Search

ผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกาฉีกหน้าธนาคารโลกชำแหละสุดยอดโมเดลเขื่อนน้ำเทิน 2 ล้มเหลว เผยคนกทม.เป็นผู้กดปุ่มเปิด-ปิดน้ำเขื่อนในลาว “ครูตี๋” ชี้แม่น้ำโขงป่วย-กั้นสร้างไร้หลักวิชาการ


เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) อาคารมณียา กทม.ได้มีเวทีเสวนาเขื่อนลุ่มน้ำโขง ภัยพิบัติและความเป็นธรรมทางนิเวศน์วิทยา เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในลุ่มน้ำโขง (Dams, disaster and ecological justice: hydropower legacies in the Mekong) โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายบรูซ ชูเมกเกอร์ จากอเมริกาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเขื่อนในลาว นางสาวเปรมฤดี ดาวเรือง ผู้ประสานงานกลุ่มจับตามการลงทุนเขื่อนลาว นางสาวมอรีน แฮรีส ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ และนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ

หมู่บ้านที่สร้างใหม่ภายหลังจากสร้างเขื่อนน้ำเทิน 2

นายบรูซ กล่าวว่าในช่วงที่มีการต่อต้านเขื่อนปากมูนในประเทศไทย ผลกระทบจากเขื่อนต่อสิ่งแวดล้อมเป็นที่ชัดเจน ขบวนการต่อต้านเขื่อนเข้มข้นมาก ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และรัฐบาลยากที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศไทย แต่หลังจากประเทศลาวสิ้นสุดสงครามเย็น กลุ่มผู้ลงทุนได้หาแหล่งพัฒนาเขื่อนขนาดใหญ่ในลาว ด้วยเหตุผลหลัก คือ ลาวมีแม่น้ำ มีศักยภาพพัฒนาพลังงานน้ำสูงมาก ธนาคารโลกเองก็มีภารกิจพัฒนาประเทศด้อยพัฒนาและลาวเป็นประเทศที่ประชาชนไม่สามารถคัดค้านได้

นายบรูซกล่าวว่า ในยุควิกฤตต้มยำกุ้งทำให้ไทยมีความต้องการไฟฟ้าลดลงอย่างมาก ซึ่งยุคนั้นการวิพากวิจารณ์เขื่อนขนาดใหญ่เป็นไปในทางลบทั่วโลก อย่างไรก็ตามต่อมาโครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 ได้ถูกปัดฝุ่นขึ้นโดยมีบริษัทเอกชนไทยเข้ามาเกี่ยวข้องและขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. โครงการนี้มีความซับซ้อนแต่เป็นความฝันของวิศวกรเพราะดึงน้ำข้ามมาจากอีกลุ่มน้ำหนึ่งเพื่อผลิตไฟฟ้า ขณะนั้นธนาคารโลกอ้างว่าเป็นการสร้างเขื่อนรูปแบบใหม่โดยมีผู้เชี่ยวชาญนานาชาติอยู่ในคณะกรรมการที่ตรวจสอบ (PoE) และยังมีเอ็นจีโอเรื่องสัตว์ป่ารับทำหน้าที่อพยพและดูแลสัตว์ป่าที่จะถูกน้ำท่วม ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเป็นห่วงผลกระทบสิ่งแวดล้อมค่อนข้างเยอะ ที่น่าสนใจหนึ่งคืออ่างเก็บน้ำ 430 ตารางกิโลเมตรหรือกว่า 2 แสนไร่ ที่ต้องอพยพสัตว์ป่าซึ่งมีคุณค่า และในแม่น้ำเซบั้งไฟต้องอพยพกลุ่มชาติพันธุ์ ตอนนั้นทุกๆหมู่บ้านมีตลาดปลาที่อุดมสมบูรณ์มาก แต่เขื่อนได้ท่วมเขตอนุรักษ์ที่สำคัญและตัว “เสาล้า” ซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ได้หายไป

