เมื่อวันที่10 พฤษภาคม 2560 ที่โรงแรมทีเคพาเลซ กรุงเทพฯ เครือข่ายด้านแรงงานได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “วันความปลอดภัยแห่งชาติ อันตรายจากแร่ใยหิน ทำไมต้องเลิกใช้ งดนำเข้า” โดยมีประชาชนผู้ใช้แรงงานจากภาคีเครือข่ายต่างๆทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 200 คน
ทั้งนี้ในช่วงเช้าก่อนการเปิดเวทีเสวนานั้นทางเครือข่ายได้ร่วมร้องเพลง คิดถึงตุ๊กตา (เคเดอร์) ซึ่งแต่งโดยวิชัย นราไพบูลย์ อดีตสมาชิกวงอินโดจีน เพื่อไว้อาลัยแก่เหยื่อแรงงานจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตา “เคเดอร์” จังหวัดนครปฐม เมื่อเย็นวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 ที่ คร่าชีวิตแรงงาน 188 คน บาด เจ็บถึง 469 คน เป็นจุดเริ่มต้นที่รัฐบาลต้องประกาศให้ วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” เพื่อย้ำเตือนกระตุ้นให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงาน
นางสมบุญ ศรีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปีนี้เห็นกระทรวงแรงงานและอีกหลายกระทรวง ทั้งกระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เดินหน้าต่อนโยบาย “Safety Thailand” เพื่อขับเคลื่อนดูแลความปลอดภัยของแรงงานทุกสาขาอาชีพ ตั้งแต่เดินทางออกจากที่พักจนถึงสถานที่ทำงาน และทุกสถานที่ทำงานต้องมีมาตรการความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน ทั้งอัคคีภัยและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ก็ยินดี แต่ในทางปฏิบัติแล้วนั้น นโยบายดังกล่าวไม่ได้เป็นการป้องกันเหตุกรณีการเจ็บป่วยและอันตรายจากการทำงานได้100% เนื่องจาก สถานการณ์ของแรงงานขณะนี้ อยู่ในจุดเสี่ยงทั้งแง่ของการป้องกันความปลอดภัยที่ไร้มาตรฐานและการดูแลหลังเจ็บป่วย ได้รับอันตรายจากการทำงาน โดยเฉพาะแรงงานที่ป่วยจากฝุ่น ทั้งแบบเรื้อรังและฉับพลัน แต่สำหรับเรื่องแร่ใยหินเพิ่งเข้าร่วมกับเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศ ในปี 2554 โดยทำหน้าที่ประสานเครือข่ายทั้งหมดที่มีกว่า 50 กลุ่ม เพื่อขับเคลื่อนให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน โดยการติดตามความคืบหน้าของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีสังคมไทยไร้แร่ใยหินในปี 2554
“ภาครัฐต้องยืนอยู่บนความถูกต้องและไม่ตกอยู่ในอิทธิพลใดๆ และต้องคุ้มครองสุขภาพประชาชนเป็นสำคัญ โดยที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขมีการประชุมหลายครั้งและทราบว่า แร่ใยหินอันตรายมาโดยตลอด เช่น เป็นสารก่อมะเร็งตามประกาศขององค์การอนามัยโลก และยังเห็นว่า ปัญหาที่ปัจจุบันยังยกเลิกแร่ใยหินไม่ได้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้เร่งดำเนินงานอย่างจริงจังเพื่อออกประกาศยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทยโดยเร็ว” นางสมบุญ กล่าว
ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ กล่าวด้วยว่า ปัญหาหลักขณะนี้ คือ คนป่วยจากแร่ใยหินนั้น จะมีปัญหาด้านกองทุนทดแทนที่ไม่สามารถขอเงินชดเชยได้ทุกโรค เพราะโดยปกติคนงานจะใช้สิทธิรักษาจากประกันสังคม ซึ่งเป็นสิทธิรักษานอกงาน จึงไม่มีการยื่นเรื่องเข้ากองทุนทดแทนและการวินิจฉัยโรค ปัจจุบัน จริงๆ แล้วคนงานที่จะได้รับการวินิจฉัยโรคต้องไปที่คลินิกโรคจากการทำงานซึ่งต้องยื่นเรื่องกับกองทุนทดแทน ในขณะที่นายจ้างจะพยายามหลบเลี่ยงโดยการให้ลูกจ้างไปรักษาโดยใช้สิทธิประกันสังคมหรือรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแทนคลินิกโรคจากการทำงาน เพื่อลดสถิติการเกิดโรคหรืออุบัติเหตุในการทำงานให้เป็น ศูนย์ zero accident ตามที่กระทรวงแรงงานมีนโยบายจัดประกวด ทำให้โรงงานหลายแห่งปกปิดข้อมูลด้านสุขภาพหรือเลิกจ้างคนงานทันทีหากพบโรค
“24 ปีโรงงานเคเดอร์ แล้วนะ หลายปีของแร่ใยหินแล้วนะ ที่คุยกัน และอีกหลายอย่างที่ลูกจ้างชั้นกรรมกร กสิกร เจอปัญหา ควรได้รับการแก้ไขแล้ว สิทธิ ความปลอดภัยอาชีวอนามัยในการทำงาน และหรือสิทธิหลังได้รับความไม่ปลอดภัยควรแก้ไขใหม่ ซึ่งก่อนหน้นานี้ เคยออกเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปี 2555 แล้วนะ ปีนี้ปี 2560 แล้วต้องคุยกันแล้วว่า ถ้าผิดพลาด ถ้าคนงานในอุตสาหกรรมป่วยจะทำยังไงให้ได้รับสิทธิรักษา ชดเชยเต็มที่ ไม่ใช่มุ่งหวังแค่เรื่องป้องกันความปลอดภัย แล้วเอารางวัลมาตรฐานความปลอดภัยมาล่อ รู้ไหมว่าเวลาเอารางวัลมาล่อพวกทุน พวกโรงงานนั้น ถ้านายจ้างเขาพบคนงานป่วย เขาจะไปซ่อน ไปปกปิดข้อมูล ซึ่งสุดท้ายผลประโยชน์ของการป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงานนั้น จะตกที่นายจ้าง ลูกจ้างก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องเหมือนเดิม จะฟ้องศาลถ้าถึงอุทธรณ์ ฎีกา ก็4-9 ปี อย่างต่ำ แบบนี้ไม่คุ้มค่า ดังนั้นกรณีแร่ใยหิน เนี่ยถ้าหยุดนำเข้าไม่ได้ ก็ต้องคิดว่าจะช่วยเหลือคนงานที่เสี่ยงได้รับพิษแร่ใยหินยังไงบ้าง” ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ กล่าว
ด้าน ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่นิยมใช้แร่ใยหินอยู่ โดยใช้ชนิด ไครโซไทล์ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชั้น 1 หรือสารก่อมะเร็งกลุ่มร้ายแรงที่สุดนั่นเอง ไม่ใช่สารก่อมะเร็งกลุ่มรองอย่างในอดีตอีกแล้ว นอกจากจะก่อมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอดซึ่งมีความจำเพาะกับแร่ใยหินมาก มะเร็งรังไข่ และมะเร็งกล่องเสียงแล้ว ยังมีผลกระทบอื่นๆ ต่อสุขภาพ เช่น โรคปอดอักเสบจากแร่ใยหินหรือแอสเบสโตซิส เกิดจุดหรือก้อนในปอด โรคเยื่อหุ้มปอดผิดปกติ อาทิ มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มปอดหนา เนื้องอกในเยื่อหุ้มปอด
