เสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับการประชุมใหญ่สัญญาป๋างโหลงศตวรรษที่ 21 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ที่กรุงเนปีดอว์ เมืองหลวงพม่า การประชุมเป็นเวลา 6 วัน ฝ่ายพม่าและชาติพันธุ์ได้ลงนามข้อตกลงร่วมกัน 37 ข้อ จากที่มีการเสนอทั้งหมด 41 ข้อ ส่วนการหารือกันในหัวข้อเรื่องความมั่นคงนั้น มีรายงานว่า ฝ่ายพม่าและชาติพันธุ์ต่างมีความเห็นขัดแย้งทำให้ไม่ได้ข้อตกลงใดๆ เช่นประเด็นเรื่องกองทัพพม่าระบุ ชาติพันธุ์ไม่สามารถแยกตัวออกจากสหภาพได้ ขณะที่เรื่องนี้ทางฝ่ายชาติพันธุ์ได้ออกมาทักท้วงและขอให้ฝ่ายพม่าถอนคำพูดเป็นต้น คาดว่าในประเด็นเรื่องความมั่นคงจะมีการหารือกันอีก
โดย 5 หัวข้อหลักๆที่มีการหารือในการประชุมครั้งนี้เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม เรื่องที่ดินทำกินและทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และหัวข้อความมั่นคง โดยในหัวข้อเรื่องการเมืองมีการลงนามเห็นด้วย เช่น เรื่องอำนาจอธิปไตยต้องมาจากประชาชนและมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ รวมทั้งทุกชาติพันธุ์จะต้องมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันทั้งในด้านการเมืองและเชื้อชาติ รวมทั้งมีสิทธิในการปกป้องและยกระดับภาษาและวัฒนธรรมของตัวเอง นอกจากนี้ยังเห็นด้วยว่า ประเทศจะต้องก่อตั้งเป็นสหภาพที่มีพื้นฐานจากระบอบประชาธิปไตยและสหพันธรัฐ เป็นต้น
ส่วนในหัวข้อเศรษฐกิจนั้น ทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องกันเรื่องที่จะขจัดความยากจน ลดช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวย รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การส่งเสริมภาคเอกชนให้สอดคล้องกับกฏหมาย การจัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรมและเท่าเทียมระหว่างรัฐบาลกลางและเขตภูมิภาคต่างๆ รวมถึงในพื้นที่ปกครองตนเอง อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ยังมีบางประเด็นที่ยังไม่อาจตกลงกันได้ เช่น จะใช้หลักการอะไรในด้านเศรษฐกิจภายใต้ระบอบสหพันธรัฐ ส่วนในหัวข้อสังคมนั้นยังมุ่งเน้นให้ความสำคัญเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยสงคราม เช่น การช่วยเหลือให้ผู้พลัดถิ่นภายในและผู้ลี้ภัยที่เกิดจากทั้งสาเหตุภัยธรรมชาติ ความขัดแย้งสงคราม สามารถตั้งถิ่นฐานในบ้านเกิด หรือในที่อื่นที่มีความปลอดภัย โดยจะต้องให้ความช่วยเหลือตามหลักสากลและเคารพด้านสิทธิมนุษยชนต่อคนเหล่านี้ ส่วนในประเด็นยาเสพติด มีการเห็นด้วยที่จะเอาจริงเอาจังปราบปรามยาเสพติดที่เป็นปัญหาใหญ่ในประเทศ
ด้านประเด็นเรื่องความมั่นคงนั้น ทั้งฝ่ายกองทัพพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ไม่สามารถตกลงกันได้ และไม่ได้ข้อตกลงใด ๆ ระหว่างการประชุม โดยเฉพาะการถกกันเรื่องการคงไว้ซึ่งกองทัพเดียว โดยกลุ่มชาติพันธุ์ต้องการใช้ชื่อกองทัพ ซึ่งเลือกไว้อยู่ด้วยกัน 3 ชื่อคือ 1.กองทัพสหภาพ 2.กองทัพสหพันธรัฐ และ 3.กองทัพสหพันธรัฐสหภาพ อย่างไรก็ตาม ทางกองทัพพม่ากลับไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับทั้ง 3 ชื่อ และยังคงต้องการใช้ชื่อว่า “ตั้ดมะด่อว์” ซึ่งแปลว่า “กองทัพ” เหมือนเดิม ทำให้การหารือต้องหยุดชะงักงัน ด้านฝ่ายกองทัพพม่าระบุ ประเด็นนี้อาจต้องใช้เวลาในการเจรจาเพื่อให้เห็นสัญญาณที่ดีขึ้น
ส่วนในหัวข้อการเมือง เรื่องการห้ามแยกตัวออกจากสหภาพก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายเห็นต่างและยังไม่สามารถตกลงกันได้ โดยฝ่ายพม่าย้ำชัดมาตลอดว่า ห้ามชาติพันธุ์แยกออกจากสหภาพ ส่วนชาติพันธุ์ก็ยังเห็นต่างในเรื่องนี้ โดยเฉพาะพรรคไทใหญ่หัวเสือ SNLD พรรคการเมืองชิน และชาติพันธุ์ที่เข้าร่วมประชุมที่เรียกร้องให้ถอนคำพูดนี้ ด้านผู้นำพรรคหัวเสือที่มองว่า การห้ามแยกออกจากพม่าเป็นการละเมิดสิทธิของชาติพันธุ์และขัดต่อข้อตกลงสัญญาป๋างโหลงที่ทำไว้ในอดีตที่ระบุว่า ให้รัฐชาติพันธุ์แยกตัวออกไปได้ หากไม่ต้องการอยู่กับพม่า
ด้านนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐระบุว่า ถึงแม้ในที่ประชุมจะมีการแห็นต่างกัน แต่ในท้ายที่สุดที่ได้ข้อตกลงร่วมกันถือเป็นเรื่องที่น่าพอใจและเป็นเรื่องที่ทำให้มีกำลังใจมากขึ้น โดยข้อตกลงที่ได้เป็นสิ่งที่สนับสนุนความปรองดองในชาติ และเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การสร้างสหพันธรัฐประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการใช้วิธีการอย่างสันติ รวมถึงเป็นก้าวย่างสำคัญ
“ทุกคนต่างมีบาดแผลเผชิญกับความเจ็บปวดกันมา เพื่อหายามารักษาเยียวยาบาดเแผลเหล่านี้ไม่ให้ตกไปถึงคนรุ่นหลังนั้นยากเหลือเกิน ดังนั้นสิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้ว ” นางซูจีขึ้นกล่าว
ที่มา Global New Light of Myanmar/Tai Freedom/Panglong
แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