Search

ทูตโปรตุเกสประกาศตัวเป็น “เกย์” รับชีวิตชายรักชายมีความสุข แนะเปิดเผยตัวตน-ไม่ควรเขินอาย หนุนไทยยอมรับคนข้ามเพศ หลายฝ่ายร่วมรณรงค์วันสากลยุติการเกลียดกลัว

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมกับธนาคารโลก หน่วยงานภาครัฐ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมรณรงค์สาธารณะเนื่องในวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ (International Day Against Homophobia, Transphobia & Biphobia – IDAHOT) โดยปีนี้มีการรณรงค์ให้สถาบันครอบครัว ยอมรับและเข้าใจบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ คนข้ามเพศ (LGBTI) และให้ความเคารพในสิทธิ์ต่างๆ ตลอดจนให้กำลังใจแก่สมาชิกครอบครัวทุกคนอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเพศใดก็ตาม

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ ในทางสากลมีการณรงค์ให้แต่ละภาคส่วนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างแพร่หลาย ทั้งทางกฎหมาย นโยบาย และสังคม แต่ยังพบว่า ความรุนแรงที่มีต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังมีอยู่ สำหรับประเทศไทยมีความพยายามในหลายรูปแบบเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ก็มักจะมีการกำหนดเงื่อนไขทั้งความมั่นคงของรัฐ หรือหลักความเชื่อทางศาสนา การดำเนินการในความจริง จึงยังมีผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลที่มีความแตกต่างทางเพศ ความหลากทางเพศ การที่จะมีการณรงค์เพื่อขจัดหรือยุติความเกลียดกลัวจึงยังคงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งการทำความเข้ใจในเชิงสาธารณะ กับครอบครัว ชุมชน หรือปัจเจก ล้วนมีความสำคัญเสมอ

“ต้องยอมรับว่าคนเรามีความหลากหลายทั้งในแง่เชิงกายภาพ และอื่นๆ กสม.ยืนยันว่า การสร้างสังคมที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม ปราศจากอคติเป็นความจำเป็นของทุกประเทศ จากนี้เชื่อว่าถ้าคนเรามองทุกคนด้วยความเข้าใจ จะรับรู้ได้ว่า ทุกคนมีสิทธิ์รัก และมีสิทธิ์ได้รับความรัก ถ้าเป็นไปได้เชื่อว่าเราจะยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับใครก็ตามได้ในที่สุดและไม่ควรมีใครได้รับการต่อต้าน” นางอังคณา กล่าว

รศ.ดร.มาลี พฤกษ์พงศาวลี ประธานคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) กล่าวว่า การประกาศใช้ พระราชบัญญัติ (พรบ.) ความเท่าเทียมระหว่างเพศปี 2558 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างและยืนยันความเสมอภาค แตกต่าง หลากหลาย ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินการประกอบด้วย คณะกรรมการ 9 คน ที่มีความหลากหลาย การพิจารณาพบว่า หลังประกาศใช้ พรบ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศฯ มีคำร้องเรียนควบคู่กับการแสวงหาแนวทางสร้างความเข้าใจในสังคม สร้างความตระหนัก รวมถึงหามาตรการมีการละเว้นมาโดยตลอดแต่ยังพบว่า มีกรณีร้องเรียนเรื่องการเลือกปฏิบัติมากถึง 20 เรื่อง ในจำนวนนี้ร้อยละ 90 เป็นเรื่องที่มาจากการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลLGBTI ทั้งในแง่ของเพศ การศึกษา การประกอบอาชีพ และการใช้ชีวิตอย่างอิสระ อันเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับเจตคติ

ด้านนายอูลริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าในวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ มีแนวคิดหลักของงานในวันสำคัญปีนี้คือ ครอบครัว ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตพวกเราทุกคน เป็นสิ่งที่เราใส่ใจเป็นลำดับแรก และเป็นสิ่งสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด โดยทั่วไปแล้ว ครอบครัวมักให้การยอมรับ สนับสนุน อบรมให้เรามีทักษะในการใช้ชีวิต และช่วยให้เราได้รับโอกาสทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ ไม่ว่าเราจะเป็นหญิง ชาย หรือ เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศ หรือ คนที่มีสภาวะเพศกำกวม เราทุกคนก็ล้วนมีชีวิตอยู่ได้ด้วยความรักและการสนับสนุนจากครอบครัว แต่เป็นที่น่าเสียใจสำหรับบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ที่หลายคนมาจากครอบครัวที่เป็นบ่อเกิดของความรุนแรงหรือความเกลียดชัง สร้างความกดดันให้ยอมรับบรรทัดฐานที่ผู้ชายเป็นใหญ่ในครอบครัว หรือถูกตัดขาดจากความช่วยเหลือที่ครอบครัวสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้

“ในบางสังคม บุคคล LGBTI สามารถเริ่มต้นชีวิตครอบครัวโดยได้รับความคุ้มครองจากสังคม แต่ยังคงมีอีกหลายประเทศที่ยังมีอุปสรรคด้านกฎหมายหรือการตีตราที่จำกัดบุคคล LGBTI ในเรื่องการมีบุตร การรับบุตรบุญธรรม และการใช้ชีวิตร่วมกัน” นายอูลริค กล่าว

นายอูลริค กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ ประเทศไทยเป็นผู้นำในก้าวต่อไปที่สำคัญของเรื่องนี้นั่นคือ การรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และนำไปสู่แนวทางด้านนโยบาย ด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย กลุ่มธนาคารโลก คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ Love Frankie ซึ่งเป็นกลุ่มทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานด้าน LGBTI ของประเทศไทย นักวิจัยภายใต้โครงการความร่วมมือนี้ได้รวบรวมความคิดเห็นของคนที่เป็นและไม่เป็นบุคคล LGBTI ทั้งจากในกรุงเทพฯ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง ทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองและชนบท ประสบการณ์ชีวิตจากการตอบแบบสอบถามของบุคคลLGBTI จำนวน 2,302 ถูกนำมาเปรียบกับผู้ที่ไม่ใช่บุคคลLGBTI 1,200 ในประเทศไทย

ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า จากการที่มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามงานวิจัยครั้งนี้เป็นจำนวนมากทำให้ผลการศึกษามีความหมายในเชิงสถิติอย่างมีนัยสำคัญซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า กลุ่มบุคคล LGBTI ต้องยอมอดทนกับความเหลื่อมล้ำทางโอกาสและการถูกเลือกปฏิบัติโดยปราศจากความละอาย บุคคล LGBTI ถูกแบ่งแยกจากหลายเรื่องในชีวิตทั้งเรื่องการศึกษา การดูแลสุขภาพ การได้รับสินเชื่อและการเงิน (รวมถึงการทำประกันชีวิตและสุขภาพ) การเข้าถึงที่อยู่อาศัย ตลาดงาน และในที่ทำงาน ผู้ตอบแบบสอบถาม LGBTI 45% ไม่ประสบความสำเร็จในการสมัครงานเพราะอัตลักษณ์การเป็นบุคคล LGBTI ในขณะที่ 53% มีปัญหาด้านอารมณ์อันเป็นผลโดยตรงจากการถูกเลือกปฏิบัติ อาทิ อาการซึมเศร้า อาการวิตกกังวลโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือ อาการคับข้องใจ เกือบครึ่งหนึ่งของบุคคล LGBTI ที่ตอบแบบสอบถามเล่าว่าไม่สามารถแสดงความสามารถที่แท้จริงได้ในที่ทำงานได้อย่างเต็มที่

“ประเด็นสำคัญที่พบจากการวิจัยคือชาว LGBTI มีความทุกข์แตกต่างกันไป คนข้ามเพศทั้งหญิงและชายเป็นกลุ่มที่มีความทุกข์มากที่สุด ในขณะที่เลสเบี้ยนและหญิงที่เป็นไบเซ็กชวล ถูกเลือกปฏิบัติและถูกแบ่งแยกออกจากสังคมมากกว่าเกย์ หรือชายที่เป็นไบเซ็กชวล งานวิจัยนี้ยังพบประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งว่า ชาว LGBTI หลายคนได้รับความบีบคั้นทางจิตใจอย่างหนักจากการถูกปฏิเสธจากเพื่อน พ่อแม่ ครอบครัว และคนอื่นๆ ในสังคม”ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

นายฟรานซิสโก วาซ แพตโต เอกอัครราชทูตโปรตุเกส ประจำประเทศไทย กล่าวว่า มีความยินดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทยร่วมเป็นหนึ่งในการจัดกิจกรรม IDAHOT โดยส่วนตัวมาร่วมงานวันนี้ไม่ใช่เพราะบุคคลที่ทำหน้าทูต แต่มาเพราะเป็นเกย์ คนหนึ่งที่อยากจะเฉลิมฉลองวัน IDAHOT ในประเทศไทย ร่วมกับทุกคนในที่นี้ และมาในฐานะสามีของคู่ชีวิตที่พร้อมจะยอมรับในตัวตนของทั้งสองฝ่าย
“ในฐานะที่เป็นชายรักชาย ผมขอกล่าวแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนิดหนึ่งว่า ประสบการณ์ชีวิตคู่ของผมไม่เคยมีปัญหา และผมโชคดีที่พ่อแม่ ครอบครัวให้การยอมรับ ครอบครัวของคู่ชีวิตผม ของผมล้วนเข้าใจและเมื่อผมได้ทำงาน คนในที่ทำงานยอมรับ เพื่อนยินดี การได้มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยผมก็ได้รับการต้อนรับและเข้าใจจากคนไทยจำนวนมาก ผมรับรู้ในความเปลี่ยนแปลง ความพยายามของประเทศไทยเสมอว่า มีพัฒนาการเชิงบวกและยอมรับให้พวกเราแสดงอัตลักษณ์ทางเพศอย่างตรงไปตรงมา ผมอยากจะบอกกับทุกคนว่า เราไม่ควรปกปิดตัวตนของเราต่อใคร การพูดความจริง การแสดงออกอย่างจริงใจต่างหากที่สำคัญ การเป็นLGBTI ไม่ควรเป็นความลับ ไม่ควรมีความอึดอัด ไม่ควรเขินอาย และหากได้ทำงานก็ต้องทำงานแบบไม่อายด้วย การปรากฏตัวของตัวเองขึ้นในทุกที่ คือ อิสระ และคือเรื่องสง่างาม ผมขอบคุณทุกคนที่มาฉลองวันนี้และเชื่อว่าเราจะยุติปัญหาร้ายๆ ร่วมกันได้” นายฟรานซิสโก กล่าว
/////////////////////////