สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ผู้บังคับการนรข.หวั่นโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงกระทบเขตแดนไทย-ลาว เผยอนาคตอาจเป็นข้ออ้างให้จีนใช้เรือลาดตระเวนผ่าน ประธานหอการค้าเชื่อจีนมุ่งนำสินค้าลงใต้ ห่วงเชียงแสน-เชียงของทรุด


เมื่อวันนี้ 17 กรกฎาคม 2560 คณะกรรมาธิการบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำโดย พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมาธิการ พลเอกอู้ด เบื้องบน ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ พลเอกสุนทร ขำคมกุล กรรมาธิการและประธานอนุกรรมาธิการการป้องกัน การรักษาความมั่นคงประเทศและกิจการทหาร พลอากาศเอกอิทธพร ศุภวงศ์ กรรมาธิการ/รองประธานอนุกรรมาธิการป้องกัน การรักษาความมั่นคงและกิจการทหาร และพร้อมคณะจำนวน 25 คน ได้เดินทางลงพื้นที่รับฟังข้อมูลเกี่ยวกับโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดือนเรือในแม่น้ำล้านช้าง–แม่น้ำโขง หรือโครงการระเบิดแก่งระยะที่ 2 ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอเชียงของ จ.เชียงราย โดยเชิญตัวแทนกลุ่มรักษ์เชียงของ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวน 60 คน

พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ กล่าวว่า 2 อนุกรรมาธิการที่มา มีอนุกรรมาธิการด้านความมั่นคงกิจการทหาร ที่สนใจเกี่ยวกับปัญหาชายแดน การดำเนินงานของจังหวัดต่างๆ ได้เดินทางไปพบปะประชาชน แต่ไม่บ่อยมากนัก การเดินทางมาจังหวัดเชียงรายถือเป็นพื้นที่มีความสำคัญมาก มีปัญหาทั้งเรื่องชนกลุ่มน้อย ชายแดน และแม่น้ำโขง ซึ่งเราอยากมารับทราบด้วยตนเอง และทราบว่า เชียงรายจะเป็นศูนย์กลางของอะไรหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะในเรื่องคมนาคม มีบทบาทสำคัญและอยากมาดูเรื่องการเตรียมการอะไรบ้าง ขอบคุณที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

นายชำนาญ สรรพลิขิต ปลัดอาวุโส อำเภอเชียงของ ได้บรรยายสรุปยุทธศาสตร์การพัฒนาเชียงของว่า อำเภอเชียงของ เป็นศูนย์กลางการคมนาคม โดย R3A มีการขนส่งทางน้ำโขง มีสนามบินขนาดเล็ก โดยต.เวียง เป็นเมืองศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจ มีแผนพัฒนา “หนึ่งเมืองสองแบบ” โดยแผนพัฒนาเชียงของเป็นการพัฒนาร่วมกันทุกตำบล

นาวาเอกชลทัย รัตนเรือง ผู้บังคับหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขงเขต (นรข.)เชียงราย กล่าวว่า ปัญหาเกาะดอนและการแบ่งเขตแดนแม่น้ำโขง ไทย-ลาว อ้างอิงตามอนุสัญญา 2469 “ตามอนุสัญญา 25 สิงหาคม 2469 ข้อที่ 3 กำหนดเส้นเขตแดนไทย-ฝรั่งเศสตามร่องน้ำลึก หากตรงที่ใดมีเกาะให้ใช้ร่องน้ำลึกที่ใกล้ฝั่งไทยมากที่สุดเป็นเส้นเขตแดน” โครงการระเบิดเกาะแก่งออกจะทำให้ให้ร่องน้ำลึกและทิศทางน้ำเปลี่ยน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการปักปันเขตแดน มีเพียงแผนที่สมัยที่ฝรั่งเศสได้ทำไว้ แต่ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากยังเป็นแผนที่มีการใช้มือขีดแบ่งเส้นเขตแดน

ทั้งนี้ข้อตกลงเกี่ยวกับเขตแดนไทย-ลาว JBC ก.ย. ปี 2539 กรณีดอนมะโน ดอนสวรรค์ มีความพยายามที่จะถมดินเชื่อมต่อระหว่างดอนและแผ่นดินใหญ่ ส่วนปี 2552 ยังไม่ยอมรับกรรมสิทธิ์ของฝ่ายลาว และรักษาสถานะเดิมไว้ และให้ความคุ้มครอบการทำเกษตรบนดอนดังกล่าว ต่อมาเหตุการณ์ ธันวา 2557 ทางลาวได้มีการถมดินไปยังแม่น้ำโขงเพื่อเชื่อมต่อกับดอนสวรรค์ ที่เชียงแสน ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศและฝั่งไทยตลิ่งพัง กลายเป็นการสร้างดอนขึ้นมาใหม่ ลักษณะคล้ายดอนซาวในเขตเชียงแสน ที่แผ่นดินเชื่อมต่อกันแล้ว ทางนรข.ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังสปป.ลาว และเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 ได้มีการตรวจพบการขุดตักทรายบริเวณกว้าง ตรงข้ามแก่งไก่ ในอนาคตคาดว่าจะมีการขุดตักทรายบนแม่น้ำโขงมากขึ้น เนื่องจากมีการก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาเส้นเขตแดนในอนาคตได้ และในช่วงของการสำรวจของเรือจีนกรณีโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือบนแม่น้ำโขง ทางนรข.ได้จัดเจ้าหน้าที่เพื่อสังเกตการณ์การปฏิบัติงานของเรือทั้ง 3 ลำ เป็นการตรวจสอบ อุปกรณ์และแผนการดำเนินงานในแต่ละวัน

