เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 เวลา 9.00 น. นายนิกรเดช พลางกูร ผู้อำนวยการกองเศรษฐสัมพันธ์และความร่วมมือ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมคณะ ได้เข้าพูดคุยกับกลุ่มรักษ์เชียงของ ณ โฮงเฮียนน้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย กรณีโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์แม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง โดยกล่าวว่า กระทรวงต่างประเทศเห็นว่า จีนมีนโยบายในการเดินหน้าเป็นแบบแผนและขั้นตอน เราดูที่นโยบาย One Belt One Road ผ่าน 65 ประเทศ เชื่อมเอเชียสู่ยุโรปและเอมริกา ลงล่างทางเรือ เขาจัดการทางทะเลจีนใต้ มีแบบแผนที่ค่อนข้างชัดเจน ในฐานะกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศอาจดูเหมือนไม่เกี่ยวกับไทย พาดอยู่เหนือประเทศไทย แล้วมันจะส่งผลกระทบอย่างไรกับไทย ทั้งประโยชน์และเสียประโยชน์ การเดินหน้าด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ การเดินหน้าด้วยความตกลงที่เขียนบนกระดาษในปี พ.ศ. 2546-2547 ต้องได้รับการทบทวน การจะทบทวนอย่างไรต้องมีการสร้างยุทธศาสตร์ขึ้นมาใหม่ ชาวบ้านและคนท้องถิ่นสำคัญที่สุดและต้องได้รับการถ่ายทอดขึ้นมา ต้องแยกระหว่างสิ่งที่เราคิดและการเจรจากับจีน ข้อแม้ที่เราสามารถจะแย้งกับจีนได้ คือ เรื่องข้อพิพาทกับลาว และทำอะไรให้แล้วเสร็จก่อนจะดำเนินอะไรในแม่น้ำโขง และมีปัญหาต่อเนื่องมากว่า 60 ปีแล้ว และคงไม่แล้วเสร็จในปีหนึ่งสองปี แต่เราจะสามารถหยุดการทำลายมากไปกว่านี้ได้ไหม โดยอาจมีประชาพิจารณ์ออกมา ซึ่งนายกพูดทางสื่ออกมาแล้ว และเหมือนจะเป็นการพูดสื่อทางอ้อมถึงจีน ซึ่งกำหนดการประมวลผลคือต้นปีหน้า การดินทางสำรวจไปและกลับของจีนในขณะนี้ไม่มีผลกระทบต่อร่องน้ำ ประเด็นต้องแย้ง คือต้องทำให้มั่นใจว่า แค่สำรวจจริง ๆ กระทรวงการต่างประเทศกำลังทำการศึกษาว่าถ้ามีเรือ 500 ตันวิ่ง จะคุ้มค่าหรือไม่กับผลกระทบทางลบต่อสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ตอนนี้มีการมองมุมเดียวคือ Logistics ไม่ได้มองหลายด้าน ๆ เป็นการตอบเพียงโจทย์คือ เป็นแม่น้ำนานาชาติ สำหรับทางเลือกที่ 3 เรือขนาด 400 ตัน ก็สามารถวิ่งได้ ปล่อยน้ำให้มีระบบ และประเทศท้ายน้ำก็มีประโยชน์ หรือการลดขนาดเรือ ทุกหน่วยมุ่งไปที่จีนเสนอคือ เรือขนาด 500 ตันเท่านั้น กระทรวงคมนาคม กรมเจ้าท่า ขอให้รอท่าทีของทุกฝ่าย
นายนิกรเดชกล่าวว่า สำหรับข้อตกลงในประเทศสามารถที่จะหยุดได้ เอามติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติต้องทำการตกลงเพื่อที่ว่าคณะกรรมการประสานการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (JCCCN) ต้องทำอย่างไร มีข้อตกลงบนเรือว่าจะมีฝ่ายเรือในไทย จีน ลาว ถ้าสมมุติว่าเราบอกว่า มีหิน 1 ก้อนสำคัญมาก ขอให้หยุดได้ การมาลงพื้นที่ของพวกเราคือ เพื่อมาได้เห็นสภาพพื้นที่และรับฟังข้อมูลจากกลุ่มท้องถิ่น เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการเจรจาต่อไป
