Search

6 เหตุหลักทำลายแม่น้ำโขง ชาวบ้าน 8 จังหวัดเดินหน้าปกป้อง


ระหว่างวันที่ที่ 14-15 พฤษภาคม พ.ศ.2561 ตัวแทนครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัด ลุ่มน้ำโขง จากจังหวัดเชียงราย เลย บึงกาฬ หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ได้จัดประชุมติดตามสถานการณ์การพัฒนาแม่น้ำโขง และผลกระทบจากเขื่อนจีน, การระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขง, การสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงบนแม่น้ำสายประธาน และโครงการพัฒนาต่างที่กำลังส่งผลกระทบต่อวีถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมริมฝั่งโขง รวมทั้งการติดตามรายงานการศึกษาของสภามนตรีแม่น้ำโขง หรือ Council Study และวางแผนติดตามผลกระทบต่อชุมชนและระบบนิเวศแม่น้ำโขงจากการจะเปิดใช้งานของเขื่อนไซยะบุรีในปีหน้า ที่จังหวัดอุดรธานี

ในการประชุมครั้งนี้ ชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตประเทศไทยต่างต่างเล่าถึงปัญหาและชะตากรรมเดียวกันคือ ระดับการขึ้น-ลงไม่ปกติตามธรรมชาติของแม่น้ำโขง โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง จากการปล่อยน้ำของเขื่อนจิงหงในประเทศจีนที่ไม่มีการแจ้งเตือน ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อทั้งระบบนิเวศแม่น้ำโขง การประมงและการเกษตรริมฝั่งโขง การท่องเที่ยว โดยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อธรรมชาติและวิถีชีวิตนั้นนับว่ารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่งผลต่อจำนวนปลาที่ลดลง ทำให้รายได้และอาหารของชุมชนลดลงไปมาก

นางนิภาภรณ์ ปุลา ชาวบ้านตามุย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ปรากฏการณ์น้ำขึ้น-ลงไม่เป็นตามธรรมชาติต่อเนื่องกันหลายปีมาแล้วในช่วงหน้าแล้ง ทำให้ชาวประมงในหมู่บ้าน แทบจับปลาไม่ได้ ทำให้ไม่มีรายได้ และเศรษฐกิจท้องถิ่นจากการประมงต้องหยุดชะงัก เดิมชาวบ้านเคยจับปลาได้ปีละ 2-3 ตัน แต่หลายปีมาแล้วที่ไม่มีปลา ชาวบ้านหลายคนต้องเปลี่ยนอาชีพจากชาวประมง ไปเป็นชาวไร่ นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีปัญหากับอุทยานแห่งชาติผาแต้มซึ่งทับที่ดินทำกิน ทำให้มีปัญหาการดำรงชีวิตที่ยากลำบากมากกว่าเดิมอีก แต่พยายามปรับตัวและวางแผนจะอนุรักษ์พื้นที่บุ่งที่เหลืออยู่หน้าหมู่บ้านให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อหวังว่าจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและวางไข่ของปลาในอนาคต

นายทองพั้ว เมืองโครต ชาวบ้านอ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร กล่าวว่า แม่น้ำโขงเขตอำเภอหว้านใหญ่ มีความยาว 72 กิโลเมตร กำลังประสบปัญหาหลัก คือ เรื่องดูดทรายและดูดหินกลางแม่น้ำและการสร้างเขื่อนกันตลิ่งพัง การดูดทราย ได้ทำลายพื้นที่ท้องน้ำ หาดทราย ดอนและพืชริมฝั่ง ซึ่งเป็นที่วางไข่และเพาะพันธุ์ปลาน้ำโขงหายไปจนหมด เกิดปรากฏการณ์น้ำขุ่น ระบบนิเวศท้องน้ำเปลี่ยนไปหมด ทำให้ปัจจุบันปลาน้ำโขงหายากมากขึ้นกว่าเดิม เป็นปัญหามากในขณะนี้ เคยหาปลาได้วันละ 1,000 บาท แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ได้อะไร