นาวาเอกชลทัยกล่าวว่า ปัญหาด้านความมั่นคง ปัจจุบันนี้คือเรือลาดตระเวนจีนได้มีการลาดตะเวนร่วมกับลาวและเมียนมา โดยเรือลาดตระเวนได้หยุดอยู่ที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ส่วนน่านน้ำไทยมีตำรวจน้ำไทยเป็นผู้รับผิดชอบ เรือลาดตระเวนของจีนจะไม่เข้ามาเขตแดนไทยลาว ในปัจจุบันเรือสินค้าของจีนมาหยุดที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน หากมีการปรับปรุงร่องน้ำ เรือของจีนจะไปถึงหลวงพระบางในลาว อาจจะเป็นข้ออ้างที่เรือลาดตระเวนของจีนเข้ามาในพื้นที่ไปถึงหลวงพระบาง ซึ่งที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานได้สนใจติดตามเรื่องราวดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น คณะกรรมาธิการเขตแดนไทย-ลาว กองทัพเรือ ศูนย์ข่าวกรองแห่งชาติ ได้มีการจัดเสวนา มีการติดตามและปัญหาของการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว อาจจะส่งผลกระทบต่อสภาพกายภาพของแม่น้ำโขงและชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร ซึ่งได้มีการนำเสนอผลต่อคณะรัฐมนตรีให้รับทราบ

นายนิวัตน์ ร้อยแก้ว ตัวแทนกลุ่มรักษ์เชียงของ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญของแม่น้ำโขง และข้อวิตกกังวลต่อโครงการระเบิดแก่ง โดยกล่าวว่า ประเด็นเรื่องความมั่นคงเป็นเรื่องสำคัญมากพอๆ กับประเด็นด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมของคนท้องถิ่น สิ่งสำคัญคือ ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนเลยว่า ประชาชนท้องถิ่นและประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการเดินเรือ 500 ตัน แต่สิ่งที่เรารู้อยู่แล้วคือ เราได้ประโยชน์จากการค้าทางเรือเชียงแสน การค้าทางสะพานมิตรภาพเชียงของ ที่เราได้ประโยชน์ปีละหมื่นกว่าล้านและส่งออกสินค้าอยู่แล้ว ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจปรากฏชัดอยู่แล้ว เรามีทางเลือกที่เราได้ประโยชน์ชัดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงยังไม่เห็นประโยชน์จากโครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง มีแต่จะเสีย โดยเฉพาะประเด็นความมั่นคงของชายแดน หากเราศึกษาถึงสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จะพบว่ามีแนวคิดสำคัญมากเรื่องการรักษาเมืองเชียงของและเชียงแสนไว้เป็นเมืองหน้าด่าน เมืองเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ดังนั้นประเด็นเรื่องความมั่นคงทางชายแดน เป็นเรื่องอยากให้สนช.และรัฐบาลพิจารณาให้มาก

นายธนิสร กระดุฎพร ประธานหอการค้าอำเภอเชียงของ กล่าวว่าหลังการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เมื่อก่อนท่าเรือบั๊ค เป็นท่าเรือข้ามเพื่อการท่องเที่ยวและค้าขาย ทางลาวปิดการใช้ passport ไป และให้ไปใช้สะพานแทน ทำให้เมืองชั้นในได้รับผลกระทบอย่างหนักเพราะนักท่องเที่ยวหายไป 80 % ผู้ประกอบการรับจ้างหายไปเช่นกัน แต่ในอนาคตอยากจะให้จะเปิดให้ใช้ passport ไทย-ลาว ส่วนการผ่านแดนที่สะพานมิตรภาพ เรื่องการจัดเก็บภาษีของลาว ฝั่งไทย ไม่มีปัญหา ในลาวมีการปรับอัตราภาษีเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ไม่ได้มีการแจ้งผู้ประกอบการล่วงหน้า เพราะการซื้อขายของผู้ประกอบการมีการเซ็นสัญญารายปี

