Search

ตั้งเวทีถามหาธรรมาภิบาลนักลงทุน-นักปล่อยกู้หลังเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก ภาคประชาชนจวกหนัก “แม่สมปอง”ปลุกคนลาวลุกขึ้นปกป้องสิทธิ์ “ครูตี๋”ชี้สร้างเขื่อนเป็นเพียงข้ออ้างหาเงิน ชาวบ้านเขมรเผยไร้คำเตือนก่อนน้ำทะลัก


เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน เชิงสะพานหัวช้าง กทม. ได้มีการจัดเวทีสนทนา “ประชาชนเขื่อนในลาว แต่ ไม่ใช่เขื่อนลาว : บริษัทเกาหลี การไฟฟ้าไทย และ เงินช่วยเหลือข้ามชาติในธุรกิจเขื่อนที่แตกพัง” โดยนางสมปอง เวียงจันทร์ แกนนำชาวบ้านที่คัดค้านเขื่อนปากมูลกล่าวว่า ตอนที่เริ่มต่อสู้เคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนปากมูลยุคแรกตนมีความรู้สึกไม่แตกต่างจากชาวบ้านในลาวมาก คือกลัวมาก โดยเฉพาะเจ้านายเพราะเป็นเพียงคนหาปลา แต่ต้องลุกมาสู้ ตอนแรกคิดว่าตัวเองคงตาย ยอมเสียสละตัวเองเพื่ออยากให้ปัญหาออกมาสู่สาธารณะ ตอนนั้นชาวบ้านใน 12 หมู่บ้านคุยกันว่า เราจะอยู่อย่างไร ถ้าเขาสร้างเขื่อน คล้ายกับว่า อนาคตชีวิตมืดมนมากเพราะขณะนั้นไม่มีข้อมูลเลยว่า น้ำจะท่วมถึงไหน ตอนนั้นนักศึกษาลงมาเอาแผนที่มา เลยรู้ข้อมูล ต้องลักลอบคุยกันเพราะกลัวถูกจับ

นางสมปองกล่าวว่า ตนเคยเดินทางเข้าไปดูเขื่อนในลาว 2 ครั้ง โดยข้ามไปเขื่อนน้ำเทิน 2 ได้ถามชาวบ้านว่า ได้ค่าชดเชยหรือไม่ เพราะว่าตัวเองก็ใช้ ไฟฟ้าในลาว กลับมาก็คิดว่าจะกลับมาทำผ้าป่า ช่วยชาวบ้านน้ำงึม ซึ่งมีบ้านบนเนินเขา สภาพลำบากมาก ถูกสกัดไม่ให้เข้าลาว เลยให้นักศึกษาอเมริกา ไปดูน้ำเทิน 2 ซึ่งสร้างโดยบริษัทของไทย และไปดูภูเขาที่กำลังจะสร้างเขื่อนเซเปียน เซนำน้อย ซึ่งคิดว่าถ้าสร้างแล้วน้ำคงท่วมชาวบ้าน ได้คุยกับผู้หญิงลาว เขาบอกว่า พูดไม่ได้ กลัวโดนฆ่า เลยต้องบอกเขาต้องสู้ แต่พอเห็นข่าวเขื่อนแตกแล้ว ภาพเก่าย้อนกลับมาเลย ยิ่งรู้ว่าน้ำท่วมหนัก สงสารพี่น้องลาวมาก บริษัทไม่เห็นชีวิตคนแต่มองเหมือนผักปลา เหมือนสภาพของเราสมัยก่อน ที่เคยหาปลาแต่อยู่ดีๆมาสร้างเขื่อนผลิตไฟ

“อยากให้นักลงทุนมีจิตสำนึกบ้าง ที่นาของชาวบ้านถูกล้างบางไปหมด คนอยู่ต่อไปยิ่งเหมือนตายทั้งเป็น ขนาดคนไทยยังเข้าไม่ถึงสิทธิตัวเอง อยากให้คนลาวได้ฟัง ให้กำลังใจและอยากให้ออกมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ สิ่งของที่บริจาคไป ส่วนใหญ่เป็นคนไทยทั้งหมด แต่นักลงทุนให้เงินแค่ไม่เท่าไหร่ อนาคตคนลาวยังต้องเจอเขื่อนอีก 100 เขื่อน นั่นคือชีวิตของคุณ เราแค่ปากมูลแค่สูญเสียอาชีพ แต่คุณต้องสูญเสียคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง นั้นเป็นสิ่งที่ต้องคิด เราเคยทำงานรณรงค์กับน้ำโขง ไม่อยากฝากเงินกับธนาคารที่ปล่อยกู้สร้างเขื่อนเพราะเงินได้เอาไปทำโครงการเหล่านี้”นางสมปองกล่าว

นายเมียช เมียน ชาวกัมพูชา ตัวแทนชาวกัมพูชาที่ทำงานติดตามการพัฒนาในเขตสตรึงเตร็งและรัตนคีรี กล่าวว่าผลกระทบจากเขื่อนในกัมพูชาที่อยู่ตามแม่น้ำเซกองคือหมู่บ้านที่อยู่ตามแม่น้ำเซกองที่เมืองเสียมปาง จังหวัดสตรึงเตร็งเป็นชายแดนแขวงอัตตะปือในลาว มีหมู่บ้านประมาณ 4 ชนเผ่าคือลาว กะแว ลุน และแคะ ชาวบ้านไม่รู้ว่าเขื่อนอยู่ตรงไหน การสร้างเขื่อนอยู่ตามลำน้ำเซกองและลำน้ำสาขาของเซกองทั้งเซน้ำน้อย เซเปียน ห้วยเฮาะ ในช่วงที่น้ำท่วม ชาวบ้านในกัมพูชา ไม่ได้ดูข่าวทั้งหมด และไม่มีจดหมายหรือการส่งข่าวเตือนจากรัฐบาลกัมพูชาด้วย ชาวบ้านได้รับข่าวด้วยโทรศัพท์ที่โทรหากันเองจากชาวบ้านที่อยู่ตอนล่างที่รู้ก่อน

“การไหลของน้ำมันซัดมาอย่างรวดเร็ว กระแสไหลแรงมาก น้ำเซกองช่วงที่มันแคบทำให้น้ำซัดแรงเร็ว ชาวบ้านไม่ได้เตรียมตัว น้ำท่วมไม่ได้เสียหายต่อชีวิตแต่เสียหายกับพื้นที่เกษตรและสัตว์เลี้ยง น้ำขุ่นมีตมปนมาด้วย เรือ สิ่งของ ต่างๆ บางส่วนก็ไหลไปตามน้ำ บางส่วนก็รักษาได้ ช่วงนี้ชนเผ่าของเราปลูกข้าวไร่ ทำสวน ถูกน้ำท่วมขัง 6-7 วัน เขื่อนแตกตั้งแต่วันที่ 23 กรกฏาคม น้ำยังท่วมขังถึงวันที่ 2 สิงหาคม ทำให้ข้าวที่ปลูกเสียหาย คนส่วนมากก็ต้องไปอยู่บนโนนที่สูงเพื่อความปลอดภัย” นายเมียช เมียน

นายเมียช เมียน กล่าวว่าหมู่บ้านที่ตนไปสำรวจมาอยู่ตามริมน้ำ มีประมาณ 17 หมู่บ้าน ริมเซกอง ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าที่ได้รับผลกระทบมาก เพราะไม่มีความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ และคนเหล่านี้ปลูกเฉพาะสิ่งที่ตัวเองกินเท่านั้น ถ้าเสียหายหมด จะต้องอดอยากต่อไปอีก 1-2 ปี

นายนิวัตน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จังหวัดเชียงราย กล่าวว่าเขื่อนเป็นสิ่งก่อสร้างที่ตกยุคตกสมัยแล้วซึ่งเมื่อ 100 ปีก่อนอาจจะดี เพราะทรัพยากรเยอะ ปัจจุบันคนเยอะ ทรัพยากรน้อยลง และเขื่อนได้ทำลายชีวิตและความมั่นคงของชาวบ้าน เขื่อนเกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจเพราะต้องการเงิน และพลังงานเป็นเรื่องข้ออ้างเพราะแหล่งพลังงานมีหลากหลายรูปแบบมาก แต่ตอนนี้ผู้อยากก่อสร้างไม่ยอมพูดถึงเพราะเขื่อนเป็นตัวทำเงินและทำลายชุมชนมากที่สุด ยืนยันได้จากชาวบ้านหลายที่ๆ สำคัญที่สุดคือ กระบวนการที่จะต้องตอบต่อสังคม ยังไม่สมบูรณ์ ผู้ที่สร้างเขื่อนไม่เคยพูดเรื่องเศรษฐศาสตร์นิเวศ ขณะที่รัฐบาลลาวคิดเรื่องเงินเป็นหลัก

