เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 สามเณรซาแหม่ หรือ เณรโอ้ (ไม่มีนามสกุล) อายุ 22ปี สามเณรชาวกะเหรี่ยงซึ่งกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตนมีถิ่นฐานอยู่ที่ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ขณะนี้ถูกจำหน่ายชื่อและเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก (ทร.97) ทำให้ยังไม่สามารถได้รับบัตรประชาชนและได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมาย โดยกลายเป็นคนไม่มีตัวตน มาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งขณะนั้นยังบวชเรียนอยู่ที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา (เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2) วัดไชชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้)ตำบลบ้านใต้ อำเภอเมืองกาญจนบุรี
สามเณรโอ้กล่าวว่า จากคำบอกเล่าและเอกสารทะเบียนประวัติชุมชนบนพื้นที่สูง ปี 2542ระบุว่า ตนเป็นชาวกะเหรี่ยงเกิดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2538 เลขประจำตัวประชาชน 6710871003042 เกิดที่หมู่บ้านจะแก บ้านเลขที่ 27/ช หมู่ 6 ตำบล บิดาชื่อ นายพุท่อง (ไม่มีนามสกุล) มารดาชื่อ นางมะซางวี (ไม่มีนามสกุล) เป็นชาวกะเหรี่ยงที่เกิดในประเทศไทย โดยระหว่างที่เรียนอยู่นั้น เมื่อใกล้จะจบจากวัดใต้ ตนปรารถนาจะเรียนต่อหลายแห่ง จึงไปติดต่อขอเอกสารและบัตรประจำตัวจากอำเภอสังขละบุรี แต่ไม่ปรากฏหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ใดๆ ทั้งที่เดิมทีนั้นในทะเบียนประวัติชุมชนบนพื้นที่สูง ปี 2542 ซึ่งสำรวจโดยอำเภอสังขละบุรี ตนเป็นหนึ่งในสมาชิกในทะเบียนราษฎร์ อย่างถูกต้อง แต่เมื่อมาค้นเอกสารเพื่อขอบัตรประจำตัว กลับไม่พบหลักฐานใดๆ และได้พยายามติดต่อทางอำเภอเพื่อร้องเรียนและตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแต่กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ
“ล่าสุดที่ผมตาม เมื่อวันที่19 พฤษภาคม 2560 จำหน่ายชื่อออก ถูกจำหน่ายเลข 13 หลัก (ติด ทร.97) กลายเป็นบุคคลไร้ตัวตน รหัส 13 หลักของผมถูกบล๊อคไม่สามารถใช้งานทางราชการใดๆได้ทั้งสิ้น สิทธิต่างๆไม่เคยได้รับ ผมถูกจำหน่ายตอนมาบวชเรียน เพื่อศึกษาหาความรู้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ตั้งแต่ทราบเรื่องก็มายื่นเรื่อง มาติดต่อทางอำเภอตลอดเพราะอยากแก้ไขปัญหาและอยากรู้สาเหตุการถูกจำหน่ายบัตร จนวันนี้ก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ เขาให้ผมยื่นเอกสารใหม่ตลอด อ้างว่าเอกสารที่เรายื่นไปหายบ้าง นายอำเภอเปลี่ยนบ้าง เจ้าหน้าที่เปลี่ยนบ้าง ซึ่งเอกสารหลักฐานต่างๆที่ยื่นไปก็ถูกต้องตามกฎหมายตามที่ทางอำเภอให้ยื่นตามที่เขาต้องการ ล่าสุดที่ผมไปตามเรื่อง เจ้าหน้าที่บอกว่าเรื่องอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยแล้วแต่รอกระทรวงอนุมัติพิจารณา ผมเลยขอวันเดือนปีที่ยื่นไปกระทรวงฯ เพื่อขอไปตามเรื่องที่กระทรวงเองอีกทีว่าติดอะไร เจ้าหน้าที่เขาก็บอกว่า ไม่แน่ใจ และไม่รู้ว่าถึงกระทรวงใดแล้ว แล้วบอกให้ผมยื่นเอกสารอีกหลายครั้ง ทำให้ผมต้องเสียเวลาดำเนินการหลายขั้นตอน ” สามเณรซาแหม่ กล่าว
