ภาพจาก www.gotoknow.org/posts/514524

พบผู้เฒ่ารัฐลืม ตกสำรวจมากว่า 70 ปี อาศัยวัดแคนางเลิ้ง นัก กม.นำร้อง กทม.แก้ด่วน ครูแดงเผยมีผู้สูงอายุไทยแท้อีกนักร้อย จี้รัฐดูแลสวัสดิการ

 

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ กทม. โครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิของบุคคล กองทุนศาสตราจารย์คนึง ฦาไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดย น.ส.ศิวนุช สร้อยทอง ตัวแทนจากโครงการบางกอกคลินิกฯ และนางเตือนใจ ดีเทศน์ หรือ “ครูแดง” ประธานเครือข่ายคนไร้สัญชาติ ในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ได้นำนายชาญ สุจินดา บุคคลไร้สถานะทางทะเบียน ซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนวัดสุนทรธรรมทาน (วัดแคนางเลิ้ง) เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. พร้อมตัวแทนพยานบุคคลในชุมชนเดียวกันอีกประมาณ 5 คน เข้าพบ พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขอความเป็นธรรมในการคุ้มครองสิทธิในสัญชาติไทย และคุ้มครองสิทธิอาศัย รวมถึงสิทธิในการอยู่อาศัยของนายชาญ ในฐานะผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทย แต่กลายเป็นคนเสมือนไร้รากเหง้า

 

น.ส.ศิวนุชกล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของนายชาญ อายุ 72 ปี หรือชื่อสมมติว่าลุงตู่ พบถือครองบัตรประจำตัวบุคคลไร้สถานะทางทะเบียน หรือบัตรเลข 0 เลขที่ 01-008-8900-xxx ออกโดยเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2554 โดยทางโครงการฯ ได้พบนายชาญเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา จากโครงการสำรวจคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ที่ทำโดยนักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และต่อมาทราบจากประธานชุมชน วัดแคนางเลิ้ง คือ นางสุวัน แววพลอยงาม ว่านายชาญไม่มีที่อยู่อาศัยตามสิทธิที่คนไทยพึงได้รับ แต่กลับอาศัยอยู่ในพระอุโบสถวัดแคนางเลิ้งมากว่า 20 ปี โดยยึดอาชีพเก็บของเก่าขายเพื่อประทังชีวิต และบางครั้งก็คอยเก็บกวาดบริเวณวัดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการสัมภาษณ์ข้อมูลจากนายชาญและบุคคลแวดล้อม เช่น เพื่อนบ้านอีกหลายคน ทราบว่านายชาญเป็นดังบุคคลไร้สถานะทางทะเบียนที่เกิดในชุมชนวัดแคฯ และอาศัยอยู่ในชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยพี่น้องที่เกิดจากมารดาและบิดาเดียวกันได้เสียชีวิตลงแล้ว เหลือแค่พี่ชายต่างบิดาที่ย้ายถิ่นฐานจาก กทม. และมีญาติอยู่ทาง อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก

 

ด้าน น.ส.สายชล สิมะกุลธร ตัวแทนจากโครงการบางกอกคลินิกฯ กล่าวว่า ปัญหาที่พบสำหรับกรณีของนายชาญคือ เป็นคนสูงอายุที่ประสบกับปัญหาสุขภาพหลายครั้ง และเพื่อให้ได้ใช้บริการตรวจสุขภาพในฐานะสมาชิกชุมชน ทางประธานชุมชนได้เคยพานายชาญ บุคคลไร้สถานะทางทะเบียน ไปขอทำบัตรประชาชนหลายครั้งตั้งแต่ปี 2554 เพื่อให้ได้รับสิทธิตามที่คนไทยพึงได้รับ แต่ถูกปฏิเสธจากสำนักงานเขตหลายครั้ง เนื่องจากข้อมูลเครือญาติไม่เพียงพอ แม้ว่าจะมีพยานบุคคลที่อายุมากกว่า ด้วยเหตุนี้ ทางโครงการฯ ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและมีหน้าที่ในการคุ้มครองบุคคลไร้ สถานะจึงต้องดำเนินการเพื่อให้ทาง กทม.ในฐานะหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ และเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย ได้ดำเนินการเพื่อให้การช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิของลุงตู่ เพื่อจะได้ขยายไปสู่ระดับนโยบายในการคุ้มครองบุคคลเร่ร่อนและบุคคลไร้สถานะ ทางทะเบียนรายอื่นที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมืองด้วย จึงอยากให้ทาง กทม.ได้มีการดำเนินการโดยเร็ว

 

ด้านนายชาญกล่าวว่า ตนยินดีจะทำหน้าที่ในฐานะพลดีของเมืองไทยอย่างเต็มที่ ขอแค่ได้เป็นคนไทยอย่างเต็มรูปแบบ และได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมคนอื่นก็เพียงพอแล้ว เพราะขณะนี้ทางวัดก็จะทำการซ่อมบำรุงสถานที่ ตนและบุคคลเร่ร่อนรายอื่นก็คงต้องหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งโดยส่วนตัวไม่อยากจากไปไกลจากบ้านเกิด

 

ขณะที่ พญ.มาลินีกล่าวว่า จะเร่งประสานงานให้ทางสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายโดยเร็ว โดยเบื้องต้นขอรับทราบข้อมูลและรายละเอียดทุกอย่างไว้ก่อน จากนั้นจะหารือกับเจ้าหน้าที่ในเขตอีกครั้ง

 

นางเตือนใจกล่าวว่า กรณีของนายชาญเป็นตัวอย่างของคนไทยแท้ แต่ไร้สัญชาติ เพราะขาดพยานหลักฐานพิสูจน์ตน ทั้งยังเป็นคนเร่ร่อนไร้บ้าน ซึ่งเชื่อว่ามีกรณีเช่นนี้อีกจำนวนนับร้อยคนใน กทม. เพราะฉะนั้น กทม.ควรมีนโยบายและมาตรการที่จะแก้ไขปัญหาของพวกเขา เพื่อให้ได้รับสิทธิคุ้มครองและมีคุณภาพชีวิตที่ดี แม้ปัจจุบัน กทม.ได้จัดบ้านพักให้คนไร้บ้านอยู่บ้าง แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะมีคนไร้บ้านกระจัดกระจายตามเขตต่างๆ ขณะเดียวกันในเรื่องการไม่มีสัญชาติไทยของคนไทยแท้กลุ่มนี้ กทม.ควรเร่งกำหนดมาตรการแก้ไข โดยเฉพาะผู้เฒ่าไร้สัญชาติควรได้รับสวัสดิการจากรัฐเป็นกรณีเร่งด่วน เพราะอายุมากแล้ว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ ในวันที่ 14 มกราคม ทางเจ้าหน้าที่ในโครงการฯ พร้อมนายชาญและพยานบุคคล จะทำหนังสือถึงเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายอีกครั้ง เพื่อเร่งรัดให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาบุคคลไร้สถานะให้เป็นนโยบายที่ สามารถคุ้มครองได้.

 

(ไทยโพสต์ 9 มกราคม 2556)

 

 

 

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.