโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ภาค 1 เสร็จสิ้นไป กระทั่งปัจจุบันมีคนถามว่า ในอีก 20 ปี ข้างหน้าประเทศไทยจะเอาอะไรกิน เพราะตัวเลขการส่งออกติดลบราว 20% เป็นสัญญาณอะไร ดังนั้นไทยจึงต้องคิดวางแผนไว้แล้วเพราะบุญเก่ากำลังจะหมดไป รัฐบาลจึงได้วางแผน EEC ภาค 2 เพราะเคยเป็นแหล่งรายได้จากอุตสาหกรรมหลายแห่งที่สร้างรายได้ถึง 40 % ของประเทศ
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า EEC ครั้งใหม่นี้จะเน้นที่การจัดการด้าน Eastern Seaboard หรือพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อให้เป็นเมืองที่โชติช่วงชัชวาล ประกอบด้วย 1 โครงการสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเดิมกองทัพเรือเก็บไว้เพื่อความมั่นคง ตอนนี้ถึงเวลาแล้วเอามาใช้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ เรียกว่า มหานครแห่งการบิน คือ พัฒนารอบข้างสนามบินให้เป็นสิ่งต่างๆทีมีประโยชน์ หวังจะพลิกโฉมทะเลตะวันออกให้พัฒนาใหม่ 2 แหลมฉบังโฉมใหม่ จากสมัยเก่าส่งออกและนำเข้า เราได้นำประสบการณ์เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ และเมืองบาเซโลน่า ประเทศเสปน ฯลฯ ใช้ท่าเรือเพื่อเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญของภูมิภาค โดยไทยจะเป็นแบบนั้น เป็นศูนย์กระจายสินค้าไปสู่อินโดจีน จีนตอนใต้ และจีนตะวันตก พร้อมจะพัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยวด้วย
ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า 3 คือ โครงการพัฒนาท่าเรือจุกเสม็ดที่สัตหีบ จังหวัดชลบุรีจะเป็นท่าเรือเฟอรี่ ไปที่ปราณบุรี จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ เพื่อลดระยะเวลาการเดินทางทางของคนภาคตะวันออกไปสู่ภาคใต้ 4 การสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ที่จะเชื่อมระยอง และท่าเรือแหลมฉบังเข้ากับกรุงเทพ และภาคส่วนอื่น ๆ ของประเทศ 5 การสร้างทางหลวงต่าง ๆ ในส่วนที่ยังขาดหายไปให้ครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมกันนี้ รัฐจะดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้กับประเทศ ได้เพราะไทยเองแถบนั้นก็มีพัทยาเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวอยู่แล้ว
“พื้นที่ประมาณ 30 x 50 กิโลเมตร รอบ ๆ บริเวณสนามบินอู่ตะเภาและท่าเรือจุกเสม็ด โดยปัจจุบัน ยังมีพื้นที่เหลืออีกประมาณ 30,000 ไร่ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในภาคตะวันออก ที่สามารถรองรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ซึ่งเราจะชักชวนให้มาลงทุน เช่น ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนเครื่องบิน การซ่อมเครื่องบิน การพัฒนาบุคลากรด้านการบิน รอบ ๆ สนามบินอู่ตะเภามีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นสูง ยานยนต์แห่งอนาคต หุ่นยนต์ และมีดิจิตอล โลจิสติกส์และการขนส่ง รวมไปถึงสามารถใช้จัดสรรพื้นที่สำหรับนักลงทุนชาวจีน ชาวเกาหลีใต้ ที่ต้องการเข้ามาลงทุนและอยู่ในพื้นที่เดียวกัน สร้างเมืองวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นศูนย์กลางในการวิจัย พัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ตลอดจนการประกาศพื้นที่เขตประกอบการเสรี เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการค้า การผลิต และการลงทุน เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตและกระจายสินค้าให้กับอาเซียนต่อไป เบื้องต้นเราขีดเส้น 3 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง)จะมีการตั้งกรรมการขึ้นมามีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีสำนักงาน ระหว่างรอกฎหมายฉบับนี้ กว่าจะเสร็จปลายปี และเป้าหมายสำคัญ คือ One stop service อำนวยความสุดวกแก่นักลงทุน สำนักงาน EEC จะมีอำนาจในการดูแล ดอกผลบางส่วนจะเก็บเข้าสู่กองทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่รอบ ๆ โดยเฉพาะ สาธารณูปโภคต่าง ๆ ซึ่งตอนนี้กฎหมายอยู่ในระหว่างแก้ไข เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว 2 ครั้งกำลังตีกลับไปที่กฤษฎีกา แล้วจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนเข้า ครม.อีกครั้ง” ดร.กอบศักดิ์กล่าว
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวต่อว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมที่คนห่วง กฎหมายฉบับนี้มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมไม่ต่างกัน เข้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เช่นเดิม แต่ขออย่างเดียวว่า เราขอให้ กก. วล.ทำงานให้เสร็จภายใน 1 ปี อย่าแช่ไว้ 5 ปี ถ้าเราเสียเวลาทำแบบประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) เราจะไม่ทัน ทั้งนี้ยังมีอีกเรื่องที่คนกังวลกันมาก คือ มีคนพูดว่าให้ต่างชาติเช่า 99 ปี นั้นไม่เป็นความจริง ในกฎหมายไม่ได้เขียนและนายกฯ รับรู้แล้ว และไม่เพิ่มเวลาในการเช่าแน่นอน หมายถึงยึดกฎหมายตามพระราชบัญญัติ (พรบ.) การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมฉบับเดิม คือ เช่าไม่เกิน 50 ปี แต่เมื่อสิ้นสุดสัญญานั้น อาจจะเพิ่มได้ แต่ไม่ถึง 99 ปี ส่วนอำนาจอนุมัติ อนุญาตพื้นที่อนุรักษ์ หรือเพื่อทำอุตสาหกรรมนั้นยืนยันว่า อำนาจดังกล่าวไม่ครอบคลุมพื้นที่อนุรักษ์ แต่จะมีผลแค่พื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเท่านั้น
ด้าน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ค่อนข้างคุยกันยากกรณี EEC แต่จริง ๆ แล้วประเทศไทยทุกฝ่ายคุยกันได้ ประเด็นคือ อยากคุยกันว่า แผนงานของรัฐบาลกับกติกาตามกฎหมายค่อนข้างต่างกัน ตอนนี้รัฐยอมรับว่ามีอุปสรรคและกำลังแก้ไข ถามว่าถ้าแก้แล้วจะอยู่ภายใต้กติกาไหน จะเป็นกติกาเดิมหรือไม่ เป็นธรรมเพียงใดไม่มีใครตอบได้ ตอนนี้ตนเองยังไม่ได้อ่านร่างกฎหมายรอบ 2 และประชาชนหลายคนก็ยังไม่เห็น แสดงว่าข้อมูลรัฐยังไม่โปร่งใส แผนงานที่รัฐนำเสนอคือ มุ่งเน้นแผนแต่ไม่มีใครกล้ายืนยันว่าถ้ารัฐบาลชุดใหม่เกิดขึ้น แผนจะเปลี่ยนหรือไม่กฎหมายที่พูดคุยกันจะเป็นอย่างไร
