Search

“กองทุนชะอม” ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำ ในวิกฤตปัญหา “ที่ดิน”


โดย ภาสกร จำลองราช

ตั้งแต่จำความได้ นางก็เห็นต้นชะอมปลูกอยู่ตามบ้านนั้นบ้าน ผิดแต่ว่าสมัยก่อนมีไว้กินเองเป็นหลักแต่สมัยนี้ปลูกกันเป็นสวนเพื่อเก็บยอดขาย

นางบัวนำ ยั้งดี อายุ 66 ปี เกิดที่ชุมชนบ้านโป่ง ตำบลแม่แฝก จังหวัดเชียงใหม่ มีพี่น้อง 6 คน แต่พ่อแม่มีที่ดินอยู่เพียง 1 ไร่ ทำให้นางต้องดิ้นรนเพื่อหาที่ดินสำหรับทำการเกษตรเลี้ยงชีพ

บ้านโป่งเป็นชุมชนเก่าแก่นับร้อยปีอยู่ติดกับแม่น้ำปิง โดยสมัยก่อนชาวบ้านได้อาศัยป่าแพะใกล้หมู่บ้านเป็นแหล่งอาหาร ต่อมาเมื่อมีการตัดถนนเส้นเชียงใหม่-พร้าว ทำให้ที่ดินแถวนี้มีราคาพุ่งสูง ขณะที่ดินในป่าแพะกว่า 400 ไร่ถูกนายทุนนำไปออกเอกสารสิทธิ์อย่างรวดเร็วและถูกนำไปจำนองสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และแบ่งขาย แต่ไม่ประสบความสำเร็จที่ดินจึงถูกปล่อยทิ้งร้างมาตั้งแต่ปี 2537

ชาวบ้านโป่งทยอยเข้ามาแผ้วถางป่าแพะเดิมเพราะขาดแคลนที่ดินทำกินโดยในปี 2545 มีชาวบ้านราว 100 ครอบครัวเข้ามาจับจองพื้นที่แห่งนี้

“พวกเรามาอยู่เพราะความยากจนและไม่มีที่ดินทำกิน ป้าก็เข้ามาทำสวนชะอม หารายได้เลี้ยงครอบครัวมาจนทุกวันนี้” นางบัวนำเป็น 1 ในชาวบ้านที่เข้ามาใช้ที่ดินเลี้ยงชีพ โดยชาวบ้านได้สร้างกติกาต่างๆ ในการอยู่ร่วมกัน โดยแต่ละครอบครัวจะได้ที่ดินทำการเกษตร 2.2 ไร่ และที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัยอีก 2 งาน

ชาวบ้านได้ร่วมกันตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ โดยตอนแรกเก็บครอบครัวละ 100 บาท/เดือน แต่ด้วยความไม่แน่นอนของรายได้ซึ่งขึ้นอยู่กับพืชผักที่หามาได้ที่ราคาไม่นิ่ง เราจึงเปลี่ยนมาเป็นชะอม

“ที่นี่ทุกบ้านต่างทำสวนชะอม เราเลยเปลี่ยนมาเก็บเป็นชะอมเข้ากองทุนแทนเดือนละ 2 ครั้ง ทุกๆ ต้นเดือนและปลายเดือน ทุกบ้านต่างเก็บชะอมมามอบให้ส่วนกลางครั้งละ 1 กิโล ไม่ว่าตอนนั้นจะราคาเท่าไร เราก็เอาเงินเข้ากองทุน“ นางบัวนำอธิบายถึงที่มาของกองทุนชะอมซึ่งขณะนี้สะสมเงินได้ราว 1 แสนบาทจากทั้งหมด 79 ครอบครัว

ชาวบ้านที่นี่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาเป็นตัวกลางในการซื้อที่ดินจากเอกชนแล้วชาวบ้านก็จะผ่อนใช้รัฐบาลต่อไปจึงเป็นที่มาของธนาคารที่ดิน ซึ่งได้มีการจัดตั้งขึ้นแล้ว โดยได้มีการซื้อที่ดินในบางส่วน แต่ที่ดินบ้านโป่งยังมีปัญหาเพราะเจ้าของที่ดินขายค่อนข้างแพง นั่นหมายความว่าชาวบ้านก็ต้องผ่อนคืนธนาคารที่ดินในราคาที่สูงด้วย

“พวกเรามีรายได้ไม่แน่นอนหรอก แต่พยายามเก็บสะสมเอาไว้ทุกๆ เดือน มีรายได้จากการขายชะอมเป็นหลัก แต่ของป้าปีที่แล้วขายลำไยได้ด้วย ก็หวังว่าจะเอาเงินเหล่านี้ผ่อนซื้อที่ดินให้เป็นของตัวเอง เผื่อลูกหลานจะได้เอาไปทำกินต่อไป เราไม่เคยมีที่ดินเป็นของตัวเองเลย” นางบัวนำสะท้อนความบากบั่นในการแสวงหาที่ดิน

ในขณะที่ทุนใหญ่ต่างพากันกว้านซื้อที่ดินทั้งในเมืองและชนบทไว้ในครอบครองนับแสนไร่ได้อย่างสะดวกมือ แต่กลับเป็นเรื่องยากยิ่งสำหรับกรรมสิทธิในที่ดินเพียง 3 ไร่ของนางบัวนำและชาวบ้านโป่ง

หากสังคมนี้ยังไม่ “ปฎิรูปที่ดิน” และปล่อยให้อำนาจเงินมีอิทธิพลเหนือที่มาของปัจจัย 4 โดยที่ที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศตกอยู่ในมือคนรวยเพียงไม่กี่ตระกูล แล้วอนาคตสังคมไทยจะอยู่กันอย่างไร

———-

หมายเหตุในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ เครือข่ายภาคประชาชนได้ร่วมกันจัดมหกรรม “ที่ดินคือชีวิต ฝ่าวิกฤตที่ดินไทย” ขึ้น ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีกิจกรรมมากมาย (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/events/166212827666503/)

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →