หลังรัฐบาลรัฐกะเหรี่ยงไฟเขียวให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,280 เมกกะวัตต์ในเมืองผาอัน รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งจะก่อสร้างโดยบริษัทร่วมไทย-ญี่ปุ่น บริษัท โตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้ล่าสุด กลุ่มนักเคลื่อนไหวและผู้ที่ทำงานภาคสังคมกะเหรี่ยงที่จัดตั้งกลุ่มเฉพาะกิจขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์เตือนให้ประชาชนในรัฐกะเหรี่ยงตระหนักถึงผลดีและผลเสียของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผ่านการอบรมด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชาวบ้านระหว่างวันที่ 20 ก.ค.ถึงวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ โรงงานไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างขึ้นในเมืองผาอันนั้นจะตั้งอยู่ในพื้นที่ระหว่าง 3 หมู่บ้านคือ หมู่บ้านวุตจี หมู่บ้านโตนถ่าว และหมู่บ้านโตนเอ่ง มีการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จากการเปิดเผยของชาวบ้านเผยว่า ชาวบ้านในพื้นที่นั้นยังมีความรู้ในเรื่องนี้น้อยมาก
“ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้มีความเข้าใจในเรื่องการมาวัดผลและประเมิน คนที่เข้ามาสำรวจได้มาประเมินในไร่ของชาวบ้านบางคนเท่านั้น ชาวบ้านท้องถิ่นไม่ได้มีความรู้เรื่องโครงการ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ชาวบ้านมีความกังวลเป็นอย่างมาก” นายซอซาตู จากหมู่บ้านโตนถ่าว กล่าว
สืบเนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันและการขาดแคลนข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโครงการ ทำให้นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและองค์กรภาคสังคมท้องถิ่นได้มารวมตัวกันในชื่อ “กลุ่มทำงานด้านถ่านหินรัฐกะเหรี่ยง” (Karen State Coal Working Group) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
นายซอตาโบ วิทยากรอบรมจากกลุ่ม Karen State Coal Working Group กล่าวว่า ขณะนี้ทางกลุ่มได้ติดต่อกับหมู่บ้านต่างๆ โดยได้อบรมให้ความรู้ถึงข้อดีและข้อเสียของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตลอดจนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และกฎหมายให้กับชาวบ้าน รวมถึงอบรมในเรื่องหลักการ ความยินยอมอย่างสมัครใจ ล่วงหน้า และได้รับข้อมูลพอเพียง (free, prior and informed consent – FPIC) ให้กับชาวบ้าน โดยนายซอตาโบ ระบุ”เป็นสิทธิของคนพื้นเมือง”
ขณะที่ข่าวของการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและแผนของรัฐบาลที่จะพึ่งพาพลังงานจากถ่านหินมากขึ้นได้ถูกต่อต้านอย่างหนัก เช่น เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา องค์กรกะเหรี่ยงกว่า 30 องค์กรได้ออกแถลงการณ์ประณามการใช้พลังงานจากถ่านหิน และเรียกร้องให้รัฐบาลมองหาพลังงานทางเลือกอื่นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงาน โดยได้มีองค์กรต่างๆ จากทั่วประเทศมากกว่า 100 องค์กร สนับสนุนแนวคิดนี้
จากข้อมูลของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย (Asian Development Bank – ADB) เผยว่า ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในพม่าเพิ่มขึ้น 13% ต่อปี โดยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าประมาณ 13,410 เมกกะวัตต์ภายในปี 2573 ซึ่งรัฐบาลพม่าคาดหวังที่จะพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินสะอาด
อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักสิ่งแวดล้อมได้แสดงความกังวลว่า มลพิษที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินจะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศและทางน้ำ รวมทั้งทำให้เป็นการเพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในพม่า และจะมีผลเสียต่อเรือนกระจกอีกด้วย
ที่มา Karen News
แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