เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)ได้มีการประชุมคณะกรรมการสรรหาประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ(บอร์ด)พอช.โดยมีพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธาน ทั้งนี้ผู้ที่สมัครประธานบอร์ดประกอบด้วยนายสมพร ใช้บางยาง อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และนพ.อำพล จินดาวัฒนะ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการสรรหาฯได้มีมติเลือกนายสมพร ด้วยคะแนน 10 เสียงและเลือกนพ.อำพลด้วยคะแนน 5 เสียง ดังนั้นนายสมพรจึงจะเข้าดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดพอช.เป็นสมัยที่ 2
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เลือกนายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ และนายแก้ว สังข์ชู เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ส่วนกรรมการที่มาจากตัวแทนชุมชน 3 คนจะมีการเลือกในครั้งต่อไป ที่เหลือเป็นกรรมการที่เป็นตัวแทนภาคราชการและผู้อำนวยการพอช.โดยตำแหน่ง ซึ่งรวมแล้วทั้งหมด 11 คน
นอกจากการสรรหาบอร์ดชุดใหม่แล้ว ที่กำลังถูกจับตามองเป็นพิเศษคือตำแหน่งผู้อำนวยการพอช.ซึ่งว่างเว้นมาแล้วหลายเดือนภายหลังจากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.)ใช้อำนาจตามม.44 สั่งย้ายนายพลากร วงศ์กองแก้ว ผู้อำนวยการพอช.ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2549 ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวจะหมดวาระในเดือนกันยายนนี้ โดยนายสมพร ใช้บางยาง ในฐานะประธานบอร์ดได้ลงในนามในการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาจำนวน 7 คนตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2560
ทั้งนี้ในวันเดียวกันนี้เป็นวันสุดท้ายในการเปิดรับสมัครผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการพอช.โดยมีผู้สมัครและผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อทั้งหมด 10 คน ซึ่งเป็นบุคคลภายในพอช. 2 คน ที่เหลือเป็นคนนอกที่มีทั้งนายตำรวจยศนายพล นายทหารและผู้บริหารองค์กรพัฒนาเอกชน
นายบรรจง นะแส ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)กล่าวว่าสังคมกำลังจับตามองผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการพอช.คนต่อไป เนื่องจากหวั่นเกรงว่าการคัดเลือกครั้งนี้จะถูกแทรกแซงจากการเมืองเนื่องจากที่ผ่านมาแม้แต่นายพลากร วงศ์กองแก้ว ผู้อำนวยการพอช.คนเก่าซึ่งได้คะแนนประเมินสูงก็ยังถูกย้ายไปประจำทำเนียบรัฐบาลเพราะไม่ถูกใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
“ผมคิดว่าผู้ที่จะมาเป็นผู้อำนวยการพอช.คนต่อไปต้องเป็นคนที่มีความกล้า เพราะต้องยืนเคียงข้างประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากโครงการใหญ่ๆของรัฐ ต้องเข้าใจการทำงานชุมชน มิใช่เข้าไปครอบงำ ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะมีสภาองค์กรชุมชน แต่กลับไปทำงานทับซ้อนกับชาวบ้าน ที่สำคัญคือพอช.เป็นองค์กรมหาชน มิใช่หน่วยงานของรัฐ ดังนั้นผู้ที่จะมาเป็นผู้อำนวยการพอช.จึงต้องวางบทบาทของตัวเองให้ถูก”นายบรรจง กล่าว
—————–