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า เรื่องการเดินเรือในปัจจุบันมันสมเหตุผลแล้ว เรือขนาด 300 – 400 ตันจากจีนสามารถลงมาถึงเชียงแสนแล้ว และเหมาะสมที่สุดแล้ว ถ้าเรือ 500 ตันผ่านไปถึงตอนล่าง ผลประโยชน์จะเป็นอย่างไร พ่อค้าจะได้ประโยชน์อะไร ถนนเชื่อมจากจีนลงมาก็มีถนน R3A ต้องใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ รถไฟก็กำลังจะมา ต้องลดขนาดเรือลงมา คนลาวเขาใช้เรือ 200 ตันก็ได้ แต่จีนอยากได้ 500 ตัน รัฐไม่ได้ไปต่อต้านโครงการนี้ รัฐจะบอกว่า โครงการนี้ชาวบ้านไม่เห็นด้วยอย่างไร จะต้องอธิบายเป็นวิชาการ เช่นการศึกษาว่าการเดินเรือ 15 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร แต่โผล่มาขยับระยะที่ 2 และสำรวจออกแบบเลย มันควรจะมีการศึกษาเศรษฐฯ นิเวศจริง ๆ แต่รัฐและครม.ไปอนุมัติหมด ไม่ใช่ชาวบ้านไม่รู้ แต่การสำรวจมันคือขั้นตอนสุดท้ายแล้ว จะเอา 3 อย่างไปให้ครม.อนุมัติ ที่จริงมันลึกกว่านั้น เพราะชาวบ้านเป็นห่วง เป็นเรื่องที่ลากยาว กระบวนการที่ทำนี้ง่ายเกินไป เสียใจที่สุดคือ เราเปลือยประเทศให้จีนรู้หมดแล้ว เป็นประเด็นทีอ่อนไหวมาก เป็นเรื่องประเทศชาติ เสียมากที่สุด รัฐบาลควรจะต้องต่อรอง ต้องเอาความคิดเห็นของชาวบ้านขึ้นมานำและวิชาการมาช่วย แต่การใช้ข้อมูลแค่ ชลศาสตร์ ธรณีวิทยา มาใช้เป็นฐานการตัดสินใจ เรื่องนี้เป็นเรื่องของแม่น้ำนานาชาติ ไม่ใช่เรื่องลำห้วย เป็นเรื่องใหญ่
ในช่วงบ่าย เวลา 13.30 น. คณะผู้แทน บริษัททีม คอนซัลแตนท์ ซึ่งบริษัท CCCC Second Habor Consultant ของจีน มอบหมายให้เตรียมว่างจ้างให้ทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ได้เข้าพบกลุ่มรักษ์เชียงของ โดย รศ.ดร. อรวรรณ ศิริรัตน์พิริยะ. สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญกำกับด้านการศึกษา EIA ของ บริษัททีมคอนซัลแตนท์ กล่าวว่ามีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับลุ่มน้ำโขงหลายอย่าง และไม่มีความลับใดๆ แต่ว่าเป็นเอกสารที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการศึกษา ยังไม่ใช่เอกสารสมบูรณ์ แต่อยากปรึกษากับกลุ่มว่าจะสื่อสารต่อสาธารณะอย่างไร ยืนยันว่าทีมวิชาการมีความเป็นกลางและจะสื่อสาร จะวิเคราะห์ออกมาอย่างดี เราทำหน้าที่เหมือนผู้สื่อสารภายใต้การแสวงหาความจริงไม่มีการปกปิดระหว่างกัน
รศ.ดร.อรวรรณกล่าวว่ามีช่วงหนึ่งที่ครูตี๋ (นิวัฒน์ ร้อยแก้ว) ห่วงเรื่องเส้นเขตแดนนั้น มีข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงแล้ว ว่าความเข้าใจชายแดนไทยลาวเป็นยังไง และมีการกล่าวถึงปัญหา เรื่องเขตแดนความไม่ชัดเจนที่มีรายละเอียด ซึ่งเราเอาเอกสารจากอาจารย์ นักวิชาการรวมมาให้ดู และเราเอาเอกสารจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) มาให้ดูว่าเขาคิดยังไง ในการระเบิดแก่งปรับปรุงร่องน้ำครั้งก่อนก็เคยมีทีมเราร่วมศึกษาด้วย และบางคนยังทำงานอยู่ กรณีการศึกษา EIA มีหลายคนคิดมากมาย คิดยังไง เรายืนยันว่า EIA และจะใช้กระบวนการตามกฎหมายไทยและใช้ประกาศสำนักนายกปี พศ.2548 เป็นสำคัญ
