ชายหาดสีขาวโพลน เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินุ่งบิกินีนอนท้าแดดร้อนยามบ่ายแก่ๆ เรือไม้ติดเครื่องยนต์หลายสิบลำถูกดัดแปลงเป็นเรือรับส่งนักท่องเที่ยวจอด สงบนิ่งบนท้องทะเล เมฆขาวลอยอ้อยอิ่งบนเวิ้งฟ้าสีฟ้าคราม ช่างเป็นภาพชวนฝันสำหรับผู้ที่หลงใหลในกลิ่นอายของทะเล หาดทราย สายลม และแสงแดด
แต่ภายใต้ความงดงามที่ปรากฏในเบื้องหน้า กลับซ่อนเรื่องราวที่ขื่นขมแก่พี่น้องชาวเลที่นี่ไว้มากมาย ไม่ต่างจากโศกนาฏกรรม
หมู่บ้านแหลมตงมีชาวเลอาศัยอยู่กันอย่างแออัด 36 หลังคาเรือน บนพื้นที่เพียง 2 ไร่ครึ่ง ทั้งที่จากเดิมพื้นที่ตลอดชายฝั่งที่ชาวบ้านอาศัยอยู่มีมากถึง 200 ไร่
แหลมตง ตั้งอยู่หมู่ 8 ต.แหลมตง อ.อ่าวนาง จ.กระบี่ เป็นชุมชนดั้งเดิมของชนเผ่า “อูรักลาโว้ย” ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มายาวนานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษเข้ามาบุกเบิกและตั้ง รกรากอยู่ที่นี่ ดำรงชีพอย่าง เรียบง่าย
แต่หลังจากคลื่นลม แห่งการพัฒนา ที่ต้องการให้พื้นที่ชายฝั่งอันดามันเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก พัดกระหน่ำ ทำให้ชาวเลที่นี่ตั้งตัวไม่ติด ซ้ำยังถูกกระแสทุนเบียดขับเอาพื้นที่ดั้งเดิมของบรรพบุรุษไปจนหมด รวมไปถึงวิถีประมงที่หาอยู่หากินแต่พอเพียง ก็ต้องเปลี่ยนไปเพื่อเอาตัวรอดให้ได้ในท่ามกลางสภาพแวดล้อมใหม่
แม้ กระทั่งสุสานฝังร่างบรรพบุรุษไว้ในผืนแผ่นดินเกิด ก็ถูกสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่สร้างทับจนไม่หลงเหลือพื้นที่ทางจิตวิญญาณให้ชาว บ้านได้แสดงความเคารพสักการะ
น.ส.แมะซิบ รักเกาะ อายุ 55 ปี หรือ “ป้าซิบ” ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่แหลมตงมาตั้งแต่เกิด สะท้อนปัญหาให้ฟังว่า เมื่อก่อนอยู่กันอย่างสงบ ดำรงชีพด้วยการทำประมงพื้นบ้าน และทำเกษตรเล็กๆ น้อยๆ ในพื้นที่ ทั้งปลูกข้าวไร่ พริก มัน และผักพื้นบ้านต่างๆ พออยู่พอกินได้ตามอัตภาพ ไม่เดือดร้อนอะไร แต่เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว เริ่มมีรีสอร์ตและบังกะโลเข้ามา จากนั้นทุกอย่างก็เปลี่ยนไป
ป้าซิบเล่าต่อว่าปลาที่เคยหาได้ง่ายๆ ทั้งปลาตะมะ ปลาดุกทะเล ปลาช่อน ก็หายากขึ้น พื้นที่ปลูกพืชผักก็ถูกนายทุนรุกราน จากที่เคยทำประมงแบบหาอยู่หากิน ก็ต้องปรับตัวไปเป็นลูกจ้างตามรีสอร์ตและโรงแรมบนเกาะ เรือแจวหาปลาก็ถูกดัดแปลงเป็นเรือยนต์รับส่งนักท่องเที่ยว
ซ้ำ ร้ายที่ดินของชาวบ้าน จากที่ไม่เคยมีเอกสารสิทธิในการถือครองใดๆ ก็ถูกนายทุนเข้ามาจับจอง และออกเอกสารสิทธิครอบทับจนหมด ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนชาวบ้านก็ปลูกบ้านอยู่ตรงนั้น แม้แต่สุสานบรรพบุรุษก็ถูกโรงแรมสร้างทับ ตอนนี้ก็เหลือเพียงสุสานแห่งสุดท้าย แต่ก็ถูกถนนตัดผ่ากลาง
“ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดแล้ว บ้านที่เราอาศัยอยู่ก็ถูกนายทุนรุกรานเข้ามาเรื่อยๆ และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เขาจะไล่เราออก เพราะที่ดินที่อยู่ทุกวันนี้ก็เช่านายทุนอยู่ ปลาก็หายากขึ้น เด็กหนุ่มเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยออกไปหาปลาแล้ว พวกเขาบอกว่าปลาไม่ค่อยมีและหายาก เพราะถูกจำกัดพื้นที่ในการหา เนื่องจากมีการประกาศพื้นที่อุทยานฯ นานๆ ทีเมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว จึงออกหาปลาสักครั้งหนึ่ง” ป้าซิบพูดแล้วชี้มือไปที่เรือยนต์หลายสิบลำที่จอดรอรับนักท่องเที่ยว
“ถ้า เลือกได้ ก็อยากให้ที่นี่กลับไปเป็นเหมือนเดิม และไม่อยากย้ายไปไหน เพราะป้ากลัวว่าวันหนึ่งชาวเลจะหายไป ถ้านายทุนไล่เราไปจากที่นี่” ป้าซิบเล่าด้วยสีหน้าเป็นกังวล
ไม่เฉพาะชาวเลแหลมตงเท่า นั้น ที่ต้องเผชิญชะตากรรมบนกระแสคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลง ชาวเลหาดราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ก็ตั้งตัวแทบไม่ติด เมื่อวันที่มรสุมแห่งความเปลี่ยนแปลงพัดมาเยือน
ชุมชนชาวเล ราไวย์ ตั้งอยู่บนพื้นที่เอกชนมีอาณาเขต 19.2 ไร่ ท่ามกลางสภาพความแออัดของบ้านเรือนถึง 255 ครัวเรือน มีชาวบ้านอาศัยอยู่กว่า 2,000 คน ที่น่าตกใจในจำนวนนี้ถูกฟ้องขับไล่แล้ว 10 ครอบครัว และมีแนวโน้มว่าจะถูกฟ้องขับไล่ทั้งชุมชน
นอกจาก ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยแล้ว ชาวบ้านที่นี่ส่วนมากยังต้องทิ้งอาชีพชาวประมงออกไปเป็นลูกจ้างในเมือง เนื่องจากพื้นที่หาปลาถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ที่มีไว้สำหรับการท่องเที่ยว ชาวบ้านจึงต้องออกไปหาปลาในพื้นที่น้ำลึก และไกลจากพื้นที่หากินเดิม เสี่ยงต่อการถูกจับกุมและป่วยเป็นโรคน้ำหนีบ ที่เกิดจากการดำน้ำลึกกว่า 18 เมตร
ทั้ง ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2553 เห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ให้ชาวเลสามารถประกอบอาชีพประมงตามเกาะต่างๆ ได้ และเสนอผ่อนปรนพิเศษในการประกอบอาชีพประมง ที่ใช้อุปกรณ์ดั้งเดิมของกลุ่มชาวเลในการเข้าไปทำมาหากินในพื้นที่อุทยานและ เขตอนุรักษ์อื่นๆ
แต่ที่ผ่านมามติครม.กลับไม่มีผลในทาง ปฏิบัติ โดยในปี 2553-2555 มีชาวเลถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จับกุมพร้อมยึดเรือ อุปกรณ์และสัตว์น้ำรวม 32 ราย
นายนิรัน ดร์ หยังปาน อายุ 37 ปี ชาวเลหาดราไวย์ ที่ป่วยเป็นโรคน้ำหนีบมากว่า 20 ปี ย้อนถึงวิถีชีวิตชาวเลว่า สมัยก่อนรุ่นพ่อปู่ย่าตายาย ยังใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมและพึ่งพิงอยู่กับธรรมชาติ หากินด้วยการทำประมง ใช้ฉมวกและแว่นตาที่ประดิษฐ์ตามภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษสั่งสอนมา หากินอยู่ตามเกาะแก่งในละแวกใกล้ๆ ก็ได้ปลาเป็นจำนวนมาก โดยไม่มีใครป่วยเป็นโรคน้ำหนีบ
“จนเมื่อกระแสการท่องเที่ยว ภูเก็ตบูมขึ้นมา มีการประกาศพื้นที่อุทยานฯ ทับพื้นที่ทำกินของพวกเรา พี่น้องจากที่ดำน้ำตื้นหาปลาก็ถูกจับ ก็ต้องไปดำน้ำที่ลึก พอดำน้ำลึกก็เกิดปัญหาโรคน้ำหนีบตามมา บางคนโชคดีช่วยได้ทันก็ยังพอมีทางรักษาหาย แต่หลายคนโชคร้ายต้องจบชีวิตไปก็ไม่น้อย เป็นอย่างนี้มากว่า 20 ปีเเล้วที่ชาวบ้านต้องเสี่ยงดำน้ำลึก”