ศ.ดร.นพ.พรชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังกล่าวว่า แร่ใยหินอันตราย เป็นหลักฐานและข้อมูลเชิงประจักษ์ที่องค์กรระดับโลกยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นองค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) องค์การวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) คณะกรรมาธิการอาชีวอนามัยสากล (ICOH) ฯลฯ ซึ่งสำหรับวงการแพทย์และนักวิชาการด้านสุขภาพของไทยได้ทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และต่างประเทศมานานแล้วในการตระหนักถึงอันตรายของแร่ใยหินและพยายามผลักดันให้ยกเลิกการใช้ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรแบนแร่ใยหิน
ศ.ดร.พ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มะเร็งทั่วไปนี่ยังพอรักษาได้ แต่ถ้าเป็นมะเร็งเยื่อเลื่อมนั้นจะอันตรายมาก เพราะเป็นมะเร็งที่อุบัติการณ์ต่ำ แต่รักษายาก การรอดชีวิตมีน้อย ทีนี้จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งเยื่อเลื่อมกว่า 80 % มักมีแร่ใยหินเป็นเหตุหนึ่งในการป่วย และผู้ป่วยที่พบมากที่สุด คือ คนงานก่อสร้าง เช่น ช่างรื้อถอน ช่างตัดกระเบื้อง
“มะเร็งเยื่อเลื่อมได้แก่ มะเร็งเยื่อหุ้มปอด มะเร็งเยื่อบุช่องท้อง เยื่อหุ้มหัวใจเป็นต้น ทีนี้มะเร็งดังกล่าวถ้าป่วย บางรายก็พบประวัติสัมผัสแร่ใยหิน ซึ่งกรณีที่คนทั่วไปสัมผัส เช่น ไม่ใช่แรงงาน แต่ไปยืนดูคนงานกำลังตัดกระเบื้องแล้วได้รับสารพิษ ได้ แต่จะสะสมนานๆ ถึงจะเห็นผลกระทบ แต่กรณีแรงงานบางคนรับเต็มๆ ครับ ซึ่งถ้าป่วยแล้วก็คือ ต้องใช้แพทย์เฉพาะทางรักษา ถ้าจะเบิกจ่ายบางทีก็ยาก เพราะวินิจฉัยซับซ้อนพอสมควร ซึ่งบางรายบางครั้งกว่าผลตรวจจะออกก็ใช้สิทธิเบิกกองทุนทดแทนไม่ได้แล้ว เบิกแค่ประกันสังคมไป” ศ.ดร.พ.สุรศักดิ์ กล่าว
ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการ ประกอบอาชีพ กระทรวงสาธารณะสุข กล่าวว่า สำหรับแรงงานที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากการทำงาน แนะนำว่าถ้ามีประวัติการทำงานในพื้นที่เสี่ยง หรือมีอาชีพที่อาจจะบาดเจ็บ ป่วยได้ง่าย แนะนำว่า โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ทุกจังหวัดมีคลินิกโรคจากการทำงาน ซึ่งแพทย์และบุคลากรก็จะให้ความสำคัญกับการตรวจ วินิจฉัยหลายโรค และโรคอันมีสาเหตุจากแร่ใยหินก็เป็นอีกกลุ่มโรค ที่แพทย์มักจะซักถามประวัติความใกล้ชิด หรือสัมผัส ซึ่งคนงานที่กลัวหรือกังวลว่าจะป่วยนั้น สามารถเข้าไปรักษาได้ที่คลินิกดังกล่าว และเบิกจ่ายจากประกันสังคมได้ ยกเว้น 3จังหวัดในประเทศไทยเท่านั้นที่ไม่มีคลินิกโรคจากการทำงาน เนื่องจากมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จำนวนจำกัด ได้แก่จังหวัด บังกาฬ หนองบัวลำภู และพิษณุโลก ดังนั้นในจังหวัดดังกล่าว หากมีการทำงานในพื้นที่อุตสาหกรรม ที่เสี่ยงจะสร้างโรค สร้างภัยต่อสุขภาพ แนะนำว่าถ้าพบแพทย์ควรไปพบจังหวัดอื่น เนื่องจากการพบแพทย์ทั่วไปบางครั้งไม่สามารถวินิจฉัยได้ละเอียด