“ผมคอมเม้นท์ในกติกา คือเปลี่ยนจากรัฐบาลเก่าเป็นรัฐบาลใหม่ มันอยู่ภายใต้กติกาที่ดีพอไหม เป็นธรรมไหม เราไม่ได้เป็นห่วงว่า รัฐบาลจะทำอย่างไร ท่านเคยพูดแบบนี้ แต่ถ้า 5 ปีต่อไปข้างหน้าแล้ว ไม่ใช่ท่านล่ะ อำนาจที่มีนั้นจะเป็นอำนาจที่ยุติธรรมไหม เราอยากให้มองแง่มุมของคนไม่ใช่รัฐบาลปัจจุบัน ประเด็นกฎหมายที่ผมเป็นห่วงนั้นมีอะไรบ้าง ผมจะบอกว่ายังไม่เห็นตัวร่าง ผมไม่ได้ดู เลยอ้างอิงร่างเดิม มี 4 ประเด็น คือ 1 มี EIA ที่ปรับแล้วรอบหนึ่ง ยังมี EIA อยู่ แต่มีคณะกรรมการชุดพิเศษที่ตั้งโดย กก.วล ที่ผมเป็นห่วง คือ กก.วล. นี้ เคยเสนอว่า ให้มาบตาพุดไปต่อ แต่สุดท้ายศาลปกครองตัดสินแพ้คดี ส่วนเรื่องแก้ภายใน 5 ปีนั้นไม่น่าจะตรงกับข้อเท็จจริง ประเด็นที่ 2 เรื่องผังเมือง คือ ร่างแรกนั้นโอเค แต่ในร่างที่ 2 นั้นผมไม่โอเค เรื่องการยกเลิกผังเมืองแล้วเอาผังใช้ที่ดินของคณะกรรมการ EEC มาใช้แทน ประเด็นที่ 3 คือ การให้อำนาจมาเป็นศูนย์เดียว คือ ผมขอพูดกว้าง ๆ เรื่องการให้ใช้พื้นที่อนุรักษ์ เช่น เขตห้ามล่า เขตอุทยานแห่งชาติ ถ้ารวมมาอยู่ในอำนาจของสำนักงาน EEC ผมไม่เห็นด้วย ประเด็นที่ 4 ที่ว่า 50 ปี ให้ยกเลิกมาตรา 5 ใน พรบ.การเช่าที่ดินเพื่อพาณิชย์ฯ มันไม่ใช่แล้ว เพราะมันยกเลิก เราต้องรอดูว่า ร่างออกมาจะมีคำนี้หรือไม่” ดร.เดชรัต กล่าว
ดร.เดชรัต กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ทางเลือกและทางออกในมุมมองส่วนตัวขอย้ำว่ามี 6 ข้อได้แก่ 1 ตะวันออกมีบาดแผลจากการพัฒนา ดังนั้นจะประกาศเขตคุ้มครองพิเศษด้านสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม เช่น ป่าไม้ ป่าชายเลน ที่ดิน แหล่งวัฒนธรรม ดั้งเดิม เราจะไม่ทำให้เฉียด ให้ทำลาย อยากให้รัฐบาลทำข้อนี้ข้อแรก ถ้าทำได้ กระแสต้านจะคลายไปได้มาก ให้ประกาศเลยว่า เขตอนุรักษ์ตรงไหนบ้าง และโครงการ EEC จะไม่ไปแตะ นี่คือทางออกเร่งด่วน 2 คือ มองเรื่องการศึกษาและโอกาส ส่วนนี้จากประสบการณ์ไปสิงคโปร์ มองว่าสิงคโปร์เป็นประเทศน่าอยู่น้อย แต่คนไปเพราะคนสิงคโปร์มีการศึกษาและมีโอกาสในการพัฒนาตนเอง คนตะวันออกต้องการโอกาสเช่นนั้น การศึกษาคือเรื่องสำคัญและการเผยข้อมูลให้คนตะวันออกเข้าใจ ไปศึกษาโครงการชัด ๆ คือ โอกาสและพวกเขามีสิทธิ์เลือก ซึ่งศักยภาพของสิงคโปร์เป็นแบบนั้น 3 การเคลื่อนย้ายคนมีความสามารถพิเศษ จะเคลื่อนย้ายอย่างไร อาชีพอะไรก็ตามที่มีความสามารถท้าทาย แข่งขันสูงและเป็นต้นทุนของรัฐ เช่น นักวิจัยจากภาครัฐสู่อุตสาหกรรมระดับชาติหรือที่เรียกว่า Talent mobility อยากให้เห็นว่า ในเศรษฐกิจพิเศษมี Talent Mobility อย่างไร รัฐบาลจะวางแผนอย่างไรบ้างต่อคนกลุ่มนี้ 4 เราอยากให้เมืองอุตสาหกรรมพิเศษ คำนี้ ถ้าเทียบไทยกับสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์มีแผนบูรณาการวัฒนธรรมลงตัว
“เขาจัดให้คนจีน คนมาเลย์ อยู่ในโซนต่าง ๆ ที่ผสมกัน มีความสำเร็จในภาพรวมแต่ไม่สำเร็จบาง แต่จัดการได้ แต่ถามว่าแล้วไทยจะเอาพัทยามาโฆษณา เพื่อทำ EEC เหรอ มันอาจจะไม่ใช่ เพราะพัทยาไม่ได้มีการบูรณาการ คำว่าบูรณาการต้องให้โอกาสคนหรือบุคลากรในประเทศได้เลือกว่าจะทำอะไรบ้าง บางคนยอมเดินตามแบบท่องเที่ยว บางเดินทางอุตสาหกรรม บางคนเลือกอาชีพเดิม แบบนี้คือ ต้องให้คนเลือกให้เต็มที่แล้วบูรณาการให้ได้ ให้อยู่อย่างเป็นกลุ่มก้อน” ดร.เดชรัต กล่าว
