เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2561 ที่เชียงของทีคการ์เด้น อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ได้มีเวทีแลกเปลี่ยนการทำข่าวแม่น้ำโขงของสื่อมวลชนไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ไทยใหญ่ และคะฉิ่น (เมียนมา) โดยเชิญวิทยากรร่วมให้ความรู้ประกอบด้วย นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และนายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
นายนิวัฒน์ กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในน้ำโขงสำคัญ เพราะเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่สะท้อนความผูกพันชีวิตกับการใช้น้ำของผู้คนหลายประเทศ แต่ตอนนี้ผู้มีอำนาจกลับมองแม่โขงในประโยชน์อื่น เช่น พลังงานและการขนส่งของประเทศที่มีอำนาจประเทศเดียว ส่วนตัวมองปัญหาในแม่น้ำโขง 2 ประเด็นที่เป็นปัญหาใหญ่ คือ เรื่องเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขง เพราะหลังการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงทางตอนบนในจีนที่เกิดขึ้นมา 20 กว่าปีแล้วนั้น นับแต่เปิดเขื่อนมานวาน ในมณฑลยูนนาน จีน ทำให้แม่น้ำโขง มีระดับน้ำขึ้นลง ไม่เสถียร ไม่เป็นไปตามฤดูกาล
“น้ำโขงที่ขึ้นลงไม่ปกติ คือ เขื่อนในจีนทำลายหมด ผลกระทบไปทุกส่วน เดิมฤดูกาลสร้างความอุดมสมบูรณ์ สร้างระบบนิเวศที่ทำงานอย่างสมดุล ทำให้เกิดเกาะแก่ง หินผา แต่เมื่อมีเขื่อนกั้น ระบบนิเวศแม่น้ำโขงไม่สามารถทำงานได้เช่นเดิม มันก็พังไปหมด” นายนิวัฒน์ กล่าว
นายนิวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องที่ 2 คือโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง หรือโครงการปรับปรุงแม่น้ำล้านช้างแม่น้ำโขงเพื่อการเดินดราพาณิชย์ ซึ่งแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทยลาว ที่ จ.เชียงราย มีระบบนิเศย่อย 11 ชนิด อาทิ แก่ง หาดหิน เมื่อระบบนิเวศเหล่านี้หายไป ก็เท่ากับอวัยวะส่วนหนึ่งหายไป สำหรับภาคประชาชนนั้นก็ต้องเติบโตและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หากจีนสามารถระเบิดแก่งและล่องเรือขนาดใหญ่ตามลำน้ำโขงลงไปถึงกัมพูชา ที่ฐานทัพที่สีหนุวิลล์ได้ เขาก็คุ้มค่าแล้ว เพราะคุมได้หมดทุกอย่าง การต่อสู้ที่ผ่านมาเราพยายามอธิบายให้สังคมได้รับรู้ข้อมูล ความยุ่งเหยิงของเขตแดน เรื่องความมั่นคงก็น่ากลัว
ขณะที่นายวิฑูรย์ กล่าวว่าจีนพยายามควบคุมน้ำสาขาต่างๆ ที่ไหลลงแม่น้ำโขง โดยแม่น้ำโขงตอนบนในจีน มีการก่อสร้างเขื่อนตามแผนครบเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว ส่วนแม่น้ำโขงตอนล่างนั้น โครงการสร้างเขื่อนร้อยละ 74 อยู่ในลาว ที่เหลืออยู่ในกัมพูชาและเวียดนาม อย่างไรก็ตามการผลิตไฟฟ้าไม่ได้มุ่งไปสู่ที่มืดๆ หรือพื้นที่ที่ขาดแคลนไฟฟ้าในภูมิภาค ตามชุมชนห่างไกลที่ขาดแคลนไฟฟ้า แต่ไฟฟ้าที่จะผลิตกลับจะถูกส่งไปขายให้ตลาดใหญ่ ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะไปสู่คนที่มีเงินซื้อ และพร้อมจะซื้อ ไม่ใช่คนยากคนจน การผลิตไฟฟ้าจึงทำโดยภาคเอกชนที่ไม่สนใจว่า คนจนต้องการอะไร ดังนั้นเมื่อก่อสร้างแล้ว จุดมุ่งหมายคือ ส่งขายในระบบตลาดไฟฟ้า
