Search

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯเสด็จเปิดสัมมนา “ปัญหาทางกฏหมายสัญชาติ” กสม.เปิดเวทีระดมสมองแก้คนไร้รัฐ


เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2560 เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติและสิทธิในความเป็นพลเมืองของรัฐไทย” จัดโดย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และภาคีเครือข่ายฯลฯ

นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถวายรายงานบางตอนว่า เมื่อจะพูดถึงปัญหาของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาตินั้นขออันเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) เคยมีพระราชทานพระดำรัสไว้ มีใจความตอนหนึ่งว่า“ประชาชนที่อยู่ในประเทศเขามีมานานแล้ว แต่ก็ไม่เป็นคนไทย คือ เขาถือว่าไม่เป็นคนไทยแท้จริง เขาอยู่และเกิดในเมืองไทย แต่ก็ไม่ได้รับประโยชน์ของความเป็นไทย นี้เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติเหมือนกัน เพราะหากว่ามีคนอยู่ในเมืองไทยและมีความน้อยใจมาก ไม่มีใครเอาใจใส่ ก็จำทำให้ความมั่นคงของประเทศด้อยไป” นั่นคือพระราชดำรัสเมื่อปีพุทธศักราช 2544 (ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)


นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันของการแก้ปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ในประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้กำหนดนโยบายในการจัดการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยมอบหมายสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช) และกระทรวงมหาดไทย สำรวจจัดเก็บทำทะเบียนประวัติกลุ่มคนดังกล่าวทั้งเพื่อให้เข้าสู่ระบบทะเบียนราษฎร โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 มีคนต่างด้าวที่ได้รับการจดทะเบียนและขึ้นทะเบียนราษฎรมีเลขประจำตัว 13 (ทร. 13) ที่สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ชัดเจนจำนวน 2,586,089 ราย จำแนกเป็นกลุ่มตามสถานการณ์อยู่อาศัยในประเทศไทยต่าง ได้ 6 กลุ่ม ประกอบด้วย 1 กลุ่มคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย (ถือใบสำคัญถิ่นที่อยู่และใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือใบต.ม. 16 ให้เป็นผู้มีสถานะได้รับสิทธิที่อยู่อาศัยถาวรในประเทศไทยมีจำนวน 65,559 ราย เทียบเท่าผู้ได้รับบัตรกรีนการ์ดของสหรัฐอเมริกา

2 กลุ่มคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายหรือผู้ที่ถือหนังสือเดินทางกลุ่มนี้สถานะผู้ได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวอาจเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองได้ถ้าไม่เดินทางออกนอกประเทศเมื่อการอนุญาตสิ้นสุดลง กลุ่มนี้มีชื่อในทะเบียนบ้านตามสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง( ทร. 13) มีราว 45,331 ราย ประเภทที่ 3 กลุ่มชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติติพันธ์ 19 กลุ่ม อาทิ อาข่า จีน ฮ่อ ลาวอพยพ ไทลื้อ ชาวเล ฯลฯ รวมถึงบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนซึ่งรัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาเรื่องสถานะบุคคลและสัญชาติอีก

3 กลุ่มย่อย คือ เด็กนักเรียนนักศึกษา กลุ่มคนไร้รากเหง้า หรือไม่ปรากฏบุพการี หรือถูกบุพการีทอดทิ้งตั้งแต่วัยเยาว์และกลุ่มคนที่ได้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศ กลุ่มนี้เป็นต่างด้าวที่ได้รับผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว รอการส่งกลับประเทศต้นทางตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 488,105 ราย แบ่งเป็นลาวอพยพ 400,731 ราย (อพยพเข้ามา 290,269 ราย และบุตรหลานที่เกิดในไทยจำนวน 110,462 ราย ) เด็กที่กำลังศึกษาเล่าเรียน 78,676 ราย กลุ่มไร้รากเหง้าจำนวน 8,670 ราย และคนที่ทำประโยชน์แก่ประเทศจำนวน 28 ราย

4 กลุ่มแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าลาวและกัมพูชากลุ่มนี้เป็นคนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทางปัจจุบันมีแรงงานที่จดทะเบียนเพื่อขออนุญาตทำงานรวมถึงบุตรที่ติดตามมีอายุไม่เกิน 15 ปีจำนวน 1,588,914 ราย

5 กลุ่มผู้ลี้ภัยจากการสู้รบประเทศพม่าอยู่ในที่ศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัย 4 จังหวัด ได้แก่แม่ฮ่องสอน ตากกาญจนบุรี และราชบุรี มีจำนวน 101,713 ราย ส่งกลับประเทศไปประมาณ 30,000 กว่าราย ส่วนที่เหลือยังอยู่ในการดูแลของ UNHCR และ 6 กลุ่มบุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การได้สัญชาติโดยการเกิดตามหลักดินแดนตั้งแต่มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ในปีพ.ศ. 2515 จนถึงปัจจุบัน โดยมีคนที่เกิดในประเทศไทยและไม่ได้รับสัญชาติไทย แต่ได้รับการจดทะเบียนการเกิดคือมีสูติบัตรจำนวน 316,748 ราย ไม่รวมบุตรแรงงานต่างด้าวสามสัญชาติและบุตรของผู้ลี้ภัยในการสู้รบในพักพิงชั่วคราว การอาศัยอยู่ในประเทศไทยของกลุ่มนี้เป็นไปตามบิดามารดา

นายกฤษฎา กล่าวว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาของคนทุกกลุ่มนั้น แก้ปัญหาทั้งในส่วนการใช้กฎหมายแก้ปัญหาโดยให้กรมการปกครองทำหน้าที่สำรวจข้อมูล และเปิดลงทะเบียน แจ้งเกิด แจ้งสถานะสมรส เป็นต้น เพื่อให้มีเลขประจำตัว 13 หลัก อีกทางคือการใช้นโยบายผ่อนปรนให้คนเข้าเมืองทั้งผิดกฎหมายและถูกกฎหมาย ให้มีสิทธิการศึกษา สิทธิการเดินทาง สิทธิอยู่อาศัย สิทธิด้านบริการสุขภาพ

เวลา 13.00 น.มีเวทีรับฟังปัญหาคนไร้รัฐจากภาคประชาชน และมีการอภิปรายเรื่อง “ปัญหาและแนวทางการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสถานะของบุคคลในประเทศไทย : กฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติ กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และกฎหมายเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร” โดย ผู้แทนหน่วยงานรัฐภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง

นายวีนัส สีสุข ผู้แทนกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสถานะบุคคลของไทย ประกอบด้วยกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายการทะเบียนราษฎร กฎหมายคนเข้าเมือง และกฎหมายสัญชาติ โดยคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ประสบปัญหาสิทธิสถานะบุคคล ได้แก่ 1 กลุ่มที่ไม่มีเอกสารแสดงตนว่าเป็นคนของรัฐใด โดยมีแนวทางแก้ไข เช่น การแจ้งเกิด การเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร 2 กลุ่มคนที่ไม่มีสิทธิในการอาศัยอยู่ในประเทศไทย ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายคนเข้าเมืองให้การอนุญาต 3 กลุ่มที่ลี้ภัยเข้ามายังราชอาณาจักรไทยมาเป็นเวลานานโดยรัฐไทยผ่อนผันให้อยู่ได้ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ เช่น กรณีการหนีภัยสงครามของกลุ่มเวียดนามอพยพ ซึ่งรัฐไทยไม่สามารถส่งกลับได้ นอกจากนี้ยังมีกรณีปัญหาของเด็กที่เกิดในราชอาจักรไทย แต่บิดามารดาไม่ใช่คนไทยจึงทำให้ไม่ได้รับสัญชาติไทย อย่างไรก็ดี กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันมีหลักเกณฑ์ที่เปิดโอกาสให้คนที่เกิดในประเทศไทยได้เข้าถึงกลไกการได้สัญชาติไทยแล้ว ทั้งนี้ยอมรับว่าการพิจารณาให้สถานะบุคคลกับคนกลุ่มใดของรัฐไทยขึ้นอยู่กับการพิจารณาเรื่องสถานการณ์ความมั่นคงในประเทศด้วย

ด้านนางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่า หากมองในแง่พันธะกรณีระหว่างประเทศต่อการแก้ปัญหาสิทธิสถานะบุคคล พบว่า ไทยไม่ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติเช่นเดียวกับที่ประเทศในแถบเอเชียส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าร่วม อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาหลายฉบับ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก กติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งได้กล่าวถึงสิทธิการได้สัญชาติและสิทธิการจดทะเบียนเกิด ประกอบกับที่ผ่านมาไทยมีการดำเนินการจดทะเบียนเด็กแรกเกิดในประเทศได้เป็นจำนวนมากทำให้ไทยได้รับความชื่นชมจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ อย่างไรก็ดี ไทยควรมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา

​ดร.ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาความไร้สัญชาติของรัฐไทย กรณีบุคคลที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่เป็นเวลานานแล้ว (ชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ 19 กลุ่มในอดีต ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรมประเทศไทยได้ผ่อนผันให้ชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่ง “เข้าเมืองผิดกฎหมาย” ให้สามารถ “อยู่อาศัยได้ชั่วคราว” (โดยอาศัยมาตรา 17 พระราชบัญญัติ (พรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี) ต่อมาเมื่อพบว่าคนกลุ่มนี้ไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้ และมีความกลมกลืนกับสังคมไทยแล้ว ประเทศไทยก็ควรเปิดโอกาสให้บุคคลดังกล่าวพัฒนาสถานะบุคคล โดยสามารถขอมี “ถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทยได้ และเมื่อเวลาผ่านไปครบ 5 ปี ก็สามารถยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทยได้

ดร.ดรุณี กล่าวว่า แต่ปัจจุบัน ภายใต้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553 กำหนดให้กลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยกลุ่มต่างๆ ขอแปลงสัญชาติกลับเป็นไปได้ยาก เพราะ) ชนกลุ่มน้อย/ชาติพันธุ์ฯ ที่ตกหล่นมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวนั้นกำหนดให้วันที่ 18 มกราคม 2538 อันเป็นกรอบชี้วัดถึงการอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลา หรือกลมกลืนกับสังคมไทยแล้ว ย่อมไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่ว่า แม้ชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ฯ ซึ่งอพยพเข้ามาในประเทศไทยหลังวันที่ 18 มกราคม 2538 แต่ก็ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติกลุ่มเดียวกัน และนับจนถึงปัจจุบันก็เป็นระยะเวลานานราว 22 ปีแล้วดังนั้น จึงควรต้องกำหนดนโยบาย “ขยายกลุ่มเป้าหมาย” โดยใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลที่กรมการปกครองมีอยู่ อันจะส่งผลให้เกิดการแก้ไขปัญหาในเชิงระบบ และแก้ปัญหาความไร้สัญชาติของชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ รุ่นที่ 1 ได้อย่างสมบูรณ์

“ชนกลุ่มน้อยที่พูดถึงนี้ คือ คนถือบัตรประจำตัวเลข 6 ซึ่งแก้ปัญหามานานแล้ว แต่ก็ยังแก้ไม่ได้สำเร็จทั้งหมด ดังนั้น อย่างแรกแนะนำว่าควรปลดล็อกเงื่อนไขเวลาของการยอมรับชนกลุ่มดังกล่าวก่อน ซึ่งตอนนี้มีราว 300,000 กว่าราย ถ้าทำได้ปัญหาบัตรเลข 6 ก็จะหมดไป หมายถึงต้องไปยอมรับคนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ก่อน แล้วรุ่นลูก รุ่นหลานจะได้สัญชาติไทยตามมา ซึ่งตอนนี้2-3 รุ่นแล้วก็ยังแก้ปัญหากลุ่มนี้ไม่หมดเสียที แนะนำว่าให้สังคมไทยยอมรับเลยว่าเขากลมกลืนกับสังคมไทยแล้ว ไม่ว่าจะพูดไทยได้หรือไม่ก็ตามแต่ควรมีถิ่นที่อยู่ถาวร และยื่นขอแปลงสัญชาติได้” ดร.ดรุณี กล่าว

​ขณะที่นายอริยะ เพชร์สาคร นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.)กล่าวถึงกรณีของปัญหาการเข้าถึงความมีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติของกลุ่มผู้สูงอายุไร้สัญชาติ ว่า ผู้สูงอายุที่มีชีวิตของอยู่บนดอยตามกลุ่มชาติพันธุ์ เวลาต้องการขอสัญชาติไทยมีความยากลำบาก ปัญหาหลักอย่างเรื่องคำถามหลักเกณฑ์ความรู้ประเทศไทย ยกตัวอย่างคำถามเเรก ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบอะไร ภาคไหนของประเทศไทยปลูกยางพารามากที่สุด ภาคไหนปลูกม่อนไหมมากที่สุด เป็นต้น ซึ่งนี่คือคำถามในระดับอำเภอยังเท่านี้ ระดับจังหวัดจะขนาดไหน ทำให้มีผู้สูงอายุไร้สัญชาติน้อยมากที่จะเข้าไปถึงระดับกรมการปกครองได้ ขณะที่หลายครั้งพวกเขายังต้องการล่ามต้องแปลภาษาให้เป็นภาษาไทยง่ายๆ ที่ให้เขาเข้าใจ อีกประเด็นคือ เรื่องการทดสอบการร้องเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี บางคนทำได้ แต่ผู้สูงอายุหลายคนไม่สามารถร้องได้ ถ้าไม่มีคนนำ บางคนตื่นเต้น อายก็ร้องไม่ได้ ทำให้การพิสูจน์สัญชาติเป็นไปด้วยความลำบาก ซึ่งผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่ทาง พชภ.ได้สำรวจในพื้นที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย มีผู้สูงอายุชาติพันธุ์ไทลื้อยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทยทั้งหมด 23 คำร้อง ขณะที่ ชาติพันธุ์อาข่า 9 คำร้องซึ่งเป็นจำนวนไม่มากแต่มีผ่านแค่ 4 คำร้อง อีก 5คำร้องไม่ผ่าน เพราะเหตุผลที่แตกต่างกันไปทั้งพูดไทยไม่ได้ ตอบคำถามไม่ตรง รายได้ไม่มาก ฯลฯ ซึ่งเหตุผลส่วนนี้อยากให้มีการประนีประนอม เพราะผู้สูงอายุเหล่านี้มาอยู่ในประเทศไทยนาน และประสบปัญหาการเข้าถึงสิทธิหลายด้าน

On Key

Related Posts

กระบอกเสียง SAC แฉแหล่งอาชญากรรมเมืองเมียวดีใช้ไฟฟ้า-อินเตอร์เน็ตจากประเทศเพื่อนบ้าน-ติดต่อกับองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ เผยรัฐบาลทหารพม่าปราบจริงจังส่งกลับชาวต่างชาติแล้วกว่า 5 หมื่นคน

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 หนังสือพิมพ์ The GlobalRead More →

หวั่นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง “แก่งคุดคู้”-“พันโขดแสนไคร้”รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนสานะคามกั้นแม่น้ำโขง ชาวอุบลโวยถูกกีดกันเข้าร่วมเวทีรับฟัง  เลขาสทนช.แจงกลัวเสียภาพลักษณ์ เครือข่ายภาคประชาชนจวกใช้วิธีสกปรก

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 เวลาประมาณ 9.00 น. ณ ห้Read More →