
องค์กร Aid Alliance Committee (AAC) ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติตั้งอยู่ในประเทศไทยได้ออกมาเปิดเผยว่า มีแรงงานข้ามชาติจากพม่าเป็นจำนวนมากได้ร้องเรียนและขอให้ทางองค์กรดังกล่าวช่วยเหลือ กรณีที่ถูกนายจ้างคนไทยยึดเอกสารหนังสือเดินทางเอาไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันแรงงานหลบหนีหรือไปทำงานที่ใหม่ โดยทางองค์กร AAC เปิดเผยว่า มีแรงงานร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นจำนวนมากจนไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้ทั้งหมด ส่วนที่ปรึกษาด้านกฎหมายของสถานทูตพม่าเผย นายจ้างที่ยึดเอกสารลูกจ้างถือว่าเป็นความผิด โดยมีบทลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายโกเยมิน จากองค์กร Aid Alliance Committee (AAC) เผยว่า ขณะนี้มีแรงงานจำนวน 20 คน ที่ถูกนายจ้างยึดเอกสารไว้มาอาศัยอยู่ที่ศูนย์ของ AAC เพื่อรอคำพิพากษาจากศาล รวมถึงกรณีที่พวกเขาไม่ได้รับค่าจ้างและค่าชดเชยหลังจากที่โรงงานที่พวกเขาเคยทำงานต้องปิดตัวลง นายโกเยมินเปิดเผยว่า มีนายจ้างบางส่วนได้ยึดเอกสารของแรงงานไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกจ้างหนีไปทำงานที่อืื่น ด้านนายโกจ่อเมียวอู หนึ่งในแรงงานชาวพม่าเปิดเผยว่า เอกสารของเขาถูกนายจ้างยึดทันทีที่เดินทางมาทำงานกับนายจ้าง โดยเขาเคยทำงานในโรงงานไม้แห่งหนึ่งทางภาคใต้ของไทยเป็นเวลา 6 เดือน
นายอูอ่องเมียวตั้น ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของสถานทูตพม่าประจำประเทศไทยเผยว่า การยึดหนังสือเดินทางเอกสารประจำตัวของแรงงานยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่โดยปกติแล้ว นายจ้างมักจะปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ การที่นายจ้างยึดเอกสารของแรงานก็เพราะป้องกันไม่ให้แรงงานหนีไปทำงานที่อื่นที่จ่ายค่าแรงเยอะกว่า รวมถึงมีกรณีที่นายจ้างกลัวลูกจ้างไม่ยอมจ่ายเงินกู้คืน ในกรณีที่มีการกู้ยืมเงินกัน จึงยึดเอกสารไว้ ทั้งนี้จึงต้องพิจารณาในส่วนของลูกจ้างและนายจ้างด้วย อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายของไทยแล้วห้ามไม่ให้นายจ้างยึดเอกสารของลูกจ้างไว้ โดยหากฝ่าฝืนจะถูกจำคุก 6 เดือนและปรับ 100,00 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในขณะที่แรงงานข้ามชาติเองจะต้องเก็บเอกสารสำคัญไว้กับตัว เพราะหากถูกเรียกตรวจจากเจ้าหน้าที่แต่ไม่สามารถนำเอกสารมาแสดงได้จะถูกปรับเป็นเงิน 5,000 บาทด้วยเช่นกัน องค์กร AAC เผยว่า แรงงานสามารถร้องเรียนไปยังกระทรวงแรงงานหากถูกนายจ้างยึดเอกสารไว้ ขณะที่มีแรงงานข้ามชาติจากพม่ามากกว่า 3 ล้านคนทำงานอยู่ในประเทศไทย
ที่มา Myamar Times
แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ
ภาพโดย Zaw Zaw Htwe/The Myanmar Times