นายนิวัฒน์กล่าวว่าเขื่อนในลาวอันตรายมาก โดยเขื่อนน้ำอู น้ำทา เป็นเขื่อนในหุบเขา ถ้าฝนตกมากๆ ยิ่งน่ากลัว ขณะที่เขื่อนอีกหลายแห่งเป็นเขื่อนดินด้วย หากถามชาวบ้านในลาวว่า ถ้าฝนตกเขื่อนแตกทำอย่างไร ชาวบ้านตอบไม่ได้ ตอบได้แค่ว่า หนีให้ทัน หากหนีไม่ทันก็ตายแบบเซเปียน-เซน้ำน้อย

“เขื่อนมันทำให้ความเสียหายสะสม ยิ่งนานวัน ยิ่งมีผลกระทบมากขึ้น ผลกระทบสะสมมากขึ้น 20-30 ปี อาจจะรวบรวมแล้วอาจจะเป็นขั้นภัยพิบัติเลยก็ได้ ในมุมองของผมคือเขื่อนมันหมดสมัยแล้ว”ครูตี๋กล่าว

นายนิวัฒน์กล่าวว่า กรณีเขื่อนแตกในลาวนั้น ความรับผิดชอบและดูแลของบริษัทเจ้าของโครงการถือว่าแย่มาก ยกตัวอย่าง บริษัทราชบุรีโฮลดิ้ง พอเขื่อนแตกไม่นาน ออกมาบอกว่า ตัวเขื่อนที่แตกไม่ใช่ตัวหลักเป็นแค่เขื่อนตัวเล็ก และสามารถเดินหน้าโครงการต่อได้

“นี่คือสัญญาณว่ามีความเป็นมนุษย์อยู่หรือไม่ ขณะที่กำลังมีคนตายอยู่มากมาย แต่บริษัทกลับบอกว่าจะสร้างต่อไปได้ มันเป็นเรื่องที่ส่งถึงธรรมาภิบาลของบริษัท ที่จริงเขื่อนแตกไม่ควรพูดเรื่องอื่น ต้องพูดเรื่องชีวิต และการช่วยเหลือ เพราะแผ่นดินถิ่นอาศัยของชาวบ้านหายไปหมด แล้วคนที่อยู่กับเขื่อนเขาจะคิดอย่างไร เพราะมันฆ่าพ่อแม่พี่น้องของเขา ถ้ารัฐบาลให้สร้างต่อนี่ไม่ใช่รัฐบาลแล้ว”ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าว

นายนิวัฒน์กล่าวว่าอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องทบทวนคือกลุ่มที่ให้ทุนเพราะไม่มีสำนึกเลยว่า ให้กู้เงินไปทำอะไร โดยเอาเงินที่ชาวบ้านไปฝากไว้ปล่อยกู้สร้างโครงการที่ทำลายชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ยกตัวอย่างกรณีเขื่อนไซยะบุรี มี3-4 ธนาคารที่ให้เงินกู้สร้างเขื่อน เราถามธนาคารว่า เงินที่ให้กู้มันสร้างผลกระทบต่อชาวบ้านและธรรมชาติ จะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งเขาไม่เคยตอบ แล้วอย่างนี้หลักธรรมาภิบาลอยู่ที่ไหน ถ้าไม่คิดถึงเศรษฐศาสตร์นิเวศ ซึ่งเห็นชัดว่าประชาชนไม่เคยได้อะไรจากคนพวกนี้ มีแต่ทุนและรัฐบาลได้ ประชาชนมีแต่ความทุกข์ยากทั้งหมด เหมือนเขื่อนกั้นแม่น้ำอู เพียงไม่กี่ปีสร้างเขื่อน 7 แห่ง ซึ่งความพร้อมและมาตรฐานการสร้างมีหรือไม่ ขณะที่ลำน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย เขื่อนยังไม่เสร็จ จะเก็บน้ำ ผู้สร้างเขื่อนไม่มีมาตรฐานแล้ว