นายบูรซกล่าวว่า ธนาคารโลกพยายามบอกว่าสามารถทำเขื่อนนี้ให้ดีได้ โดยจะเอาเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐช่วยเหลือฟื้นฟูชีวิตชาวบ้าน และพูดถึงการเยียวยาประชาชนท้ายน้ำ โดยธนาคารโลกได้ออกหนังสือและประชาสัมพันธ์มากมาย โดยมุ่งทำให้เขื่อนน้ำเทิน 2 เป็นโมเดลสำหรับการสร้างเขื่อนในพื้นที่อื่น อย่างไรก็ตามรายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญระบุว่าหลังจากติดตามการเยียวยาชดเชยชาวบ้าน โดยมีการทุ่มงบประมาณลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มีบ้านใหม่ที่สวย แต่จริงๆเขาต้องสูญเสียวิถีชีวิต ซึ่งผลกระทบสามารถแตกออกเป็น 5 เสาหลัก เช่น การเลี้ยงสัตว์ ป่าไม้ การประมง

“โครงการนี้ไม่สามารถเยียวยาได้ ไม่ว่าชดเชยอย่างไรก็มีรายละเอียดต้องแก้ไข ตอนปี 2014 ผมได้ลงพื้นที่กับผู้เชี่ยวชาญ พบว่าปลาต่างๆ หายนะคือไม่มีอีกแล้ว เพราะปลาอพยพไม่ได้ มีเขื่อนกั้น ทีน่าสนใจคือการปล่อยน้ำขึ้น-ลง ขึ้นอยู่กับกรุงเทพว่าปิด-เปิดแอร์แค่ไหน เพราะส่งผลกับน้ำที่ระบายจากเขื่อน กลายเป็นว่าผู้ควบคุมเขื่อนและน้ำในแม่น้ำคือคนที่เปิดแอร์ในกทม.” นายบรูซ กล่าว
(อ่านรายละเอียดเพิ่มในบทคัดย่อหนังสือ DEAD IN THE WATER ใน https://transbordernews.in.th/home/?p=19583 )

น.ส.เปรมฤดีกล่าวว่า เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยเป็นการร่วมทุนของบริษัทไทยกับเกาหลีใต้ ซึ่งหากมองเชื่อมโยงกับเขื่อนน้ำเทิน 2 ซึ่งเราใช้เวลา 12 ปีติดตามอย่างใกล้ชิดและเห็นชัดเจนแล้วว่าเขื่อนสร้างความเสียหายขนาดไหนต่อประชาชนและระบบนิเวศ ขณะเดียวกันเราได้ลงพื้นที่เมืองสนามไซ เพื่อดูผลกระทบจากเขื่อนแตกและเดินทางไปเกาหลีพบกับสส.และคณะกรรมาธิการรัฐสภา รวมทั้งบริษัทเอสเคที่ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยซึ่งยังก่อสร้างไม่เสร็จ เพราะอย่างน้อยบริษัทเอสเคควรออกมาแสดงความรับผิดชอบซึ่งก่อนหน้านั้นบริษัทไม่ได้พูดอะไร จนกระทั่งคณะกรรมาธิการเข้ามาตรวจสอบ ซึ่งแตกต่างจากของไทยที่บริษัทได้รับเงินทุนสนับสนุนจากธนาคารหลายแห่งในไทย

“วันนี้ชาวบ้านได้รับเงินวันละ 20 บาทเพื่อประทังชีพ พวกเขาไม่อยากกลับอีกแล้วเพราะพื้นที่นั้นกลายเป็นสุสานที่มีประชาชนเสียชีวิตและสูญหาย ตอนนี้ชาวบ้านเห็นว่าบริษัทเอสเคของเกาหลีสร้างบ้านให้อยู่ แต่บริษัทไทยไม่ค่อยโผล่หน้าไปเลย เพราะรัฐสภาเกาหลีเขามีรายงานการตรวจสอบ สองวันที่ผ่านมาบริษัทเอสเคได้ออกมาขอโทษอีกครั้ง และยืนยันว่าเขากำลังแก้ปัญหาอยู่ แต่บริษัทไทยไม่มีเลย บริษัทราชบุรีโฮลดิ้งบอกว่าอย่าเพิ่งกังวล สิ่งที่เกิดขึ้นกับเซเปียน-เซน้ำน้อย คือรัฐบาลลาวจะตัดสินอนาคตของตัวเองอย่างไร เราต้องร่วมมือกันติดตามการลงทุนขนาดใหญ่โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องรับผิดชอบ เพราะมันไม่ใช่แค่เขื่อนพัง” นางสาวเปรมฤดี กล่าว

