Search

วิกฤตผู้พลัดถิ่นในพม่า มิใช่มีแค่โรฮิงญา


หัวหน้าศูนย์พักพิงของผู้หนีภัยการสู้รบชาวไทใหญ่หลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ชาวบ้านที่อยู่ในศูนย์จะยังยืนหยัดอาศัยอยู่ในศูนย์ของผู้พลัดถิ่นที่อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่าต่อไป ไม่ใช่ว่าพวกเขาอยากอยู่ แต่พวกเขาไม่กล้าย้ายกลับสู่ภูมิลำเนาเดิม เพราะกลับไปก็เสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตเนื่องจากในหลายพื้นที่ยังตกอยู่ในสถานการณ์สู้รบอย่างรุนแรงและมีทหารพม่าประจำอยู่ตามจุดต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย

ผมมีโอกาสนั่งฟังเสียงสะท้อนของชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงฯ ซึ่งมาร่วมเวทีที่โครงการศึกษาความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

กระบวนการสันติภาพในพม่าที่ดูเป็นจริงเป็นจังขึ้น ภายหลังจากรัฐบาลนางอองซานซูจีชนะการเลือกตั้งเมื่อปีเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ได้กดดันให้ผู้หนีภัยการสู้รบที่อาศัยอยู่ในศูนย์ผู้ลี้ภัยอพยพกลับถิ่นฐานเดิม โดยองค์กรสาธารณะกุศลตะวันตกที่ให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ได้ทยอยตัดความช่วยเหลือลงเป็นระลอก และภายในเดือนกันยายนปีนี้จะตัดงบประมาณที่เคยใช้ซื้ออาหาร โดยเฉพาะข้าวสารทั้งหมด โดยเริ่มจากศูนย์พักพิงที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้กับ UNHCR ก่อน ซึ่งในจำนวนนี้เกือบทั้งหมดเป็นศูนย์ผู้พลัดถิ่นของชาวไทใหญ่ที่มีอยู่ 6 แห่ง บริเวณชายแดนไทยด้านจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีชาวบ้านที่หนีภัยการสู้รบมาอาศัยอยู่ราว 6,200 คน


ตั้งแต่ปี 2539 ทหารพม่าเข้าไปบุกกวาดล้างใหญ่ในตอนกลางของรัฐฉาน และบังคับให้ชาวบ้านออกจากบ้านเรือนและย้ายไปอยู่ที่อื่น เพราะหวั่นเกรงว่าจะเป็นแนวร่วมกับกองกำลังติดอาวุธกู้ชาติไทใหญ่ (RCSS/SSA) ขณะเดียวกัน กองทัพพม่าได้จับมือกับกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) โดยประกาศเป้าหมายขจัดยาเสพติด แต่ชาวไทใหญ่เชื่อว่า นั่นเป็นเพียงแค่ข้ออ้างที่ต้องการ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” เพราะทหารพม่าได้ไฟเขียวโยกย้ายประชาชนว้านับแสนคนลงมาจากภูเขา เข้ามาทำกินในพื้นที่ซึ่งของชาวไทใหญ่

ประมาณการณ์กันว่า ในช่วงนั้นมีชาวบ้านในรัฐฉานราว 300,000 คนถูกบังคับให้ทิ้งถิ่นฐาน และจากข้อมูลของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (Shan Human Rights Foundation) ระบุว่า มีชาวไทใหญ่อย่างน้อย 80,000 คนหลบหนีเข้ามาอยู่ในประเทศไทย แต่ทางการไทยปฏิเสธที่จะให้มีการจัดตั้งศูนย์พักพิงในฝั่งประเทศไทย ซึ่งไม่ชัดเจนว่า เหตุผลที่แท้จริงของฝ่ายความมั่นคงไทยในตอนนั้นเป็นอย่างไร ในที่สุดชาวบ้านจำนวนหนึ่งต้องอาศัยอยู่ตามค่ายซึ่งร่วมกันก่อสร้างขึ้นมาเองตามแนวชายแดนฝั่งรัฐฉาน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นศูนย์พักพิง 6 แห่ง ส่วนชาวบ้านกลุ่มใหญ่ที่หนีภัยความตายในครั้งนั้นได้ซ่อนเร้นและกลายเป็นประชากรแฝงอยู่ในภาคเหนือของไทยจนผสมกลมกลืนในปัจจุบัน

แตกต่างจากชาวบ้านในรัฐกะเหรี่ยงและรัฐคะเรนนีที่หนีภัยการสู้รบกับกองทัพพม่ามาตั้งแต่ปี 1976 และทางการยอมให้ตั้งศูนย์พักพิงอยู่ในฝั่งไทย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 9 แห่งตามแนวชายแดนฝั่งตะวันตก ซึ่งปัจจุบันมีผู้พลัดถิ่นอาศัยอยู่ราว 1 แสนคน โดยขณะนี้ความช่วยเหลือต่าง ๆ จากองค์กรสาธารณกุศลได้ลดลงมากและมีแนวโน้มที่จะถูกตัดจนหมด เนื่องจากกระบวนการสันติภาพในพม่าที่ได้รับการตอบสนองอย่างดีจากชาติตะวันตก ซึ่งแตกต่างจากข้อเท็จจริงในพื้นที่ของชาวบ้านมาก