“ตลาดแรกคือ ไทย ตลาดต่อมาคือ เวียดนาม ในอดีตจีนสร้างเขื่อน จีนก็ตั้งใจจะรับซื้อไฟฟ้า แต่จีนเขามีปริมาณไฟฟ้าสำรองเหลือมหาศาล จึงไม่ได้นำเข้าไฟฟ้าสู่จีนตามที่มีการคาดการณ์ไว้ แต่จีนกลับยังเดินหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อน เพราะฉะนั้นขณะนี้ปะเทศไทยจึงเป็นตลาดใหญ่ ฉะนั้นต้องเห็นว่าธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ออกรพิมพ์เขียวในการสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าในภูมิภาค และเชื่อว่า ไม่ว่าจะก่อสร้างเขื่อนที่ตรงไหน แม้ไม่มีตลาดรับซื้อไฟฟ้าในบริเวณนั้น แต่ยังสามารถสร้างสายส่งเพื่อผ่าน GMS Grid คือ ระบบสายส่งไฟฟ้าของภมิภาค ประเทศไทยมีระบบสายส่งของประเทศ และบริหารโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) ” นายวิฑูรย์ กล่าว
“ปลายปีก่อน มาเลเซีย ได้ลงนามการซื้อไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ (MW) จากลาว ผ่านไทย ถามว่าทำไมต้องซื้อไฟฟ้า 100 MW ซึ่งเป็นปริมาณไฟฟ้าเพียงนิดเดียว แต่ต้องส่งผ่านสายส่งนับพันกิโลเมตร จากลาวส่งไปบังมาเลเซีย คำตอบก็คือ มาเลเซียลงทุนในโครงการเขื่อนดอนสะโฮง ในลาวตอนใต้ สร้างโดยบริษัทจากมาเลเซีย สิ่งต่างๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังการสร้างเขื่อนมากมาย เช่นเดียวกับกรณีที่กฟผ.พยายามผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ 2 แห่ง คือ กระบี่ และเทพา โดยอ้างว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้มากกว่าที่ผลิตได้ ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางไฟฟ้า แต่กลับมีสายส่งไปยังมาเลเซีย ทั้งๆ ที่ไฟฟ้าเมื่อมารวมกันก็ไม่รู้แล้วว่า เป็นไฟฟ้ามาจากที่ไหน”นายวิฑูรย์ กล่าว
นายวิฑูรย์กล่าวว่าในผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือเอ็มอาร์ซี ฉบับล่าสุด หรือ Council Study ระบุว่าในปี 2040 หากมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตามแผนทั้งหมด ปริมาณตะกอนแม่น้ำโขงจะไหลลงสู่ปากแม่น้ำ จะเหลือเพียงร้อยละ 3 ส่วนอีกร้อยละ 97 ถูกกักโดยเขื่อนต่างๆ ตะกอนเหล่านี้หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ซึ่งเป็นหัวใจของลุ่มน้ำโขง แต่ความอุดมสมบูรณ์เหล่านี้ต้องถูกปิดกั้นโดยเขื่อน และพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำในประเทศเวียดนามและพื้นที่ในกัมพูชา
“ต่อมาผลกระทบด้านปลาและประมง สั้นๆ เลยคือปลาท้องถิ่นหลายร้อยชนิดในแม่น้ำโขงจะหายไป ปลาต่างถิ่น เอเลี่ยนจะเยอะ หากมีการพัฒนาโครงการเหล่านี้ GDP ในประเทศแม่น้ำโขง จะลดลง การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จะยิ่งก่อให้เกิดความเสียหายมากขึ้น แล้งมากขึ้น น่ากลัวมาก ” นายวิฑุรย์ กล่าว
นายวิฑูรย์กล่าวว่า การสร้างเขื่อนนั้นลดความสมบูรณ์ของน้ำโขง อย่างรุนแรง ดังนั้น หากเราหยุดไว้ที่การสร้างเขื่อนไซยะบุรี ให้เป็นเขื่อนสุดท้าย เราอาจหยุดการสูญเสียในอนาคตได้ หลังจากเขื่อนไซยะบุรีสร้างแล้ว มันอาจจะตายแค่ส่วนหนึ่ง แต่เรายังมีความหวังในส่วนอื่นที่ยังมีคุณค่าและมีความหมาย แต่ประเด็นที่สื่อมวลชนและภาคประชาชนต้องจับตามอง คือ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง 4 ประเทศ มีรายงานการศึกษาออกมา 3เดือนแล้ว แต่ไม่มีการเผยแพร่สู่สาธารณะ
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า จริงๆแล้วพลังงานสำรองไม่จำเป็นอะไร จึงไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าอีกเลย ที่สำคัญคือในผลการศึกษาของเอ็มอาร์ซียังได้เสนอว่าให้ใช้เทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าแบบใหม่แทนการสร้างเขื่อน หากเรายอมให้มีการสร้างเขื่อนเต็มรูปแบบในปี 2040 การศึกษาของเอ็มอาร์ซีระบุว่ามีการชดเชยให้กับผู้เสียหายในภาคประมงด้วย โดยเฉพาะการคิดภาษีจากรายได้ในการขายไฟฟ้าของเขื่อน