นายธนิสรกล่าวว่า อยากให้ทางการลาวมีมาตรฐานที่แน่นอน ไม่เช่นนั้นในอนาคตเมืองเชียงของอาจจะเงียบไป เพราะการค้าขายกับลาวมีหลายช่องทาง เช่น หนองคาย นครพนม ผู้ประกอบกาอาจจะเปลี่ยนเส้นทางการค้าไปได้ เหมือนเมืองแข่งขันกันเอง ขณะที่ผลกระทบจากโครงการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง จะส่งผลกระทบกับธรรมชาติของแม่น้ำโขงเชียงของและเชียงแสน โดยธรรมชาติที่เชียงแสน เป็นคลองขนาดใหญ่ และเกาะแก่งแม่น้ำโขง เป็นเหมือนเขื่อนธรรมชาติ ลดแรงกระแทกใต้น้ำของแม่น้ำโขง ปัจจุบันเดินเรือ 250 ตันได้อยู่แล้ว ซึ่งกระทบกับเราไม่มาก เมื่อก่อนเรือจีนทดลองวิ่ง ทำให้เกิดมลภาวะทั้งน้ำมันเครื่องและขยะในแม่น้ำ ทำให้ไกในแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบและใช้เวลาหลายปีฟื้นฟู

นายธนิสรกล่าวว่า ผลกระทบกับผู้ประกอบการของไทย เราค้าขายทางเรือและทางบก ขนสินค้าไปขายทางฝั่งลาว เราค้าขายมากว่า 50-60 ปีแล้ว ถ้าจีนวิ่งผ่านไปได้ คงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ในส่วนของการพัฒนาการขนส่งในอนาคตต้องมีความหลากหลาย แต่การพัฒนาถนน R3A ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ และการพัฒนาเส้นทางภายในประเทศของไทยก็อาจจะขาดตอนไป ถ้าการพัฒนาอย่างเต็มที่แล้ว ต่อไปสะพานสามารถรองรับการค้าขายได้มากในอนาคต และระบบรางจะมาอีก ถ้าเราสร้างระบบรางถึงเชียงของ จีนคงทำระบบรางมาถึงห้วยทรายแน่นอน ขณะนี้จีนสร้างทางด่วนถึงบ่อหานแล้ว

พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ได้กล่าวสรุปตอนสุดท้ายว่า ข้อมูลในวันนี้ถือว่านำเสนอได้ละเอียดมาก และเป็นประโยชน์ในการนำไปพิจารณา อยากให้ช่วยกันต่อไป และมีความเป็นห่วง เนื่องจากเป็นเมืองเชียงของเหมือนพื้นที่เมืองเล็กที่ล้อมรอบด้วยกลุ่มใหญ่ ซึ่งเป็นเมืองที่สำคัญและต้องมีการร่วมกันทำงานและพัฒนาการต่อไป

On Key

Related Posts

โฆษก KNU ประกาศไม่เหลือพื้นที่เจรจาให้ SAC ระบุต้องรบให้ชนะเท่านั้น ชวนประชาชนร่วมกำจัดปีศาจร้ายออกจากแผ่นดินกอทูเล เผยพยายามให้กระทบเศรษฐกิจน้อยที่สุด “เศรษฐา” ตั้งกก.ชุดใหญ่ติดตามดูแลสถานการณ์ความไม่สงบในพม่า ให้ปานปรีย์เป็นประธาน

วันที่ 18 เมษายน 2567 พะโดซอตอนี (Padoh Saw Taw NeRead More →

NUG เชื่อการปฏิวัติเข้าใกล้ชัยชนะ ส่งจดหมายกระชับไมตรีกองทัพว้า ชื่นชมมีส่วนสำคัญถอนรากSAC จับตาความเปลี่ยนแปลงภายหลังทูตจีนพบอดีต 3 นายพลผู้นำพม่า

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →

นักวิชาการหลายสถาบันเห็นพ้องทบทวนโครงการผันน้ำยวม ชี้ไม่คุ้มค่าการลงทุนนับแสนล้าน-ปริมาณน้ำไม่พอ-อีไอเอไม่คลอบคลุม ชาวบ้านผู้รับผลกระทบวอนให้ลงดูพื้นที่จริง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องประRead More →

ร่วมรำลึก 10 ปี ‘บิลลี่’ ถูกอุ้มหาย ชี้สูญชีวิตแต่ไม่สูญเปล่า ไทยเกิดกฎหมายป้องกันคนหาย และเป็นแรงบันดาลใจคนบางกลอยรุ่นใหม่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแมRead More →

ย้ายอองซานซูจี-อูวินมิ้น ออกจากเรือนจำไปบ้านพักเหตุสุขภาพย่ำแย่ ฝ่ายต่อต้านโจมตีโรงเรียนนายร้อยทหารในเมืองปวินอูหลิ่น มีผู้เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 12 นาย

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 เมษายน 2567  สำนักข่าว ChindRead More →