นอกจากนี้ยังมีศูนย์ผู้หนีภัยการสู้รบอิตุท่า ริมฝั่งแม่น้ำสาละวินในฝั่งรัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามกับอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นผู้ที่หนีภัยการสู้รบในระยะหลังและฝ่ายความมั่นคงไม่ยอมให้จัดตั้งเป็นศูนย์พักพิงในฝั่งไทย โดยศูนย์อิตุท่าแห่งนี้มีชาวบ้านหนีภัยมาอยู่ราว 2,000 กว่าคน และกำลังถูกตัดความช่วยเหลือเช่นเดียวกับศูนย์พักพิงชาวไทใหญ่ เพราะฉะนั้นในสิ้นเดือนกันยายนนี้จะมีชาวบ้านรวมกว่า 8,000 คนถูกทอดทิ้งจากความช่วยเหลือ ซึ่งในจำนวนนี้นับพันคนเป็นเด็กที่อยู่ในวัยศึกษา


“ที่จริงอาหารที่เขาแจกจ่ายให้ก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว พวกเราต้องหารายได้เสริมซึ่งได้เล็ก ๆ น้อย ๆ ปลูกผักและเลี้ยงสัตว์เอง เราไม่มีที่ดินที่จะทำการเกษตรได้ อยู่โน่นเราลำบาก อยู่นี่ก็ลำบาก แต่อยู่นี่ยังปลอดภัยกว่า” นายเซอทูพลอ หัวหน้าศูนย์ผู้พลัดถิ่นอูแวโกลซึ่งเป็นส่วนขยายของศูนย์อิตุท่า ยืนยันว่าเขาและชาวบ้านจะยังไม่ย้ายกลับไปอยู่ในถิ่นฐานเดิม เนื่องจากในพื้นที่ยังมีการสู้รบและเต็มไปด้วยทหารพม่า

ก่อนหน้านี้ชาวบ้านในศูนย์อูแวโกลได้รับการแบ่งปันข้าวสารคนละ 12 กิโลกรัมต่อเดือน และเกลืออีกปริมาณหนึ่ง แต่สิ้นเดือนกันยายนศูนย์แห่งนี้ถูกตัดความช่วยเหลือทั้งหมดเช่นเดียวกับศูนย์ผู้พลัดถิ่นชาวไทใหญ่

จริง ๆ แล้วได้มีสัญญาณการโยกย้ายของแหล่งทุนที่ช่วยเหลือค่ายผู้พลัดถิ่นเหล่านี้มาเป็นระยะ ๆ โดยหลายองค์กรทั้งที่ช่วยเหลือด้านอาหาร สาธารณสุข การศึกษา ได้พากันปิดหรือยุบรวมสำนักงานที่เคยตั้งอยู่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และในจังหวัดเชียงใหม่ แล้วย้ายไปเปิดใหม่ในประเทศพม่าภายหลังจากแผนสันติภาพเริ่มกางปีก แม้ว่าโดยข้อเท็จจริงของสถานการณ์การสู้รบเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนทำงานต่างรู้ดีว่ายังไม่ได้เบาบางลงเลย

แต่ด้วยเหตุผลอื่นหลายประการ ทั้งในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ต้องการคานอำนาจจีนที่มีบทบาทสูงอยู่ในพม่ามายาวนาน ทั้งในเรื่องผลประโยชน์ข้องบริษัทข้ามชาติที่กอบโกยผลประโยชน์สู่ประเทศนั้นๆ ทำให้ชาวบ้านที่หนีภัยการสู้รบและยังอยู่อย่างยากลำบากกว่า 1.2 แสนชีวิต ต้องถูกทำให้โลกหลงลืม

เป็นเรื่องที่น่าตลกสิ้นดี ในวันที่รัฐบาลเผด็จการทหารปกครองพม่า กระแสสิทธิมนุษยชนจากคลื่นมนุษย์ที่หนีภัยความตายกลุ่มนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวชูโรงและวิพากษ์วิจารณ์กันกระฉ่อนโลก แต่ปัจจุบันสถานการณ์ของคนกลุ่มนี้ยังยากลำบากอยู่เหมือนเดิม การสู้รบในพื้นที่ก็ยังเป็นเช่นเดิม เพียงแต่ได้รัฐบาลพม่าที่มาจากการเลือกตั้ง และฉาบด้วยกระบวนการสันติภาพที่ยังแทบไม่มีผลในทางปฏิบัติใด ๆ แต่ชาวบ้านที่หนีภัยการสู้รบกลุ่มนี้กลับถูกทิ้งห่างจากเหล่านักบุญและนักสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย

เรื่องโดย  ภาสกร จำลองราช padsakorn@hotmail.com
ภาพโดย พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ

(English Version –CLICK)
The forgotten refugee crisis in Myanmar

 

 

On Key

Related Posts

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →

ลาวดำเนินคดีอดีตรองผู้ว่าการไฟฟ้าลาว-ผู้รับเหมาฐานฉ้อโกงเหตุสร้างเขื่อนไม่แล้วเสร็จ-เกินเวลานาน เผยโครงการได้รับสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 สำนักข่าวลาว Laotian TiRead More →