รศ.ดร. อรวรรณ กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้กรณีผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย จะดูว่าจะเป็นคนกลุ่มใด ทำหน้าที่เป็นคนกลาง ทำหน้าที่สื่อสาร มาสังเคราะห์วิเคราะห์มาส่งต่อให้กรมเจ้าท่าและรัฐบาล เพื่อพิจารณา และเสนอต่อหน่วยงานและ 9 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ส่วนกลาง ฝ่ายความมั่นคง และส่วนท้องถิ่น การศึกษาเราจะเอามาตรฐานโลก ซึ่งแผนการทำงานจะทำข้อมูลให้กับกรมเจ้าท่าและจะมีการเสนอแผนงานอย่างไร และรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย บริษัททีมจะใช้คนในพื้นที่ จะเอาคนในเชียงราย อาจจะเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อาจจะเป็นคนจากชมรมมานั่งคุยกัน โดยจะใช้เวลาศึกษาประมาณ10 เดือน จะมีการจัดทำรายงานเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทย รายงานจีน และฝ่ายไทย ทั้งนี้เมื่อเก็บข้อมูลพื้นฐานแล้ว จะมีการส่งให้บริษัทของจีน ซึ่งเป็นทีมหลักในการประเมินผลกระทบทั้งหมด ก่อนที่จะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรี โดยในจะมีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเฉพาะในส่วนของ รายงาน EIA อีกครั้ง
“โชคดีแล้วที่เราได้เห็น ได้มีส่วนศึกษา อย่างลาว พม่า เขาไม่เห็นร้องขออะไรเลย ดังนั้นให้วางใจ ว่า ทางบริษัททีมเรา จะถามคนมีส่วนได้ ส่วนเสียมาร่วมดูด้วยกัน แต่จะมีผู้เชี่ยวชาญจากจีนมาเป็นผู้ประเมิน เราแค่ทำหน้าที่นำเสนอ ถ้าใครอยากจะถาม อยากจะท้วงก็ทำได้ ไปถามจากจังหวัดได้เลย” รศ.ดร. อรวรรณ กล่าว
ทางด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า รายละเอียดของการศึกษานั้นเข้าใจและทราบดี แต่ขอตั้งคำถามว่า หากผลออกมาแล้วมันมีจุดข้อมูลที่ไม่ใช่ ไม่เหมาะสม แล้วผู้แทนฝ่ายไทย ใครบ้างจะมีบทบาททักท้วง จะเป็นกรมเจ้าท่า หรือใครที่จะเป็นเป็นผู้ทักท้วงในไทย และใครจะทักท้วงในระหว่างประเทศ ถ้าคณะรัฐมนตรี อนุมัติตามรายงานผลกระทบที่ได้จัดทำมาแล้ว อำนาจและสิทธิในการทักท้วงจะอยู่ตรงไหน ?
นายนิวัฒน์ กล่าว ถึงอย่างไรส่วนตัวอยากเสนอให้มีการทบทวนข้อมูลที่ทางฝ่ายวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมได้ศึกษามาด้วย และอยากเสนอให้บริษัททีมปรึกษา คิดเห็นคำนวณเรื่อง เศรษฐศาสตร์นิเวศ ตลิ่งพัง พันธุ์ปลา เกษตร ข้อมูลเรื่องนิเวศทุกอย่างให้รอบคอบ พร้อมการประเมินทางการเดินเรือ เนื่องจากตอนนี้มีแต่จีนและลาว ที่มีสิทธิ์ในการเดินเรือบนแม่น้ำโขง ส่วนคนเรือท้องถิ่นไทย ไม่ได้ประโยชน์ อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ ก่อนการตัดสินใจระเบิดควรเอาข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินเปรียบเทียบกันระหว่างทางรถและทางเรือ ว่าทางใดคุ้มค่ากว่ากัน ไทยยอมแล้วไทยจะได้อะไรที่คุ้มค่า
ขณะที่นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ ทางกลุ่มได้เรียกร้อง ท้วงติงกับบริษัททีมที่ปรึกษาเช่นเดิมว่า ให้กลับไปทบทวนความเสียหาย ผลกระทบจากโครงการระเบิดแก่งครั้งก่อนให้ได้ก่อน แล้วเอาข้อมูลมาเผยแพร่สู่สาธารณะให้คนทราบความเคลื่อนไหว และในส่วนของการเก็บข้อมูลรอบใหม่ ให้บริษัทดำเนินการอย่างโปร่งใส และเปิดช่องให้คนท้องถิ่น คนคัดค้านได้รับทราบอย่างเท่ากัน เพราะเรื่องข้อมูลนั้นสำคัญมากที่คนทุกประเทศที่ใช้น้ำโขงต้องรับรู้