“อยากฝากถึงรัฐบาลในแม่น้ำโขง หยุดใช้คำว่าอธิปไตย แม่น้ำมันเป็นของคนทุกประเทศ หยุดใช้คำนี้ในการอ้างสร้างเขื่อนในประเทศของตน คำว่าอธิปไตย มันอ้างเพื่อหาเงิน จอมปลอม แม่น้ำมันไปหากันหมด เมื่อสร้างตรงนี้ มันมีผลกระทบทั้งหมด”ครูตี๋ กล่าว

นายศุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการข่าวสำนักพิมพ์เดอะเนชั่นกล่าวว่า เขื่อนไม่สามารถสร้างได้ทั้งประเทศแม้มีภูเขาแม่น้ำทั่วประเทศ เพราะไม่สามารถสู้กับธรรมชาติได้ ลาวไม่สามารถเป็นแบตเตอรี่ให้เอเชียได้ เพราะลาวไม่ได้คิดต้นทุนอีกหลายอย่าง คำถามต่อมาคือเมื่อลาวทบทวนยุทธศาสตร์นี้ แล้วทำอย่างไร ลาวเป็นประเทศที่สวยงามมากทั้งธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม ลาวคงคิดขายอย่างอื่นบ้าง ลาวคงเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อไม่ให้เบียดเบียนสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนตัวเอง เช่น การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน หรือดัดแปลงธรรมชาติมาขาย โดยที่ผ่านมาไม่ได้คิดแบบนี้ แต่ต้อนรับการลงทุนโครงการขนาดใหญ่เพื่อสร้างความเจริญเติบโตให้ประเทศ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่ลาวจะคิดใหม่

“เขื่อนแตกครั้งนี้ไม่ใช่แค่ให้บทเรียนกับลาวเท่านั้น ยังให้บทเรียนกับรัฐบาลในภูมิภาคนี้ด้วย โดยเฉพาะในเรื่องความรับผิดชอบทั้งด้านการลงทุนและการพัฒนา หากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ แม้แต่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือเอ็มอาร์ซีที่มักประกาศว่าตัวเองไม่มีอำนาจนั้น จริงๆไม่ใช่เพราะมีเขื่อนมากมายอยู่ในแม่น้ำโขง ดังนั้นในการประชุมครั้งต่อไปควรมีประเทศสมาชิกกล้าหาญหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือว่าหากเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้จะรับผิดชอบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกันอย่างไร”นายศุภลักษณ์ กล่าว

On Key

Related Posts

USIPแนะไทยชิงธงนำปราบปรามแหล่งอาชญากรรมริมเมย ชี้มีนาคมอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่-จีนจับชิตู เชื่อแดนมังกรต้องการขยายอิทธิพลเปิดช่องให้รัฐบาลทหารพม่ากุมพื้นที่ ขณะที่ 32 เหยื่อชาวอินโดฯหนีข้ามแดนทะลักไทย

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2568 นายเจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำRead More →

แหล่งอาชญากรรมริมเมยป่วนหลังถูกกดดันหนัก มาเฟียจีนพล่าน-ชักไม่มั่นใจกองกำลังกะเหรี่ยงเทา เตรียมฉวยจังหวะช่วงตรุษจีนกลับประเทศ แนะรัฐสบช่องเก็บข้อมูลแก๊งอาชญากร

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 แหล่งข่าวด้านความมั่นคงRead More →

ทัวร์จีนเมืองชายแดนป่วน นักท่องเที่ยวแดนมังกรหายไป 80% ผู้ประกอบการโอดกรุ๊ปทัวร์ยกเลิกแทบเหี้ยน เผยโลกโซเชียลจีนกระหึ่มหวาดกลัวหนัก เชื่อคนหายนับแสนราย ตั้งคำถามทำไมช่วยไม่ได้เหมือน “ซิงซิง”

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จาRead More →