Search

ชุมชนร้อยปีริมน้ำโวยเดือดร้อนหนักหลังแก้พรบ.เดินเรือในน่านน้ำไทย เผยกรมเจ้าท่าเรียกเก็บค่าธรรมเนียมทั้งๆที่ชาวบ้านอยู่กันมาก่อน เผยพิจารณากฎหมายขาดหลักยึดความเป็นจริง

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2560 นายเฉลา ทิมทอง ชาวบ้านตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า “พระราชบัญญัติ (พรบ.)การเดินเรือในน่านน้ำไทย” ประกาศใช้เมื่อเดือนมกราคม 2560 กำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่อยู่อาศัยริมแม่น้ำคลองด่าน หลายร้อยครอบครัวเนื่องจากกรมเจ้าท่ามีหนังสือแจ้งให้ชาวบ้านไปแจ้งการฝ่าฝืน รุกล้ำ น่านน้ำ กรณีที่มีสร้างบ้าน สร้างสะพาน สร้างอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ชำระค่าใช้จ่ายหลายอย่างแก่กรมเจ้าท่า โดยต้องไปแจ้งพื้นที่ครอบครอง จำนวนสิ่งปลูกสร้างและการใช้ประโยชน์ภายในวันที่ 22 มิถุนายน นี้ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าปรับ ต่างๆรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท และมีครอบครัวที่อาจจะได้รับผลกระทบดังกล่าวราว 400 ครอบครัว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้อาศัยอยู่ริมคลองทั้งสิ้น ชาวบ้านจึงตัดสินใจร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม) และเตรียมจัดประชุมในวันพรุ่งนี้ (15 มิถุนายน) เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาและทางออก


“ตอนออกกฎหมายเราไม่รู้ว่าออกมาได้ยังไง แต่อยู่ๆ ได้รับแจ้งว่าต้องไปแจ้งจดการฝ่าฝืน แต่เราเป็นชุมชนเก่าอายุ100 กว่าปี ส่วนมากทำประมง และหากินตามวิถีชีวิตในพื้นที่แห่งนี้ อยู่ๆ จะให้เรามาจ่ายค่าเช่า ค่าบุกรุก แบบนี้ ก็ไม่ใช่แล้ว กระบวนการพิสูจน์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างเองก็ยังไม่ชัดเจนเลย ก็เลยอยากพา กสม.และผู้เกี่ยวข้องมาลงเรือสำรวจชุมชนด้วยกัน” นายเฉลา กล่าว

นายวรินทร์ เทียมจรัส อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า การประกาศใช้ พรบ.ดังกล่าวเป็นการเอามาตรฐานการรุกคลองในเมืองใหญ่ เช่น คลองต่างๆในกรุงเทพ ฯ ซึ่งคนอยู่บนบกทำสิ่งปลูกสร้างเข้ามาในทางน้ำ หรือรุกล้ำน่านน้ำ และการบุกรุกดังกล่าวในช่วงที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจ ก็คือจะใช้กฎหมายพิเศษเพื่อไล่รื้อหรือเอาคนออกไปจากบริเวณที่รุกล้ำ แต่กรณีของคลองด่านนั้น เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิม โดยคสช.เข้ามาแก้กฎหมายของกรมเจ้าท่า ซึ่งเหมือนกับการแก้กฎหมายของส่วนราชการอื่นๆ โดยใช้อำนาจพิเศษเข้ามาจัดการ แต่ไม่ได้คำนึงถึงหลักข้อเท็จจริง ที่ว่า ชาวบ้านในต่างจังหวัดที่เขาอยู่ริมคลอง เช่น สมุทรปราการ เพชรบุรี ฯลฯ กลุ่มนี้หากเป็นพื้นที่คลองในความหมายของชาวบ้าน คือ คลองที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต ไม่ได้รุกล้ำเพื่ออยู่อาศัยอย่างเดียว แต่เพราะจำเป็นต้องพึ่งพา