สามเณร ซาแหม่ กล่าวเพิ่มว่า หลังจากนี้ประมาณวันพุทธที่ 24 พฤษภาคม จะส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม) เพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากขณะนี้ตนศึกษาใกล้จบจาก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แล้วต้องการจะหางานทำ และยังฝันไว้อีกว่า หากมีโอกาสอยากศึกษาต่อโดยคิดไว้ว่า อยากสอบไปศึกษาต่อปริญญาโท ทางด้านปรัชญา ที่ประเทศอินเดีย จึงจำเป็นต้องขอข้อมูลทางราชการเพื่อไปดำเนินการ ไม่เช่นนั้นทะเบียนประวัติที่ได้รับการสำรวจปี2542อาจจะสูญเปล่า
“ผมไม่มีความรู้ทางกฎหมาย อยากจะสอบถามทนาย หรือ องค์กรที่เกี่ยวข้อง แต่ผมไม่รู้จะเริ่มจากไหนดี เลยเข้าหาสื่อมวลชน ให้ช่วยบอกเล่าเรื่องความซับซ้อนนี้ที เพราะจริงๆแล้ว พ่อแม่ผมบอกว่า ผมเป็นชาวกะเหรี่ยงที่เกิดในประเทศไทย อาศัยอยู่ในประเทศไทย และยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ผมไม่รู้จริงๆว่าหนทางไหนจะช่วยให้ผมได้รับสัญชาติไทย ถ้ามีทางผมก็จะทำ เพราะอยู่ที่นี่ตั้งแต่เล็ก และรักจังหวัดกาญจนบุรีมาก” สามเณรซาแหม่ กล่าว
นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตกรรมการด้านสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวว่า กรณีเณร คือ ตามหลักการต้องมีบัตรประจำตัวผู้ซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามพ่อแม่ แต่หากว่าทางอำเภอต้นสังกัดแจ้งว่าบัตรถูกจำหน่าย เป็นไปได้ 2 กรณี คือ 1 ถูกจำหน่ายไว้ก่อน เนื่องจากการสำรวจทะเบียนประวัติชุมชนบนพื้นที่สูงช่วงหนึ่งนั้นอาจจะมีการเขียนข้อมูลไว้ แล้วเณรยังไม่ทำบัตรประจำตัวซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งทางอำเภออาจจะประกาศเรียกหาตัวหลายครั้งแต่ไม่มาพบ “ จึงจำหน่ายไว้ก่อน” ซึ่งเณรสามารถยื่นเรื่องตรวจสอบได้และหากถูกจำหน่ายจริง ถึงอย่างไรต้องพบในฐานข้อมูล แต่อาจจะต้องยืนยันตัวตนด้วยเอกสารอื่นประกอบ เพื่อขอรับบัตรเนื่องจากตอนนี้เณรไม่มีบัตรดังกล่าว จากนั้นค่อยขอสัญชาติไทยภายหลัง 2 ถูกจำหน่ายถาวร อาจจะเป็นเพราะเลขประจำตัว 13 หลักได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ถ้าเณรยืนยันความบริสุทธิ์ก็ให้ไปยื่นเอกสารและหาพยานบุคคลไปยื่นเรื่องที่อำเภออีกครั้ง ให้หาพยานไปช่วยยืนยันที่อำเภอ
“จริงแล้วคนที่ถูกสำรวจข้อมูลก่อนปี 2550 ทางกรมปกครองก็เรียกให้มาทำบัตรประจำตัวภายหลัง เข้าใจว่าเณรอาจจะไม่มา แล้วเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องจำหน่ายไว้ก่อน แต่โดยปกติแล้วข้อมูลจะต้องไม่หาย และหากเณรไม่มั่นใจให้เจ้าหน้าที่ออกเป็นหนังสือให้ชัดเจนแล้วเดินเรื่องขอบัตรประจำตัวอันเก่าให้ได้ หรือหากสงสัยและต้องการตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจนให้ปรึกษา คลินิกกฎหมายสัญชาติ กรมการปกครอง” นายสุรพงษ์กล่าว
นายสุพงษ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ในเรื่องการศึกษานั้นไม่อยากให้เณรต้องกังวล เพราะสิทธิการศึกษาของทุกคนเท่าเทียมกัน คือ คนไม่มีสัญชาติไทยก็มีสิทธิศึกษาได้สูงสุดปริญญาเอก ในสถาบันการศึกษาที่ต้องการ และเมื่อศึกษาจบย่อมได้รับวุฒิการศึกษาอย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ในระหว่างการศึกษาสามเณรซาแหม่ได้มีผลการเรียนดีต่อเนื่อง อาทิ ช่วงที่เรียนใน โรงเรียนบาลีเตรียมอุดมศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6) ได้รับเกียรติบัตรสามเณรเรียนดีประจำปี พ.ศ. 2556 จากโรงเรียนด้วย เกรดเฉลี่ย3.42
///////////////////////