ดร.เดชรัตน์กล่าวว่า 5 ฐานการวิจัย ประเทศไทยต้องการฐานการวิจัย ขณะนี้ไม่เห็นในร่าง พรบ. ว่าอะไรบ้างที่ให้คนลงทุน แล้วมีฐานวิจัยมารองรับ ดังนั้นจะทำให้เกิดการวิจัยคิดว่า ก่อนประเทศไทยเปิดพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ต้องเตรียมเรื่องนี้ก่อน และ 6 คือ เรื่อง Open Government คือ ความโปร่งใสของรัฐบาล ที่เป็น one stop service ต้องไม่ใช่ One Stop Service เพื่อนักลงทุนฝ่ายเดียว แต่ต้องเพื่อหรือสำหรับประชาชนทุกคนด้วย เช่น เปิดกว้าง ให้ได้รับข้อมูลเรื่องต่างๆที่รัฐบาลคิดและคุยกับนักลงทุน ให้คนไทยรู้ว่า นักลงทุนเข้ามาทำอะไรบ้าง ให้มีความโปร่งใสกับทุกฝ่าย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปี 2560 นี้ มาตรา 77 เขียนไว้โดยสรุปว่าจะออกกฎหมายใหม่ใดได้ต้องเปิดเผยข้อมูลร่างกฎหมายอย่างชัดเจนและต้องผ่านความคิดเห็นจากประชาชน
ขณะที่นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า EEC ค่อนข้างเป็นโครงการใหญ่แต่พื้นที่ตะวันออกนั้น เป็นที่ยอมรับว่า การลงทุนด้านที่ดินนั้นขณะนี้ ที่ดินใน3จังหวัดที่รัฐบาลวางแผนสร้าง EEC มีราคาแพงมาก ส่วนตัวห่วงว่าจะพัฒนายาก ดังนั้นก่อนจะข้ามไปเรื่องการสร้าง EEC อยากให้มองว่า พัฒนาสาธารณูปโภคสำหรับประชากรในตะวันออกก่อนดีกว่า เพราะจากอุตสาหกรรมยุคก่อนนั้น ยังทิ้งปัญหาไว้มากมาย ประเด็นคือ หลังจากตะวันออกเป็นอุตสาหกรรมนั้น มีประชากรแฝงราว 1.5 ล้านคน มีประชากรในพื้นที่เอง ภูมิลำเนาเดิม 1.5 ล้านคน รวมแล้วมีคนอยู่ 3 ล้านคน Eastern Seaboard ยุคแรก ๆ ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และเอกชนรายอื่นแย่งน้ำกันใช้มาก กลัวว่าถ้าเกิดภาค 2 จะแย่งน้ำหนักกว่าเดิม ดังนั้นควรจะคิดเรื่องนี้ก่อน
“นอกจากเรื่องแย่งน้ำกันช่วงแล้งแล้ว ปัญหาที่ตามมาหลังจากอุตสาหกรรม คือ ถนนสัญจร ถึงแม้มีมอเตอร์เวย์ผ่านชลบุรีไประยองก็ตาม แต่ไม่ได้อำนวยความสะดวกมากนัก คือ ถนนต่าง ๆ คนวิ่งรถมั่วไปหมด รถคันเล็ก คันใหญ่ก็ใช้ถนนกัน ที่เราใช้กันทุกวันนี้ นอกจากในนิคมอุตสาหกรรมแล้ว เรารู้ว่า การเติบโตของเมือง ทำให้เกิดการใช้ถนนแบบทับซ้อนรถบรรทุก รถยนต์ รถเทรลเลอร์ รถมอเตอร์ไซต์ ก็เกิดปัญหา ส่งผลต่อความปลอดภัย ถ้าเราจะผลักดัน เราต้องมองเรื่องนี้ดี ๆ ครับ ว่าถ้าโตอีกเป็นเมืองใหม่อีก การสัญจรจะเป็นยังไง” สินค้าต่าง ๆ ใช้ทางคู่ขนานเสมอ เราไม่มีแผนแก้ไขเลย EEC เป็นโครงการที่ดี แต่ต้องมีการมองอย่างอื่นด้วย ให้เอกชนเข้ามาช่วยบ้าง เรื่องการพัฒนาเมือง พัฒนาชุมชน เราต้องดูด้วย ว่าเราจะทำยังไง EEC เป็นอุตสาหกรรม 4.0 ก็จริง คือการยกระดับจริง แต่เราต้องดูบุคลากรด้วย” นายมีศักดิ์กล่าว
นายมีศักดิ์ กล่าวว่า จะให้ดีควรนำแนวคิด Smart city มาใช้ เพื่อการผลักดันเศรษฐกิจโดยคนในประเทศ หมายถึงประเทศไทยไม่ได้ต้องการเมืองใหม่ แต่เราต้องมีเมืองที่สร้างความมั่นคง เช่น ฟิลิปปินส์ GDP เล็กกว่าไทย แต่เขามี Smart City แล้ว คือ มีการแบ่งเขตการทำงาน พัฒนาครบวงจร และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทาง การคมนาคม ฯลฯ ทำให้มีศักยภาพในการแข่งขันสูง ประเทศดังกล่าวมีโครงการจากเอกชนจับมือกับรัฐบาลพัฒนาความร่วมมือกันแล้ว ซึ่งช่วยให้ฟิลิปปินส์เติบโตและมีเสน่ห์ มีระเบียบพอสมควร”