เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2560 นายสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พลเองประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.)เตรียมใช้อำนาจมาตรา 44 แพ้ปัญหาการบังคับใช้พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ ว่าการใช้อำนาจของรัฐบาลหรือ คสช.ในการแก้ปัญหาดังกล่าว ไม่อาจจะหยุดปัญหาได้ และเป็นการเร่งรัดกระบวนการแก้ปัญหามากเกินไป ทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมเท่าที่ควร
นายสมบูรณ์กล่าวว่า แนวทางแก้ไขของกระทรวงคมนาคม เป็นเพียงการแก้ปัญหาชั่วคราวหลังโดนกระแสต่อต้านจากประชาชนเท่านั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามตนเสนอว่า เรื่องเวลาในการแจ้งไม่ใช่สาระสำคัญ สิ่งที่สำคัญคือ การวางความหมายและการแยกแยะประเภทสิ่งปลูกสร้างริมน้ำ เช่น ชุมชนริมน้ำทั่วไทยนั้นการสร้างบ้านเรือนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ในอันดามัน ในอ่าวไทยมีทั้งเหมือนและแตกต่าง ตามคลองใหญ่ต่างๆก่อนออกสู่ทะเลก็มีชีวิตอีกแบบ ซึ่งทุกคนล้วนมีที่มาของสิ่งปลูกสร้างต่างกัน ทั้งคน น้ำ ความเชื่อ และวิถีชีวิตเพื่อประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ชุมชน และสาธารณะ ซึ่งเดิมที่สร้างขึ้นโดยไม่ข้อพิพาทข้อขัดแย้งและใช้ชีวิตจากรุ่นเก่าจนเกิดเป็นรุ่นใหม่ บางคนมีแค่บ้านหลังเดียวริมน้ำที่ปรับปรุงสืบทอดมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ และไม่เคยคิดไปหาที่ดินภายนอก ทำให้ชีวิตผูกพันกับชุมชนริมน้ำมาตลอด
“ ถามว่าเรื่องคนรุกเพื่อธุรกิจใหญ่ๆมีจริงมั๊ย มันมี เรื่องคนเห็นแก่ตัวสร้างมีมั๊ย ก็มี เราไม่ปฏิเสธอยู่แล้ว แต่ที่ผมอยากให้คิด คือ ก่อนหน้านั้น คือชาวบ้านจองพื้นที่บางคนแค่จอง แค่สร้าง ไม่รู้ไปแจ้งการครอบครองที่ไหน รู้แค่ว่าอยู่ไหนเดินเรือสะดวกก็อยู่ อย่างเกาะลิบงในท้องทะเลอันดามัน กลุ่มนี้เป็นประมงพื้นบ้านเรือเล็กๆ ถ้ารัฐให้ไปแจ้งครอบครองจ่ายค่าปรับจะปรับแค่ 1 บาท แล้วจ่ายค่าธรรมเนียม ถ้าเงินเขาไม่พอ เท่ากับว่าเขาเสียที่ดินไปเลยนะ เสียดินแดนและเสียทรัพย์ทั้งชีวิต คือ ไร้บ้านเลยแหละ เวลาที่รัฐเพิ่งประกาศขยายและการแก้ไขโดยนับอายุบ้าน 100 ปียกเว้นค่าปรับ ค่าธรรมเนียม ผมถามว่า มีบ้านกี่หลังที่อายุเกิน มีสิ่งปลูกสร้างกี่ชิ้นที่เกิน แบบนี้ไม่ยุติธรรม” นายสมบูรณ์ กล่าว
เลขาธิการกป.อพช.ภาคใต้กล่าวด้วยว่า สาระของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ ปราศจากการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตามมาตรา 77 ที่มีความว่า “รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมาย ที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน ดังนั้นต้องกลับไปคุยในรายละเอียดว่าจะออกกฎหมายทั้งทีต้องฟังใครบ้าง อย่างไรก็ตามยืนยันว่าควรชะลอกฎหมายและเริ่มกระบวนการใหม่ที่ถูกต้อง
ด้านนางจันทา รองงาม ชาวชุมชนริมน้ำคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้ กล่าวว่า การแก้ปัญหาของกระทรวงคมนาคมที่ยกเว้นค่าธรรมเนียมให้คนเลี้ยงปลากระชัง เป็นผลดีต่อคนเลี้ยงปลา แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาภาพรวม คนคลองด่านอยู่ริมน้ำและใช้แม่น้ำสัญจรมาก่อนการมีถนนดังนั้นการพึ่งพาสายน้ำเป็นชีวิตประจำวันไปแล้ว การจะมากำหนดอัตราค่าปรับแล้วจะให้อำนาจ มาตรา 44 มากำหนดกรอบเงื่อนไขเช่นนี้ มันผิดหน้าที่รัฐบาล เพราะรัฐกำลังเดินหน้าหากินจากค่าเช่าที่ดินริมน้ำที่ประชาชนใช้มานาน
นางจันทากล่าวว่า รัฐบาลกำลังทำให้ชีวิตปกติสุขของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปเป็นผู้เดือดร้อนจากแผนพัฒนาของรัฐ อย่างไรก็ตามในระหว่างที่รัฐบาลประกาศขยายเวลาการแจ้งครอบครองนั้น ทางชุมชนคลองด่านจะรวมกลุ่มและประชุมชาวบ้านในเร็วๆนี้เพื่อปรึกษาหารือถึงแนวทางแก้ปัญหาต่อไป เพราะทางออกของกระทรวงคมนาคม ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนอย่างไรก็ตามในระหว่างที่รัฐบาลประกาศขยายเวลาการแจ้งครอบครองนั้น ทางชุมชนคลองด่านจะรวมกลุ่มและประชุมชาวบ้านในเร็วๆนี้เพื่อปรึกษาหารือถึงแนวทางแก้ปัญหาต่อไป เพราะทางออกของกระทรวงคมนาคม ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน