เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ(สวนโมกข์ กทม.) ได้มีการจัดงาน 90 ปี ศ.เสน่ห์ จามริก “ดอกหญ้าไหว สู่ชีวิตและสังคมเสรี ”โดยผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน อาทิ นางรัตยา จันทร์เทียน ดร.เสกสรร ประเสริฐกุล นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ นางสุนี ไชยรส ทั้งนี้ศ.ประเวศ วะสี ได้กล่าวเปิดงานว่า ความเป็นจริงในสังคมปัจจุบันแตกต่างจากสังคมโบราณที่ง่ายและตรงไปตรงมา แต่สังคมปัจจุบันซับซ้อนและเชื่อมโยงกันไปหมดและยากต่อการเข้าใจ ซึ่งการแก้ไขปัญหาโดยใช้แต่เพียงอำนาจจะไม่ได้ผลในสังคมเช่นนี้ เพราะอำนาจใช้ได้ผลในสังคมตรงไปตรงมา แต่สังคมซับซ้อนอำนาจใช้ไม่ได้ผล
ศ.ประเวศกล่าวว่า อุปสรรคของการการพัฒนาในสังคมไทยมีภูเขาอยู่ 3. ลูกใหญ่ๆคือ 1 การรวมศูนย์อำนาจของรัฐซึ่งจะเป็นอุปสรรคใหญ่ 2. ระบบเศรษฐกิจที่ใช้กันทั่วโลกยิ่งพัฒนายิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ ซึ่งในอเมริกาเกิดปรากฏการ 99:1คือพัฒนาไปแล้วคนร้อยละ 99 ไม่ได้ประโยชน์ รายได้ที่เกิดจากทุนมากกว่ารายได้ที่เกิดจากการทำมาหากินทำให้เกิดช่องว่างทางระบบมากขึ้น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาอาชญากรรมและอื่นๆติดตามมาแล้วแก้ไขไม่ได้ 3.ระบบการศึกษาไทยที่ทำมาร้อยกว่าปีซึ่งเอาวิชาเป็นตัวตั้งแต่ไม่ได้เอาความจริงเป็นตัวตั้ง การไม่รู้ความจริงของแผ่นดินไทยทำให้ถูกต้องไม่ได้ ซึ่งทั้ง 3 เรื่องเป็นอุปสรรคขวางกั้นการพัฒนา
“พวกแรกก็คิดทำไปแบบเดิม พวกที่สองก็คิดจะล้มแต่ก็ไม่สำเร็จเพราะพวกแรกเหนียวแน่น ส่วนอีกพวกหนึ่งใช้การวิพากษ์วิจารณ์เป็นหลัก”ศ.ประเวศ กล่าว
ศ.ประเวศกล่าวว่า แนวคิดและแนวทางของอาจารย์เสน่ห์เป็นแนวคิดที่ลึกซึ้งมาก 1.ลงลึกถึงธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ คือมนุษย์มีศักดิ์ศรี มีสิทธิ์เป็นธรรมชาติ ซึ่งสำคัญมากเพราะถ้าคนมีสำนึกในตัวเองแล้วก็จะหลุดออกมาได้ เพราะหากคนถูกมายาคติจองจำไว้ก็จะด้อยศักดิ์ศรีและด้อยศักยภาพ หากคนเราสำนึกในศักดิ์ศรี ความเป็นคนจะมีความสุขลึกล้ำ ที่สำคัญคือเป็นความจริงด้วย ถ้าคนเราอยากทำอะไรแบบมีศักดิ์ศรี ทำให้มีบทบาทและทำอะไรดีๆ เมื่อเขามีสิทธิที่จะมีชีวิตก็มีสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติ แต่รัฐมายึดเอาไปทั้งๆที่เป็นสิทธิของทุกคน
ศ.ประเวศกล่าวว่า อาจารย์เสน่ห์ได้ทำวิจัยเรื่องสิทธิชุมชนไว้มากมาย สะท้อนว่าให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเพราะชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานของประเทศ และเป็นแนวทางที่สำคัญเพราะไม่มีพระเจดีย์องค์ใดสร้างจากยอด แต่ต้องสร้างจากฐาน แต่สังคมไทยมักสร้างอะไรจากยอด เมื่อไม่มีฐานรองรับก็อยู่ไม่ได้ แต่อาจารย์เสน่ห์คิดจากการสร้างฐานคือชุมชนท้องถิ่น ท่านทำวิจัยตรงนี้ไว้มากมายและทำงานอยู่นาน ซึ่งตอนนี้ฐานข้างล่างแข็งแรงขึ้นเยอะ ขณะที่ข้างบนยังไม่มีทางลงตัวและยากที่จะลงตัวเพราะข้างบนเป็นเรื่องของอำนาจ เงินและความช่อฉล เพราะฉะนั้นข้างบนไม่สามารถสร้างความถูกต้องได้ จึงต้องสร้างมาจากข้างล่าง
“ทุกวันนี้การศึกษาทำลายความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น เป็นระบบที่ทำให้เกิดความอ่อนแอ เมื่อตอนอ.เสน่ห์เป็นประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ไปชวนนักวิชาการมาร่วมวิจัยเยอะ ท่านใช้ความรู้เป็นเครื่องมือ ท่านปรารภกับผมว่า ในมหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยนักการเมือง เพราะหากเป็นนักวิชาการต้องใช้ความรู้ ผมพยายามคิดชื่อแนวคิดของท่านคือแนวคิดมนุษยนิยม เชื่อมโยงแนวคิดทรัพยากรธรรมชาติแม้ท่านจะเป็นนักรัฐศาสตร์ ท่านมองว่าธรรมชาติเป็นทรัพยากรทางความรู้ และท่านเป็นปัญญานิยาม เลยรวมเป็น 3 นิยม ถือว่าเป็นกระบวนการทัศน์ใหม่ในการพัฒนา”
ขณะทีดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กล่าวว่าอาจารย์เสน่ห์เป็นคนในประเทศนี้เพียงไม่กี่คนที่ตนไม่กล้าโต้แย้งเพราะมีบุญคุณกับตนตั้งแต่เป็นเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอาจารย์เสน่ห์เป็นอาจารย์ ท่านเป็นครูคนแรกที่สอนรัฐศาสตร์ตน ที่สำคัญคือทฤษฏีการเมืองตะวันตกที่อาจารย์สอนได้ขึ้นลูกทางความคิดให้เด็กบ้านนอกคนหนึ่งมาจนบัดนี้
ดร.เสกสรรค์กล่าวว่า ตอนที่ตนได้ทุนจากธปท.ทำวิจัยเรื่องการเมืองภาคประชาชน ตนไปสัมภาษณ์ท่านเรื่องราวยุคโลกาภิวัตน์ ท่านให้เอาองค์ความรู้ก่อนเคลื่อนไหว ตนได้เอาสิ่งเหล่านี้เป็นฐาน ตอนที่ท่านเป็นประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติท่านได้ดำเนินการค้นคว้าเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางมากซึ่งตนได้อาศัยงานเหล่านั้นมาใช้ โดยท่านบูรณาการสติปัญญาเข้ากับวิชาการ สิ่งหนึ่งที่ตนรู้สึกน้อยใจแทนคืออาจารย์ท่านเป็นบุคคลสำคัญยิ่งของประเทศไทยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านไม่เคยเรียกร้องอะไร แต่สังคมน่าจะเชิดชูและศึกษาท่านอาจารย์เสน่ห์มากกว่านี้