นายสุวิทย์ กุหลาบวงศ์ ตัวแทนจากหนองคาย กล่าวว่า มีการเปลี่ยนแปลงผลผลิตริมโขง และการลดจำนวนปลา พบว่าเกิดจากการใช้สารเคมีในพื้นที่เกษตรกรรมริมฝั่งแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จำนวนปลาลดลง รวมไปถึงมลพิษที่เกิดจากเมืองใหญ่ ประเด็นเรื่องต้นทุนน้ำในการผลิตน้ำประปา ขณะนี้หลายเมืองใหญ่ใช้น้ำจากแม่น้ำโขงผลิตน้ำประปาป้อนคนเมือง และมีช่วงแล้งที่น้ำน้อย และผลิตไม่ได้ จนตอนนี้มีข่าวในพื้นที่ว่า อาจจะต้องมีความพยายามสร้างเขื่อนปากชม เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ เพราะประเทศอื่นก็มีแผนจะสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง รวมไปถึงการดึงน้ำโขงและการกักน้ำไปใช้ เพราะกลัวเสียเปรียบเรื่องการใช้น้ำ ควรให้ความสำคัญกับเรื่องแม่น้ำสายย่อยของแม่น้ำโขงด้วย แผนพัฒนาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีชัดว่ามีแผนจะดึงน้ำจากโขงมาใช้ทางอุตสาหกรรม รัฐต้องการแก้ไขปัญหาน้ำขึ้น-ลงด้วยการสร้างเขื่อนกั้นเก็บน้ำไว้ใช้และแก้ปัญหาน้ำขึ้นลงโดยทำให้น้ำนิ่ง นี่เป็นประเด็นสำคัญที่เราจะต้องมองไปพร้อมกับประเด็นเรื่องเขื่อนบนแม่น้ำโขง

นายมนตรี จันทะวงศ์ สมาชิกกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง กล่าวว่า กรณีเขื่อนไซยะบุรีที่จะมีการทดลองการปั่นไฟฟ้าในปีนี้และเริ่มผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพานิชให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ที่ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 29 ปีนั้น ไฟฟ้าที่ซื้อเข้ามาจากเขื่อนไซยะบุรีจริงๆแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่ต้องต่อระบบไฟฟ้าในประเทศ เพราะขณะนี้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศไทยเกินมากกว่า 30 % จนต้องปรับแผนปรับแผนพัฒนาความต้องการไฟฟ้า(PDP) สวนทางกับปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของกฟผ.ที่ยังคงดึงดันในการหาแหล่งผลิตไฟฟ้าเพื่อป้อนประเทศเรื่อยๆ ยังความไม่ชอบธรรมในการบริหารจัดการของการไฟฟ้า ซ้ำร้ายยังเหมือนว่าปริมาณไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้ใช้กลับทิ้งภาระความรับผิดชอบให้ประชาชนต้องแบกรับเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่า ประเด็นปัญหาแม่น้ำโขง 8 จังหวัด ประสบปัญหาเดียวกันมาหลายปีแล้ว สาเหตุหลักๆมากจาก 1.เขื่อนในจีน เพราะเขื่อนเป็นตัวบังคับน้ำ 2.การระเบิดแก่ง เพื่อเดินเรือขนาดใหญ่ แต่เป็นการทำลายระบบนิเวศ 3.เรื่องดูดทราย 4.การใช้สารเคมี ซึ่งในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงใช้สารเคมีทุกประเทศ 5.การหาปลาผิดวิธี เช่น ช็อตปลา และ 6.เรื่องการเดินเรือพานิช

นายนิวัฒน์กล่าวว่า ปัญหาที่เชื่อมกันทั้งลำน้ำ คือ เรื่องเขื่อน โดยข้างบนลำน้ำโขงไม่ต้องพูดถึงเรื่องปลาแล้ว เพราะถูกสกัดกั้นพื้นที่วางไข่โดยเขื่อน ปัจจุบันนี้เห็นชัดเจนว่าเขื่อนเป็นปัญหา โดยเฉพาะเขื่อนจีน เราต้องมีการเสนอการจัดการน้ำร่วมกันได้ การขึ้น-ลงผิดปกติของน้ำสัมพันธ์โดยตรงกับผลกระทบเรื่องระบบนิเวศน้ำโขง หน้าฝนปลาก็ขึ้นไปวางไข่ หน้าแล้งไม่แล้งเพราะจีนปล่อยน้ำ ให้เรือแล่นได้สะดวก แต่มีผลกระทบกับพืชและปลา โดยเฉพาะพืชชัดมาก เดี๋ยวพืชริมโขงต้องใสปุ๋ย เพราะตะกอนถูกกักโดยเขื่อน ดังนั้นต้องมีข้อเสนอจัดการน้ำโขงร่วมกันของ 8 จังหวัดและต้องเสนอหรือท้วงกับจีนโดยตรง เช่น เรื่องการปล่อยน้ำจากเขื่อน การระเบิดเกาะแก่ง และการสร้างเขื่อน ที่ส่งผลกระทบกับปลามาก ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการก่อสร้างที่มีเสียงดัง

“ตอนนี้เรื่องการฟ้องร้องเขื่อนไซยะบุรีก็มาไกลแล้ว และเขื่อนไซยะบุรีใกล้เสร็จ เราต้องคุยกันเรื่องธรรมาภิบาลเขื่อนไซยะบุรีได้แล้ว ต้องเปิดเวทีคุยกับ ช. การช่าง ส่วนเขื่อนปากแบ่ง ก็เป็นเรื่องใหญ่ แต่จะเป็นการลุกขึ้นเจรจาระหว่างชาวบ้านริมโขงกับทางบริษัทก็สร้างเขื่อนจากจีนและลาว ตอนนี้เราฟ้องศาลปกครองกลางอยู่ด้วย ซึ่งศาลรับฟ้องแล้ว ส่วนการระเบิดแก่งก็เป็นเรื่องใหญ่พอ ๆ กับเขื่อนและอาจจะหนักกว่าหากมีการระเบิดทั้งลำน้ำ เพราะเป็นการพังทลายเครื่องในและอวัยวะสำคัญของแม่น้ำโขง”นายนิวัฒน์ กล่าว

นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ตัวแทนเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน กล่าวว่า ในการประชุมเวทีสาธารณะแม่น้ำโขง ที่เมืองเกิ่นเทอ ประเทศเวียดนาม เมื่อปลายเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ตัวแทนของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้นำเสนอรายงาน รายงานการศึกษาการบริหารจัดการการพัฒนาที่ยั่งยืนของแม่น้ำโขง รวมทั้งเขื่อน รวมทั้งการศึกษาผลกระทบของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้าโขงสายประธาน ทำแบบจำลอง 3 ระยะคือ ปี 2007 ที่ไม่มีเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก ปี 2020 มีเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง ปี 2040 เขื่อนทั้งหมด 11 แห่งบนแม่น้ำโขงสายประธานและแม่น้ำสาขากว่า 102 แห่งนั้น เขื่อนจะทำให้ตะกอนที่ๆไหลสู่ปากแม่น้ำโขงลดลงมากถึงไป 97 เปอร์เซ็นต์ ส่วนประมง หากมีการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงและเขื่อนไซยะบุรีแล้วเสร็จจะทำให้ในปี 2020 นี้ ปริมาณมูลค่าการประมงลดลงจะลดลง 25% หรือกว่า 600,000 ตัน และในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้าจะลดลง 39% และโดยรวมแล้วไทยจะเสียผลประโยชน์มากที่สุด หากมีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง โดยมีข้อเสนอให้มีการเก็บภาษีจากกำไรของบริษัทที่สร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสาหลัก 9%และแม่น้ำสาขา 19 % ที่ได้จากการขายไฟฟ้าไปชดเชยผลกระทบความเสียหายอย่างไร และมีข้อเสนอว่าประเทศลุ่มน้ำโขงควรจะไปหาเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตพลังงานที่ไม่ใช่เขื่อนแทน

ทั้งนี้ภายหลังจากร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล ที่หลายคนในที่ประชุมมีความเห็นคล้ายกันคือต้องจับตาอีกอย่างหนึ่งคือท่าทีของประเทศจีนซึ่งเป็นทุนใหญ่ในการถือครองโครงการพัฒนาต่างในภูมิภาค โดยจีนเริ่มแสดงออกถึงการรับรู้เสียงของประชาชนมากขึ้น อันเป็นผลจากการปรับปรุงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม จนถึงการเข้ามาพูดคุยกับกลุ่มรักษ์เชียงของถึงการก่อสร้างเขื่อนปากแบ่ง ซึ่งการพบปะในลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงอาจเป็นสัญญาณดีที่จะใช้โอกาสนี้เป็นช่องทางในการเจรจาต่อรองและเรียกร้องให้มีกระบวนการและความรับผิดชอบจากประเทศจีนที่เข้ามาผลักดันโครงการพัฒนาหรือเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก

ในที่ประชุมยังวิเคราะห์ร่วมกันว่า ทั้งรัฐบาลไทยต้องหันมาฟังเสียงประชาชนและดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล และองค์กรระหว่างรัฐ เช่น คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC ที่ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศสมาชิก และสร้างมาตรฐานในการกำกับดูแลการพัฒนาขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ให้เป็นรูปธรรมมากกว่าเดิม ซึ่งเครือข่ายฯได้ร่วมกันวางแผนเตรียมติดตามผลกระทบจากปรากฎการณ์น้ำขึ้น-ลงจากเขื่อนจีน โดยจะรวบรวมข้อมูลความเสียหายจากการท่องเที่ยวในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา ความเสียหายจากเกษตรริมโขง การประมง เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการติดตามความรับผิดชอบจากประเทศจีน และยังมีการวางแผนติดตามผลกระทบที่กำลังจะเกิดจากการเตรียมทดลองกักเก็บน้ำและทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญที่นำไปสู่การติดตามตรวจสอบผลกระทบที่จะเกิดขึ้นท้ายน้ำเขื่อนไซยะบุรีที่อยู่ห่างจากชายแดนไทยไปเพียง 200 กิโลเมตร

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →