เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 ยังคงมีความตึงเครียดระหว่างกองกำลังของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(เคเอ็นยู)และทหารกองทัพพม่า แม้เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 ผู้นำระดับสูงของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) ได้เข้าพบพล.อ. มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่าและคณะเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาเผชิญหน้าของทหารทั้ง 2 ฝ่ายในพื้นที่กองพลที่ 5 หรือเขตจังหวัดมือตรอภายใต้การควบคุมของเคเอ็นยูซึ่งอยู่ตรงข้ามชายแดนไทย-พม่า ที่ อ.สบเมย และอ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เนื่องจากกองทัพพม่ามีความพยายามตัดถนนสายใหม่จากพื้นที่เคปู มายังเขต เหล่อ หมื่อ ปลอ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอำเภอ ผาปูน รัฐกะเหรี่ยงส่งผลให้เกิดการปะทะกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม ที่ผ่านมาจนทำให้ประชาชนชาวกะเหรี่ยงกว่า 2,000 คนต้องอพยพและหลบซ่อนอยู่ในป่า โดยผลการหารือกับผู้นำทหารพม่าในครั้งนี้นั้น ทางฝ่ายพม่ารับปากจะยุติโครงการตัดถนนสายเคปู – เหล่อ มือ ปลอไว้ชั่วคราว
ผู้สื่อข่าวซึ่งอยู่ในพื้นที่รายงานว่า ยังเกิดความตึงเครียดต่อเนื่องโดยทหารพม่าพยายามกระจายกำลังเพื่อควบคุมพื้นที่แนวก่อสร้างถนนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จากรายงานของกองกำลังกะเหรี่ยงที่ส่งมายังผู้บังคับบัญชาระดับสูงระบุว่า ระหว่างวันที่ 17-19 พฤษภาคม แม้มีกระแสข่าวว่าทหารพม่าพร้อมเครื่องจักรทำถนนต้องถอนออกจากพื้นที่ เคปู และ เหล่อ มือปลอ แต่ยังมีความเคลื่อนไหวของทหารพม่ากระจายกำลังและควบคุมพื้นที่แนวก่อสร้างถนนอยู่ตลอดเวลาส่งผลให้เกิดการปะทะกับชุดลาดตระเวนของทหารเคเอ็นยูในพื้นที่เหล่อ มือ ปลอ 1 ครั้ง และ พื้นที่ เคปู 1 ครั้ง
ทั้งนี้การสร้างถนนเส้นทาง เคปู-เหล่อ หมื่อปลอ เชื่อว่าจะถูกใช้เพื่อการทหารของพม่าโดยเฉพาะ และคาดว่าในอนาคตถนนเส้นนี้จะถูกตัดไปให้ถึง ริมแม่น้ำสาละวิน ซึ่งอยู่ติดชายแดนประเทศไทย ตรงข้าม บ้านจอท่า ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เนื่องจากพื้นที่ของกองพลที่ 5 เป็นพื้นที่เดียวของทหารกะเหรี่ยงเคเอ็นยูที่ยังไม่เปิดพื้นที่ให้กลุ่มทุนพม่าเข้ามาใช้ทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะป่าไม้และยังไม่เปิดโอกาสให้รัฐบาลพม่าเข้ามาดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และชาวบ้านในพื้นที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากมองด้านการทหารเดิมทีการสับเปลี่ยนกำลังพล การส่งเสบียงและยุทธปัจจัยของทหารพม่าที่อยู่ในเขตกองพลที่ 5 เคเอ็นยู/เคเอ็นแอลเอทำได้ค่อนข้างจำกัดเนื่องจากทหารกะเหรี่ยงกองพลที่ 5 จำกัดเส้นทางและพื้นที่เคลื่อนไหวของทหารพม่าไว้ เพื่อไม่ให้เข้าถึงเขตชุมชนของชาวบ้านกะเหรี่ยง ขณะเดียวกันการส่งเสบียงและกำลังพลมายังพื้นที่ชายแดนของทหารพม่าทำได้ค่อนข้างลำบากเพราะเส้นทางที่เคเอ็นยูให้ทหารพม่าใช้ในพื้นที่กองพลที่ 5 ส่วนใหญ่เป็นเส้นทางเดินเท้า การส่งเสบียงมายังพื้นที่ชายแดนสาละวินของทหารพม่านิยมใช้ 2 เส้นทางหลักคือ