“อยากให้มติครม.คุ้ม ครองชาวเลที่ออกไปทำมาหากินหาปลาได้ ดังเดิม เพราะที่ผ่านมาชาวเลไม่ใช่ผู้ล้างผลาญ บรรพบุรุษหากินมาตั้งกี่ร้อยปี ถ้าคิดว่าเราเป็นผู้ล้างผลาญ แล้วทำไมเราอยู่กันมา 500 ปีถึงยังมีปลาเหลืออยู่ ถ้าเราล้างผลาญจริงๆ แค่ 2 ปีก็จะไม่เหลืออะไรแล้ว ปะการังก็ไม่เหลือให้ดู ปลาก็ไม่มีให้หา” นิรันดร์เล่าปัญหาก่อนสะท้อนความต้องการ
นอกจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปแล้ว ที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของชาวบ้านก็กำลังถูกนายทุนหน้าเลือดขับไล่ออกจากพื้นที่
นาย อนันต์ บางจาก อายุ 49 ปี และนายมะเหล็ง บางจาก อายุ 60 ปี สองชาวบ้านที่ถูกนายทุนฟ้องขับไล่ ร่วมเล่าถึงปัญหาว่า ปู่ย่าตายายเข้ามาบุกเบิกพื้นที่สมัยที่ตรงนี้ยังเป็นป่า โดยไม่มีเอกสารสิทธิถือครอง พวกเราก็อยู่กันที่ตรงนี้อย่างสงบ หาเลี้ยงชีพด้วยการทำประมงแบบเรียบง่าย แต่อยู่มาวันหนึ่งมีนายทุนมาหลอกให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ด้วยความที่ไม่อยากมีเรื่องยุ่งยากกับใคร จึงทำตามอย่างว่าง่าย แต่แล้ววันหนึ่งนายทุนก็นำลายพิมพ์มือมา ฟ้องขับไล่
“อยาก ให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องที่อยู่อาศัย เพราะเราเกิดที่นี่ ก็อยากจะตายที่นี่โดยจะไม่ย้ายไปไหน ไม่ว่าใครจะมาไล่เราก็จะไม่ไป ตายเป็นตาย” สองผู้เฒ่าประกาศเจตนารมณ์
ขณะที่ น.ส.นฤมล อรุโณทัย นักวิชาการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเป็นห่วงต่อปัญหาชาวเลว่า กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลได้รับผลกระทบจากการพัฒนาและวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่ไม่ สมดุล ทั้งเรื่องพัฒนาพื้นที่ ที่พวกเขาอาศัยอยู่เป็นแหล่งท่องเที่ยว การประกาศพื้นที่อุทยานฯ ทับที่ทำกินดั้งเดิม รวมถึงเรื่องความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย ถ้าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า กลุ่มชาวเลจะไม่เหลือรากเหง้าอะไรอีกเลย
“รัฐ ต้องเข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจัง เพราะมติครม.ที่ออกมาเป็นเพียงมติกว้างๆ โดยเริ่มต้นพูดคุยการแก้ปัญหาทั้งในระดับบริหาร นโยบาย ลงมาถึงระดับชุมชน เช่น กระบวนการยุติธรรมที่ตัดสินคดีความเรื่องที่ดินของชาวบ้าน ต้องลงมาเผชิญสืบในพื้นที่ว่าข้อมูลข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
รวม ถึงใช้ข้อมูลเชิงมานุษยวิทยา และวิถีชุมชนในการนำไปประกอบการตัดสินคดีความ และอยากให้ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานราชการเข้ามาดูเรื่องนี้ด้วย เพราะจะทำให้คลี่คลายปัญหาได้กว้างขึ้น และร่วมกันวางนโยบาย โดยมองจากล่างขึ้นบน” นักวิชาการจากจุฬาฯ เสนอทางออก
ในวันที่คลื่นลมในท้องทะเลดูสงบและนิ่งงัน แต่ชะตากรรมของพี่น้องชาวเล กลับตกอยู่ในห้วงมรสุมแห่งความเปลี่ยนแปลง ทางรอดหนึ่งเดียวของพวกเขา คงขึ้นอยู่กับภาครัฐว่าจะจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นขนาดไหน
โดย นพพล สันติฤดี
ข่าวสด 7 มกราคม พ.ศ. 2556
Post Views: 286