เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2561 ที่มหาวิทยาลัยโซกัง กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลีหรือเกาหลีใต้ ตัวแทนภาคประชาสังคมเกาหลีในนาม The Coordinated of Response Team of the Ko rean Civil Societies for the Xepian –Xe Namnoy Dam Collapsed กลุ่มติดตามการลงทุนเขื่อนลาว(Laos Dam Investment Monitor) และคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย โซกัง ได้จัดเวทีเสียงจากท้องถิ่นและเกาหลี(Voice from the Ground and Korea) โดยมีตัวแทนชาวบ้านกัมพูชา และมีผู้สนใจที่เป็นนักศึกษา นักวิชาการและนักกิจกรรมในเกาหลีเข้าร่วมประมาณ 60 คน
ทั้งนี้เวทีเริ่มด้วยการฉายสารคดีสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับกรณีเขื่อนเซเปียน -เซน้ำน้อยแตกเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 โดยนางสาวเปรมฤดี ดาวเรือง ผู้ประสานงานกลุ่มจับตาการลงทุนเขื่อนในลาว กล่าวว่า พื้นที่ที่เกิดเหตุดังกล่าว เป็นพื้นที่ของชุมชนที่เป็นชนเผ่ามากมายของลาว ที่ราบสูงภูเพียงบอละเวน เป็นพื้นที่สูงที่อุดมสมบูรณ์ของการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะ กาแฟ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟของลาว และมีความหลากหลายทางชีวภาพ สูงมาก และเป็นพื้นที่ทิ้งระเบิดช่วงสงครามปลดปล่อยลาวติดต่อกับเส้นทางของโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญที่ไดรับผลกระทบมาก เพราะว่ามีชุมชนเผ่าได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนตั้งแต่เขื่อนห้วยเฮาะ นอกจากนี้ในภาคใต้ของลาว เป็นพื้นที่ที่บริษัทเกาหลี ได้เข้าไปลงทุนสูงมาก เมื่อเกิดเหตุการณ์เขื่อนแตก เรายังไม่ได้ยินชัดเจนว่า บริษัทเกาหลีจะรับผิดชอบอย่างไร การจัดเวทีครั้งนี้เพื่อจะร่วมกันผลักดันให้เกิดความรับผิดชอบต่อชาวบ้านในพื้นที่ที่ถือว่าเป็นชนเผ่า เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าในลาว
นายบุญทัน ไทร นักวิจัยอิสระจากรัตนคีรี อดีตผู้ประสานงานเครือข่ายแม่น้ำ 3 เซ กล่าวว่า เขื่อนอยู่ห่างจากชายแดนกัมพูชาประมาณ 70 กิโลเมตร มีการแจ้งเตือนที่เป็นทางการ โดยทางการกัมพูชา ได้ออกจดหมายแจ้งเตือนจากทางการว่าให้เฝ้าระวังภาวะน้ำท่วมจากเขื่อนแตกในลาว แต่ว่าการแจ้งเตือนมาช้า เนื่องจากระดับน้ำได้เริ่มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2561 ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในเขตเมืองเสียมปางประมาณ 5 ชุมชน 31 หมู่บ้าน กว่า 5,255 ครอบครัว ประชาชนกว่า 25,610 คน ได้รับผลกระทบต้องถูกน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตร และสูญเสียสัตว์เลี้ยง ซึ่งต้องอพยพอย่างเร่งด่วน
นายบุญทัน ไทร กล่าวว่าชาวบ้านไม่เคยเจอน้ำท่วมเลยตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา เหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่ามีผลกระทบหนักต่อประชาชน เพราะว่ารัฐบาลกัมพูชาต้องใช้งบประมาณของรัฐและการระดมการบริจาคจากประชาชนกัมพูชาในการช่วยเหลือจำนวนมาก ขณะนี้เรากลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการดังกล่าว นับว่าไม่มีความยุติธรรมกับเราเท่าไหร่นักเพราะเราไม่ได้ประโยชน์จากโครงการนั้น แต่เราได้รับผลกระทบหนัก และทางบริษัทเกาหลีใต้หรือรัฐบาลเกาหลีก็ไม่ได้เข้ามาช่วยเหลืออะไรเราเลย เราอยากเรียกร้องให้รัฐบาลลาวตรวจสอบเหตุการณ์ครั้งอย่างเปิดเผยและโปร่งใสและอยากให้เรียกร้องความรับผิดชอบข้ามพรมแดนมายังกัมพูชา
นายกง เลียน ตัวแทนบ้านหนองสม เมืองเสียมปาง จังหวัดสตรึงเตรง ในกัมพูชา ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง กล่าวว่า หลังจากที่เขื่อนแตกแล้ว ทำให้เกิดน้ำท่วมรวมทั้งฝนตกหนักมาก เราอยู่ใกล้ชายแดนลาว ปริมาณน้ำไหลมาถึงเร็วมาก ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นกลางคืนตั้งแต่วันที่ 23 แต่ รัฐบาลได้แจ้งเตือนวันที่ 24 พื้นที่ไร่นาของเรากว่า 30 เปอร์เซ็นต์ เจอน้ำท่วม และ มีสัตว์เลี้ยงที่ตายเป็นจำนวนมาก แต่เราไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน
นายลี ยองกา ตัวแทน ผู้ประสานงานกลุ่ม People Solidarity for Participation Democracy กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าว จนถึงขณะนี้รัฐบาลเกาหลีและบริษัทไม่ได้แสดงการแก้ไขปัญหาอย่างไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงด้านการเงินการลงทุนก็เงียบ ทั้งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงทุนในครั้งนี้ เราอยากจะเสนอว่า ในฐานประเทศที่เป็นผู้ลงทุน ควรแสดงความรับผิดชอบต่อโครงการขนาดใหญ่ และการละเมิดผลกระทบสิทธิมนุษยชน ที่ข้ามไปลงทุนในหลายประเทศ มีหลายโครงการที่ทางธนาคารนำเข้าและส่งออกของเกาหลี (EXIM Bank)ให้เงินกู้ ซึ่งเป็นเงินของประชาชน และขณะนี้ธนาคารก็ได้พยายามออกมาตรการด้านการป้องกัน(Safeguard Policy) มาเมื่อปี 2016 อย่างไรก็ตามยัง มีโครงการน้อยที่ได้รับเงินกู้แล้วนำนโยบายด้านการป้องกันไปปฏิบัติจริง และบังคับใช้จริงจัง เช่นในกรณีโครงการเขื่อนห้วยเฮาะ ซึ่งเป็นเขื่อนหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับเขื่อนเซเปียน- เซน้ำน้อย โดยทางธนาคารส่งออกและนำเข้าเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่บริษัทเอกชนในการลงทุนโครงการดังกล่าว ในรูปแบบของโครงการ Public Private Partnership และได้รับการประกาศว่าเป็นโครงการประสบความสำเร็จ แต่จริงๆแล้ว ในประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับการแจ้งและรับผิดชอบตามกฎหมาย
นางอึม อึนฮุย กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศเกาหลีใต้มีนักลงทุนไปลงทุนในต่างประเทศจำนวนมากจำเป็นต้องออกกติกา ควบคุมOfficial Development Assistance เป็นกองทุน และเป็นเงินของพวกเราประชาชน และแม้เป็นงบประมาณที่สามารถจะช่วยเหลือประเทศที่กำลังต้องการพัฒนาและเราสามารถที่จะป้องกันการทำลายวิถีชีวิตในพื้นที่ประเทศที่กำลังพัฒนาได้ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมากที่จะกดดันให้รัฐบาลเกาหลีต้องรับผิดชอบและต้องผลักดันให้มีการตรวจสอบที่โปร่งใสและประชาสังคมต้องร่วมกันผลักดันและการตรวจสอบที่โปร่งใสต้องมีและการฟื้นฟูระยะยาวก็เป็นสิ่งจำเป็น รวมไปถึงการร่วมมือในการทำงานกับภาคประชาสังคมในประเทศไทย เพื่อผลักดันให้การรับผิดขอบในประเด็นนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ในวันที่ 18 กันยายน ตัวแทนภาคประชาสังคมเกาหลีและไทย ได้เดินทางไปยังรัฐสภาเกาหลีใต้ เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน- เซน้ำน้อยแตก โดยได้เข้าพบนาย คิม ซุง วาน กรรมาธิการด้านการค้า อุตสาหกรรม พลังงานและธุรกิจขนาดเล็กและสตาร์ตอัพ ของรัฐสภาสาธารณรัฐเกาหลี โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีเขื่อนเซเปียน -เซน้ำน้อยแตก และได้เรียกร้องให้ตัวแทนรัฐบาลเกาหลีได้เดินทางไปลงพื้นที่เมืองสนามไซย แขวงอัตตะปือ สปป.ลาว และทางกลุ่มประชาสังคมยังได้เน้นย้ำให้ความสำคัญและเรียกร้องให้มีกระบวนการตรวจสอบที่ชัดเจนและโปร่งใส และเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อสร้างความเชื่อว่า ประชาชนที่ได้รับผลกระทบกว่า 7,000 คนในลาวและอีกนับพันชุมชนในกัมพูชาจะได้รับความช่วยเหลืออย่างยุติธรรมและนำไปสู่การทบทวนนโยบายด้านการลงทุนโครงการไฟฟ้าในอนาคต
นอกจากนั้นตัวแทนภาคประชาสังคมเกาหลีและไทยได้ร่วมกันแถลงข่าวที่ด้านหน้าบริษัท SK Engineering จำกัด เพื่อเรียกร้องให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะและแสดงการรับผิดชอบและเข้าร่วมการประชุม เนื่องจากทางภาคประชาสังคมได้ส่งหนังสือสอบถามเกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขปัญหาและขอให้ตัวแทนบริษัทร่วมเวทีเสวนาในวันที่ 19 กันยายน 2561 แต่ไม่มีการตอบรับจากบริษัท
อนึ่ง โครงการเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ตั้งอยู่ในเขตที่ราบสูงโบโวเลน รอยต่อเมืองปากซอง แขวงจำปาสัก กับเมืองสะหนามไช แขวงอัตตะปือ เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2556 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปี 2562 โดยมีผู้พัฒนาโครงการคือ บริษัทร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลลาว จำนวน 4 บริษัท คือ บริษัท SK Engineering and Construction จำกัด ถือหุ้น 26 % บริษัท Korea Western Power จำกัด ถือหุ้น 25% บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 25 บริษัท Lao Holding State Enterprise ถือหุ้น 24% โดยเกิดเหตุการณ์เขื่อนย่อย D แตก เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 7,000 คนและมีหมู่บ้านกว่า 13 หมู่บ้านได้รับผลกระทบอย่างหนักและมีผู้สูญหายเป็นจำนวนมาก
—————-
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.