สื่อพม่ารายงานว่า เมื่อวันอังคาร (22 ส.ค.) ที่ผ่านมา กองทัพอาระกัน (Arakan Army) ได้เข้าโจมตียึดฐานที่มั่นสำคัญของกองทัพปลดปล่อยอาระกัน (Arakan Liberation Army – ALA) ในเมืองปะแล็ตวา รัฐชิน ใกล้กับชายแดนอินเดียและบังกลาเทศ ขณะที่ทั้งสองกลุ่มต่างก็เป็นกลุ่มติดอาวุธเชื้อชาติอาระกันหรือยะไข่เช่นเดียวกัน แต่ทาง ALA นั้นได้ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าแล้ว
ขณะที่กองทัพ AA เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาไม่นานและเป็นพันธมิตรที่ดีกับกองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) กองทัพปะหล่อง TNLA และกองทัพว้า UWSA เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มที่ยังไม่ลงนามหยุดยิงแห่งชาติกับรัฐบาลพม่า
ก่อนหน้านี้ทาง AA นั้นเคลื่อนไหวอยู่แต่เฉพาะในรัฐคะฉิ่นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา AA ได้เคลื่อนไหวร่วมกับทหารคะฉิ่น KIA และทหารปะหล่อง TNLA รบกับทหารพม่าในรัฐฉานด้วย แม้ทางกองทัพ AA จะกระจายกำลังเข้ามาตั้งฐานทัพทางเหนือในรัฐอาระกันตั้งแต่เมื่อปี 2558 แต่ไม่เคยมีเหตุสู้รบกันเองระหว่างทหาร AA กับทหาร ALA จนกระทั่งเกิดเหตุเมื่อวันอังคารที่ผ่านมานี้
มีรายงานว่า การปะทะกันที่ผ่านมา ทำให้มีทหาร ALA เสียชีวิต 2 นาย และบาดเจ็บอย่างหนัก 3 นาย รวมทั้งสูญหายอีก 2 นายด้วย ทาง ALA ได้ออกมาเปิดเผยว่า แม้ทางกลุ่มจะถอนกำลังจากฐานที่มั่นตนแต่ก็ยังคงถูกทหาร AA โจมตีอย่างต่อเนื่อง ระหว่างเกิดเหตุสู้รบกัน ทาง ALA มีกำลังพลอยู่เพียง 20 นาย ขณะที่ AA มีกำลังพลจำนวน 70 นาย
มีรายงานด้วยว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุสู้รบกัน ทางทหาร AA ได้จับกุมตัวทหารของ ALA จำนวน 2 นาย ที่ฝั่งชายแดนอินเดีย โดยระหว่างสู้รบกัน ทางทหาร AA ยังได้ยิงปืนใหญ่ขนาด 60 มม.ใส่ฐานที่มั่นของ ALA จนทำให้ทางทหาร ALA ไม่สามารถต้านทานได้และได้ยอมสละที่มั่นของตน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้นำของ ALA ได้ส่งหนังสือเพื่อเปิดเจรจากับทาง AA แต่ก็ยังไม่มีท่าทีใดๆ จาก AA จนถึงขณะนี้ โดยทาง ALA ยังคงตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดทางกองทัพ AA ถึงต้องมาโจมตีคนสายเลือดเดียวกัน ขณะที่ทางผู้นำระดับสูงของ AA ซึ่งประจำอยู่ในประเทศไทยก็ไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด
ด้านนายอูหม่องหม่องโซ ผู้เชี่ยวชาญด้านชาติพันธุ์วิเคราะห์ว่า ปัญหาการสู้รบระหว่างชาติพันธุ์ด้วยกันเอง อาจจะมาจากหลายสาเหตุ ทั้งปัญหาดินแดนหรือเรื่องความเห็นต่างทางการเมือง อย่างไรก็ตาม กองทัพ AA ซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นได้ไม่นาน ขณะนี้กำลังเป็นที่ชื่นชอบและได้รับการสนับสนุนจากชาวอาระกันหรือ ชาวยะไข่เป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา ทางกองทัพอาะกัน AA ได้โพสต์จดหมายเตือนเป็นภาษาอาระกันลงในหน้าเพจของตัวเองว่า ทางทหาร ALA กล่าวหาทางกลุ่มรีดไถเงินชาวบ้านใกล้ชายแดนบังกลาเทศ โดยทาง AA ได้ออกมาเตือนหากไม่หยุดพฤติกรรมดังกล่าว ทางกองกำลัง AA ก็จะตอบโต้
ด้านผู้นำ ALA อย่าง ดอว์จอเมียะหร่าจะลิน แสดงความคิดเห็นว่า ศึกสายเลือดระหว่างชาติพันธุ์เดียวกันไม่ได้ส่งผลดีใด ๆ ต่อคนยะไข่ และอีกฝ่ายก็ไม่ควรเข้ามายึดฐานที่มั่นของอีกฝ่าย การที่กองทัพ AA เข้ามาในรัฐอาระกัน ทาง ALA มุ่งหวังว่า ทาง AA จะเข้ามาอย่างเป็นมิตรแบบพี่น้องกับทางกลุ่ม แต่ไม่เคยคาดหวังว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ โดยหากเป็นเพราะเรื่องปัญหาการเมือง ทาง ALA เรียกร้องให้ใช้การเมืองแก้ปัญหา ไม่ควรใช้การทหารเข้าแก้ปัญหา ทั้งนี้ ทาง ALA ยังได้เรียกร้องขอคืนฐานที่มั่นของตน
กองทัพ ALA นั้นก่อตั้งมายาวนาน 50 ปี และเป็น 1 ใน 8 กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2558 ขณะที่ทางกองทัพ AA ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2552 และทหารส่วนใหญ่ของกองทัพ AA ได้รับการฝึกจากโรงเรียนทหารของกองทัพคะฉิ่น KIA โดยคาดว่ามีกำลังพลอยู่ราว 2,500 นายและกำลังเสริมอีกราว 10,000 นาย กองทัพ AA นั้นเป็น 1 ใน 7 กลุ่มติดอาวุธพันธมิตรทางเหนือ ซึ่งนำโดยกองทัพว้า และทั้ง 7 กลุ่มนั้นยังไม่ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า
ที่มา Irrawaddy/Tai Freedom
แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