เรือประมงของชาวบ้านในแม่น้ำเทิน ซึ่งหาปลาได้ยากเต็มที

นายนิวัฒน์ กล่าวว่าแม่น้ำโขงป่วย แต่ไม่รู้ระยะไหน ซึ่งเกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่เห็นแก่ตัวและไม่เข้าใจธรรมชาติและคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ ปรากฏการที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงเกิดจากเขื่อนโดยเขื่อนคือวิกฤตของแม่น้ำที่ส่งผลกระทบขึ้นมากมาย โดยเรื่องใหญ่คือเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งรัฐบาลและนักลงทุนอาจมองเป็นเรื่องเล็ก แต่ตนคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ของชาวบ้าน และเชื่อว่าความเจ็บป่วยแม่น้ำโขงจะยิ่งเพิ่มขึ้นเพราะจะสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนล่างอีก 11 เขื่อน นอกจากนี้ยังมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาขาแม่น้ำโขงเกือบทุกสาย ซึ่งอาจทำให้แม่น้ำโขงถึงกาลวิบัติ และการสร้างเขื่อนเกิดขึ้นโดยไม่มีธรรมาภิบาล เมื่อก่อนเรามองจีนว่าไม่มีธรรมาภิบาล แต่เดี๋ยวนี้เหมือนกันหมด เป็นการก่อสร้างที่ไร้หลักวิชาการ เช่น เขื่อนไซยะ หลายเรื่องมีปัญหาแต่ดันทุรังสร้างจนใกล้จะเสร็จแล้ว

“เขื่อนน้ำเทิน 2 ธนาคารโลกบอกว่าดีที่สุด แต่สุดท้ายยังใช้ไม่ได้ ผมเชื่อว่ายังมีเขื่อนในลาวอีกมากมายที่ใช้ไม่ได้ ยิ่งเป็นเขื่อนที่เกิดมาก่อนเขื่อนน้ำเทิน 2 ซึ่งมีอีกเยอะ กรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยเป็นตัวอย่างชัดเจน และมีปัญหาเรื่องการโกงกิน เขื่อนทุกแห่งหลังจากสร้างแล้ว ต้องอพยพผู้คนซึ่งทุกเขื่อนต่างโปรโมทเรื่องการอพยพไปอยู่ในบ้านใหม่ แต่บ้านกินไม่ได้ เพราะไม่มีที่ทำกิน คุณมีบ้านอยู่ เท่ห์ ดีกว่าบ้านเดิม แต่เขาจะกินอะไร ที่สำคัญการรวมเอาคนหลายๆ หมู่บ้านที่มีความแตกต่างวิถีวัฒนธรรมมาอยู่ด้วยกัน ทำให้มีปัญหา เกิดการทะเลาะ และเกิดผลกระทบสะสม เมื่อไม่มีที่ทำกินไม่มีอาชีพ จึงข้ามมาหากินฝั่งไทย มารับจ้างทำงานที่เสี่ยง เกิดประเด็นการค้ามนุษย์ ถามว่าเรื่องพวกนี้คนลาวพูดได้หรือไม่ แท้จริงแล้วไม่มีปัญหาเขื่อนไหนที่คนลาวพูดได้” นายนิวัฒน์ กล่าว

On Key

Related Posts

หญิงยูกันดาแฉอีกนรกริมน้ำเมยหลังถูกปล่อยตัวมาแม่สอด เหตุสุขภาพย่ำแย่ต้องให้สามีเป็นตัวประกัน-ทำงานแทน เผยมาเฟียสุดโหดบังคับหญิงท้องให้ทำแท้ง “ชิต ตู”เล่นบทตลกอีกปิดแหล่งอาชญาขัง “ซิง ซิง”แถมสั่งคุมเข้มชายแดนอ้างเหยื่อค้ามนุษย์ถูกลักลอบผ่านช่องทางไทย

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568  มาธา (นามสมมุติ) หญิงชRead More →