1.เส้นทางตอนเหนือ กองทัพพม่าจะส่งเสบียงและกำลังพลด้วย กองม้าขนส่งมาพักที่หมู่บ้านตะคอท่า ริมแม่น้ำสาละวิน สุดชายแดนทางเหนือของประเทศไทย แล้วใช้เรือชาวบ้านในพื้นที่เคลื่อนกำลังพลลงมายังเขตพื้นที่บ้านจอท่า ริมแม่น้ำสาละวิน 2. เส้นทางตอนใต้กองทัพพม่าจะส่งเสบียง และกำลังพลมายังพื้นที่สาละวินโดยใช้วิธีการส่งเสบียง ยุทธปัจจัยมาพักไว้ที่บ้านแม่ตะวอ ตรงข้ามอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตากแล้วใช้เรือชาวบ้านลำเลียงไปยังค่ายทหารพม่าตรงข้ามบ้านสบเมย อำเภอสบเมยจนถึง ค่ายทหารพม่าตรงข้ามบ้านท่าตาฝั่ง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งการส่งเสบียงในแต่ละครั้งต้องประสานความร่วมมือมายังเจ้าหน้าที่ชายแดนไทยด้วย ซึ่งในแต่ละครั้งต้องใช้เวลารอความช่วยเหลือในการอำนวยความสะดวกจากทางเจ้าหน้าที่ชายแดนของไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กำลังพลส่วนใหญ่ของทหารพม่าต้องใช้วิธีเดินเท้ามายังพื้นที่ชายแดนตามเส้นทางที่ทหารกะเหรี่ยงอนุญาต หากมีการออกนอกเขตพื้นที่อนุญาตมีความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะ หรือเหยียบระเบิดที่ทหารแต่ละฝ่ายวางแนวเขตเอาไว้ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นข้อจำกัดที่ส่งผลต่อเวลาในการส่งกำลังบำรุงของทหารพม่า และเท่ากับถูกจำกัดจำนวนเสบียงรวมถึงยุทธปัจจัยที่ส่งยังพื้นที่ชายแดนและส่งผลต่อการจำกัดจำนวนกำลังพลที่จะเข้าประจำการ แต่หากถนนเส้น เคปู – เหล่อ หมื่อ ปลอ – จอ ท่า (พื้นที่ริมแม่น้ำสาละวิน)สร้างเสร็จ จะเป็นการง่ายต่อกองทัพพม่าที่จะกระจายกำลังพลเข้าควบคุมพื้นที่กองพลที่ 5 เคเอ็นยู รวมถึงสามารถส่งยุทธปัจจัยได้ครั้งละจำนวนมากด้วยรถบรรทุกและสามารถกระจายกำลังควบคุมพื้นที่ชายแดนได้สะดวกขึ้นผ่านเส้นทางตลอดแม่น้ำสาละวินโดยมีจุดพักเสบียงใหญ่ในค่ายทหารพม่าพื้นที่ จอ ท่าริมแม่น้ำสาละวิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าโครงการพัฒนาเขื่อนสาละวิน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่กองทัพพม่าพยายามผลักดันซึ่งโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินพื้นที่ชายแดนประเทศไทยนั้น รัฐบาลพม่ามีแผนผลักดันมาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2546 แต่เป็นพื้นที่ที่ยากต่อการควบคุม ขณะเดียวกันชาวบ้านในพื้นที่ชายแดนทั้งในรัฐกะเหรี่ยงและฝั่งประเทศไทยคัดค้านโครงการอย่างหนัก
ปัจจุบันโครงการเขื่อนสาละวินจึงยังไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งพื้นที่ชายแดนประเทศไทย และ เขื่อนฮัตจีพื้นที่แม่น้ำสาละวินที่อยู่ภายในรัฐกะเหรี่ยงแต่หากถนนเส้น เคปู – เหล่อ หมื่อ ปลอ – จอ ท่า (พื้นที่ริมแม่น้ำสาละวิน) สร้างเสร็จก็เป็นการง่ายต่อกองทัพพม่าที่จะกระจายกำลังพลมายังพื้นที่ชายแดนประเทศไทย ทั้งนี้ปัจจุบันมีค่ายทหารพม่า ที่เป็นฐานปฏิบัติการหลัก ริมแม่น้ำสาละวินประมาณ 8-9 ค่าย ซึ่งบ่อยครั้งที่ชาวบ้านถูกข่มขู่จากทหารพม่าด้วยการยิงปืนขู่เพื่อเรียกใช้บริการเรือของชาวบ้าน
————————