เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ผู้แทนชาวบ้านในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟกว่า 10 คน ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายออมสิน ชีวพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ชะลอการผลักดันแก้ไขกฏหมาย 4 ฉบับคือร่างพระราชบัญญัติ (พรบ.) อุทยานแห่งชาติ ร่างพรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ร่างพรบ.ป่าชุมชน และ ร่างพรบ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นของการพิจารณาของกฤษฎีกา
นายสมชาติ หละแหลม ตัวแทนชาวบ้านได้อ่านหนังสือที่ยื่นถึงนายกรัฐมนตรีว่า ขณะนี้ร่างแก้ไขกฏหมายบางฉบับอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นทางเว็ปไซต์ ซึ่งพวกตนมีความกังวลต่อการเร่งรีบผลักดันกฎหมายโดยไม่รับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะจากผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และที่สำคัญกระบวนการรับฟังความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ทางช่องทางของเว็ปไซด์ มีข้อจำกัดที่ประชาชนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้จริงซึ่งเนื้อหาตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนจำนวนมากที่อยู่อาศัยดั้งเดิมในพื้นที่อย่างรุนแรง และจะเกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการสร้างความสุข และลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชนคนยากจน
นายสมชาติกล่าวว่า ที่สำคัญที่สุดบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ประกาศใช้แล้ว ในมาตรา 77 ที่ระบุว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับรัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน ซึ่งพีมูฟร่วมกับองค์กรภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องได้จัดประชุมเพื่อระดมข้อเสนอ เพื่อให้กระบวนการผลักดันกฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตรา 77 และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้จริง จึงอยากให้เกิดการดำเนินการตามข้อเสนอดังต่อไปนี้
นายสมชาติกล่าวว่า 1.ขอให้มีการประสานงานไปยังทส.ให้ชะลอการผลักดันร่างพรบ.อุทยานแห่งชาติพ.ศ…. ,ร่างพรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ…., ร่างพรบ.ป่าชุมชนและร่างพรบ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไว้ก่อน ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยระบุไว้ชัดเจนว่าการตรากฎหมายทุกฉบับของหน่วยงานรัฐ จะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณา ในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน การเร่งรัดตรากฎหมาย โดยปราศจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างรอบด้านนอกจากจะเป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว ยังส่งผลให้กฎหมายที่ตราออกมาสร้างผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนท้องถิ่นอย่างรุนแรง ยากจะเยียวยา ดังปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้วจากการประกาศใช้ พรบ.จราจร และพรบ.ว่าด้วยการเดินเรือในเขตน่านน้ำไทย ที่ปัจจุบันได้สร้างผลกระทบกับชุมชนชายฝั่ง และชาวประมงพื้นบ้านอย่างกว้างขวาง
นายสมชาติกล่าวว่า 2.ขอให้มีการประสานงานไปยังรัฐมนตรีทส.เพื่อสั่งการไปยังกรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ และสำนักงานนโยบายและแผน เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ร่าง พรบ. ทั้ง 4 ฉบับ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 77 โดยมีกลไกกลางในการจัดรับฟังความเห็น ซึ่งประกอบด้วย นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
หลังจากนั้นผู้แทนพีมูฟได้เดินทางต่อไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกรทรวงทส.