Search

คนริมโขงผนึกกำลังประกาศจุดยืนไม่เอาโครงการ “ระเบิดแก่ง” นัดรวมตัวกันที่คอนผีหลงต้านเรือสำรวจจีน

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ที่บริเวณคอนผีหลง ริมแม่น้ำโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ชาวบ้านจากอำเภอเชียงแสน เชียงของและเวียงแก่น รวมทั้งนักอนุรักษ์ราว 150 คน ได้เดินทางมาร่วมแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงซึ่งดำเนินการโดยบริษัทจากประเทศจีน และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสำรวจข้อมูลภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีของไทยอนุมัติให้จีนเข้ามาสำรวจ ซึ่งขณะนี้เรือสำรวจของจีนกำลังมาสำรวจที่คอนผีหลง

ทั้งนี้ชาวบ้านได้ร่วมกันชูป้ายแสดงจุดยืนคัดค้านการระเบิดแก่ง ขณะที่ในช่วงแรกมีฝนตกเล็กน้อย ชาวบ้านได้กางร่มซึ่งมีข้อความ “เฮาฮักน้ำของ”และข้อความ “The MEKONG River is NOT SALE” ทั้งนี้นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของได้อ่านคำประกาศเชียงของ (โขงร่มเย็น) โดยระบุว่า “แม่น้ำโขง แม่ของพวกเราไหลยาว 4,909 กิโลเมตร จากที่ราบสูงธิเบต ผ่านดินแดนยูนนาน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงได้มอบพันธุ์ปลากว่า 850 ชนิด ปริมาณน้ำมหาศาลเพื่อการอุปโภค บริโภคและดินตะกอนอันอุดมที่เหมาะกับเกษตรกรรม และก่อเกิดวัฒนธรรมความเชื่อและเชื่อมโยงผู้คนทั้ง 6 ประเทศให้เป็นพี่น้องเดียวกัน กล่าวได้ว่า ทรัพยากรธรรมชาติอันเกิดจากความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศแม่น้ำโขง เป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจในหลายประเทศในรอบศตวรรษที่ผ่านมา

“พวกเรากลุ่มรักษ์เชียงของ ชาวบ้านริมฝั่งโขงและประชาชนผู้รักแม่น้ำโขงที่มาในวันนี้ คือผู้ที่พึ่งพิงแม่น้ำโขงทั้งด้านอาหาร น้ำอุปโภค มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับแม่น้ำโขงมาหลายรุ่น ในหลายชุมชนพวกเราได้รวมตัวกันมีกิจกรรมและประเพณีเพื่อการอนุรักษ์แม่น้ำโขง 20 ปีที่ผ่านมา พวกเราต่างได้รับผลกระทบจากการพัฒนาแม่น้ำโขงตอนบน การระเบิดเกาะแก่งกว่า 10 แห่ง ในช่วงปี 2543 การสร้างเขื่อนบนต้นแม่น้ำโขงกว่า 6 แห่ง ได้ทำให้การขึ้นลงของน้ำที่ไม่เป็นตามฤดูกาล การลดลงของพันธุ์ปลาและปริมาณปลา การหายไปของ “ไก”ประชาชนที่อยู่ริมฝั่งโขงต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวกันเอง โดยไม่มีกระบวนการช่วยเหลือจากรัฐ

“ต่อมาเมื่อปลายปี 2559 ที่รัฐบาลมีมติเห็นชอบแผนการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำลานซาง-แม่น้ำโขง ปี ค.ศ.2015-2025 และได้มีการอนุญาตให้บริษัท CCCC Second Harbor Consultant ที่ได้ดำเนินการสำรวจสภาพทางธรณีวิทยา เรื่องระดับน้ำ ตลอดระยะทาง 96 กิโลเมตร จำนวน 15 จุด ในเขตประเทศไทย โดยเริ่มสำรวจตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 25560 จนถึงวันนี้ 15 พฤษภาคม 2560 รวมระยะเวลา 24 วันแล้ว โดยกระบวนการสำรวจที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบทางด้านสังคมต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งโขงในบางพื้นที่ เนื่องจากไม่มีการแจ้งข้อมูลข่าวสารล่วงหน้าและกำหนดการในการสำรวจต่อผู้นำชุมชน การลอยเรือขุดเจาะในบางหมู่บ้านได้ส่งผลกระทบต่อการหาปลาของชาวบ้านและได้สร้างความกังวลใจต่อชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง

“พวกเราเห็นว่า การสำรวจแม่น้ำโขงในครั้งนี้จะนำไปสู่การตัดสินใจของระดับรัฐบาลเพื่อจะเปิดทางให้มีการระเบิดเกาะแก่งและขุดลอกสันดอนทรายบนแม่น้ำโขงตลอดระยะทางกว่า 631 กิโลเมตรจากชายแดนจีน-พม่า ถึงเมืองหลวงพระบาง เพื่อเปิดทางให้เรือบรรทุกสินค้าขนาด 500 ตันล่องผ่านได้ตลอดทั้งปีนั้นจะเป็นการทำลายธรรมชาติอย่างรุนแรงที่สุด และจะเป็นการขับไล่คนท้องถิ่นที่พึ่งพาอาศัยอยู่กับแม่น้ำโขงทั้งเรื่องการประมง การใช้น้ำ มีประเพณีและวัฒนธรรมที่ยึดโยงกับแม่น้ำโขงออกไปจนหมดสิ้น แม่น้ำโขงจะกลายเป็นคลองและเป็นเส้นทางการคมนาคมของสินค้าจากจีนเป็นหลัก พวกเราจึงขอประกาศและขอเรียกร้องให้รัฐบาลควรทบทวนต่อโครงการดังกล่าว โดยเสนอว่า

1. รัฐบาลควรจะมีการประเมินผลกระทบทางสังคมสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจจากการระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขงในระยะที่ 1 ที่ดำเนินการผ่านมาสิบกว่าปีแล้ว
2. ควรจะมีการศึกษาเศรษฐศาสตร์ด้านมูลค่าและคุณค่าของนิเวศลุ่มน้ำโขงตลอดลำน้ำโขง 96 กิโลเมตรในเขตพรมแดนไทย-ลาว เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำคัญในกระบวนการตัดสินใจก่อนที่จะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป
3. รัฐควรศึกษาและพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่นถนนสายเอเชีย R3A รีบเร่งพัฒนาการขนส่งทางราง การพัฒนาท่าเรือเชียงแสนให้สามารถรองรับการขนส่งสินค้าได้เต็มศักยภาพมากกว่าการจะทำลายเกาะแก่งแม่น้ำโขง

“สุดท้ายพวกเราขอเสนอ ให้รัฐบาลยกเลิกโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินพานิชย์ เพื่อเป็นการปกป้องวิถีชีวิตของประชาชนท้องถิ่นที่พึ่งพาอาศัยแม่น้ำโขง อาหาร น้ำอุปโภค รายได้ อันเป็นรากฐานสำคัญของการดำรงชีวิต และเพื่อดำรงไว้ซึ่งเกาะแก่ง หาดดอนทราย ระบบนิเวศเฉพาะอันสำคัญของแม่น้ำโขง ที่ช่วยหล่อเลี้ยงไม่เพียงประชาชนในเขตประเทศไทย แต่ยังหล่อเลี้ยงประชาชนกว่า 60 ล้านคนในลาว กัมพูชา และเวียดนามอีกด้วย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะคำนึงถึงสิทธิความเป็นอยู่ของประชาชนและระบบนิเวศเกาะแก่งแม่น้ำโขง แม่น้ำสายสำคัญต่อวิถีชีวิตท้องถิ่น คนไทย คนลาว คนพม่า คนเขมรและคนเวียดนาม และยังเป็นแม่น้ำสายสำคัญของโลกใบนี้ เพื่อรักษาความสมดุลของนิเวศ เศรษฐกิจและสังคมอย่างแท้จริง

“พวกเราขอประกาศว่า จะปกป้องคุ้มครองแม่น้ำโขง มิให้กลุ่มทุนใดมาทำลายเกาะแก่งและระบบนิเวศแม่น้ำโขงโดยเด็ดขาด เพราะแม่น้ำโขง คือแม่ของพวกเรา”