นายวรินทร์ กล่าวว่า อย่างกรณีวิถีชีวิตชาวประมงคลองด่านนั้น คือ เขาต้องมีเรือเป็นพาหนะใช้งานแล้วมีการทำอู่เรือไว้ริมน้ำ สร้างกระท่อม เพิงพัก ที่อยู่ชั่วคราวน้ำขึ้น น้ำลงสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้จะมีสถานะต่างกันทันที ถ้าน้ำขึ้นอู่เรือก็จะอยู่กลางน้ำ น้ำลงอู่เรือก็อยู่บนฝั่ง แล้วเมื่อกรมเจ้าท่ามาคำนวณพื้นที่แล้วเรียกเก็บค่าปรับต่างๆ ต้องดูก่อนว่าปรับช่วงน้ำขึ้น หรือน้ำลง เพราะสถานะของสิ่งปลูกสร้างจะไม่เหมือนกัน หรือบางคนสร้างบ้านอยู่ก็จริง ถ้าจะรุกก็อาจจะรุกพื้นที่เพื่อสร้างบ้านบ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด แต่การเอามาตรการเปรียบเทียบปรับที่ออกโดยกรมเจ้าท่าแล้วไปบังคับใช้ตาม พรบ.การเดินเรือฯ นั้นไม่ถูกต้อง

“ เขาไปทำอู่เรือไว้ริมน้ำ วิถีประมงพื้นบ้านเขาอยู่ในคลองไง เวลาน้ำขึ้น น้ำจะขึ้นไปหมด เขาจะสร้างกระท่อม ที่พัก ที่จอดเรือ ในกรณีน้ำขึ้น ไม่ได้ออกเรือ สิ่งเหล่านี้จะดูเหมือนไม่มีความหมาย แต่เมื่อถึงเวลาออกเรือ คือ เขาจะใช้ไง เวลาน้ำลง คือ เขาก็ใช้เป็นที่จอดเรือ ดังนั้นคุณไปช่วงน้ำลงเรือจะจอดเยอะ ติดบ้านเรือนบ้าง อะไรบ้างก็ธรรมดา ถามว่าถ้าจะไล่รื้อคนริมคลอง หรือ จะไปแจ้งว่าเขาฝ่าผืน คุณจะมาดูเขาตอนไหน การออกกฎหมายอะไรก็ตามต้องออกบนข้อเท็จจริง ไม่ใช้เอาหลักการของอีกที่ไปจัดการอีกพื้นที่ ที่น่าสนใจ คือ จะเอาหลักการใช้งานเชิงพาณิชย์มาใช้ด้วย ถามว่า คนหาปลาหาปลาขายบ้าง กินบ้าง คือ อาชีพของเขา จะเอามาตรฐานอะไรมาวัดว่าเขาทำสิ่งปลูกสร้างเพื่อพาณิชย์ยังไง ตรงนี้ เนื้อหากฎหมายมันยังคลุมเครือ ซึ่งทั้งผม ทั้งชาวบ้านคงต้องไปอ่านรายละเอียดอีกที แต่อยู่ๆ กรมเจ้าท่ามากำหนดวัน เวลาให้ไปแจ้งฝ่าฝืนเลยไม่ได้” นายวรินทร์ กล่าว

อดีต สว. กล่าวด้วยว่า การอกกฎหมายฉบับนี้เป็นการลิดรอนสิทธิการประกอบอาชีพ การอยู่อาศัย และวิถีชีวิต ประชาชนตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และดำเนินการภายใต้อำนาจพิเศษของ คสช. ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ใช้อำนาจพิเศษดังกล่าวเมื่อฉุกเฉินเท่านั้น แต่กรณีคลองด่านไม่ได้มีอะไรเร่งด่วน

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนในกสม.ได้พิจารณากรณีดังกล่าวและได้ออกแถลงการณ์เรื่อง พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย ละเมิดสิทธิชุมชนโดยมีเนื้อหาโดยสรุปว่าจากการรับฟังข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ได้รับผลกระทบแล้ว กสม.เห็นว่า พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ฯ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ประชาชนไม่ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐก่อน พรบ.จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งเป็นหลักการที่บัญญัติไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 รัฐธรรมนูญปี 2550 และรัฐธรรมนูญ ปี 2557 รัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้น การประกาศใช้ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ฯ จึงมีผลกระทบต่อชุมชนชายฝั่งและชุมชนริมน้ำ อันเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน

หลังจากชาวบ้านคลองด่านร้องเรียน กสม.เกี่ยวกับผลกระทบจาก พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยนั้น กสม.ได้ตอบรับหนังสือร้องเรียนและเตรียมหารือร่วมกันระหว่างชาวบ้าน กสม.และผู้เกี่ยวข้อง จะจัดขึ้น ณ วัดสว่างอารมณ์ ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ในเวลา 13.00น. วันที่ 15มิถุนายน 2560
//////////////////////

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →