เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2560 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีได้เปิดยุทธการสำรวจผืนป่าต้นแม่น้ำเพชร พร้อมกับการป่าวประกาศความสำเร็จผ่านสื่อมวลชนว่าได้สามารถจับกุมขบวนการแผ้วถางป่า โดยยึดของกลางที่เป็นซากสัตว์ป่าและอาวุธได้ พร้อมทั้งจับกุมคนร้ายได้ 1 คนชื่อว่านางแอะนอ พุกาด ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บ้านบางกลอย

การจับชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย มิใช่ครั้งนี้เป็นครั้งแรก โดยที่ผ่านมาได้มีการจับกุมอยู่หลายครั้งจนกลายเป็นรูปแบบที่ชินตาคือจับกุมชาวกะเหรี่ยงพร้อมกับตั้งข้อหาแผ้วถางป่าโดยมีของกลางต่างๆ อาทิ ปืน ซากสัตว์ รวมทั้งภาพต้นไม้ใหญ่ถูกตัดโค่น ซึ่งนำมาประกอบการแถลงข่าว บางครั้งยังโยงไปเรื่องยาเสพติด และปัญหาชนกลุ่มน้อยด้วย

นับตั้งแต่มีการบังคับให้ชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยย้ายจากถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมในพื้นที่ “ใจแผ่นดิน”ซึ่งอยู่ในป่าแก่งกระจานต้นน้ำเพชรลงมาอยู่ด้านล่างที่เรียกว่า “บางกลอยล่าง”ตั้งแต่ปี 2539 สถานการณ์ในป่าใหญ่แห่งนี้ก็ไม่เคยสุขสงบเลย

ที่ดินทำกินที่อุทยานฯจัดไว้ให้ชาวบ้านที่ถูกอพยพแทบใช้การไม่ได้เพราะเป็นดินลูกรังและไม่มีแหล่งน้ำ

“ฉันอยู่ในป่าใหญ่บางกลอยมาตั้งแต่เกิด พ่อแม่ฉันก็อยู่และทำกินอยู่ที่นั่นมาหลายชั่วอายุคน ถ้าฉันต้องติดคุก ใครมาให้ข้าวฉัน ฉันก็ไม่กิน ฉันรู้สึกโกรธมากที่ทำไร่อยู่ก็ถูกจับ”นางแอะนอ วัย 40 ปี พูดเป็นภาษากะเหรี่ยงผ่านล่าม ระบายความรู้สึกกดดันอย่างมากนับตั้งแต่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯจับกุมเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2560

นางแอะนอเกิดที่หมู่บ้านบางกลอย ซึ่งครั้งหนึ่งกระทรวงมหาดไทยเคยขึ้นทะเบียนให้หมู่บ้านแห่งนี้เป็นชุมชนถูกต้องตามกฎหมาย แต่ภายหลังหมู่บ้านแห่งนี้กลับถูกลบชื่อหายไป แต่ขณะนี้นางมีเพียงบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ขณะที่สามีได้บัตรประชาชนเรียบร้อยแล้ว แต่โชคร้ายที่เมือ 2 ปีก่อนสามีได้เสียชีวิต

“เขาบอกว่าฉันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง ก็นั่นเป็นปืนของสามีฉันที่ตายไปแล้ว เป็นปืนแก็บธรรมดา พร้อมตะกั่ว ฉันล่าสัตว์ไม่เป็นและไม่เคยยิงปืน ผู้หญิงที่นี่ไม่ได้ล่าสัตว์ แค่ไปทำไร่” นางแอะนอยืนยันความบริสุทธิ์ในข้อหาล่าสัตว์ป่า โดยนางระบุว่าหัวเก้งที่เจ้าหน้าที่นำมาแถลงข่าวนั้น ไม่ใช่ของนาง และเป็นการนำมาจากที่อื่น

“ฉันไม่ได้แผ้วถางป่า แต่ฉันทำไร่ของฉันปกติ เป็นไร่หมุนเวียนที่เราทำกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ฉันจำเป็นต้องทำมาหากินเพราะตั้งแต่ย้ายลงไปอยู่ข้างล่าง ฉันก็ไม่มีที่ทำกิน จะไปรับจ้างก็ไม่ได้เพราะไม่มีบัตรประชาชนและพูดภาษาไทยไม่ได้”

ในปี 2539 อุทยานฯได้ย้ายชาวบ้านบางกลอย 57 ครอบครัว จำนวน 391 คน โดยสัญญาว่าจะจัดสรรที่ทำกินให้ แต่กลับไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ จนชาวบ้านจำนวนหนึ่งหนีกลับขึ้นไปอยู่ถิ่นฐานเดิม จนกระทั่งปี 2554 อุทยานฯได้เปิดยุทธการตะนาวศรี ผลักดันชาวบ้านบางกลอยทั้งหมดลงมาไว้ข้างล่างอีกครั้ง แต่การอพยพครั้งนี้ต้องสูญเสียมากมายเนื่องจากเฮลิคอปเตอร์ตกถึง 3 ลำในเวลาไล่เลี่ยกัน

อุทยานแก่งกระจานร่วมกันแถลงข่าว

นางแอะนอและสามีอยู่ในเหตุการณ์ที่ทางอุทยานฯจัดทำยุทธการต่างๆมาโดยตลอด แม้ทราบดีว่าการขึ้นไปทำไร่ในที่ดินทำกินดั้งเดิมจะฝ่าฝืนข้อห้ามของอุทยาน แต่ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยต่างก็ต้องทำเพราะไม่มีทางเลือกของชีวิต เพราะจนถึงปัจจุบันการจัดสรรที่ดินทำกินให้ชาวกะเหรี่ยงที่ถูกบังคับให้อพยพลงมาก็ยังมีปัญหา ทั้งเรื่องที่ดินไร้คุณภาพ และปริมาณไม่เพียงพอเหมือนที่รับปากเอาไว้

“ถ้าความยุติธรรมมีจริง เขาคงไม่จับคนทำไร่ ตั้งแต่เกิดมาฉันก็ทำไร่ ปลูกข้าว ปลูกพริก ถ้ามีชีวิตอยู่แล้วไม่มีข้าวกิน เราจะอยู่ได้อย่างไร”นางแอะนอรู้สึกท้อแท้เพราะถูกตั้งข้อหาถึง 9 คดี ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ในชั้นอัยการ แต่สิ่งที่นางรู้สึกเป็นกังวลมากๆคือลูกๆทั้ง 4 คนที่ส่วนใหญ่อยู่ในวัยกำลังกินกำลังเรียน ทั้งนี้ “ไร่หมุนเวียน” เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมที่มีงานศึกษารับรองว่าสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้

ตราบใดที่การจัดสรรที่ดินทำกินในป่าแก่งกระจานยังไม่ได้รับการแก้ไข และแสงสว่างแห่งความยุติธรรมยังไม่เกิดขึ้น เรื่องราวแบบนางแอะนอ ก็เป็นเพียงใบไม้ล่วงในป่าใหญ่ ซึ่งไม่มีใครสนใจ และเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.