Search

รุมวิพากษ์รัฐแก้ปัญหาปัญหาที่ดินเหลว-มองเป็นสินค้าซื้อขาย สังคมสุดเหลื่อมล้ำที่กินกระจุกตัวอยู่ในมือคนรวย ส.ศิวลักษ์ชวนชาวบ้านขับไล่พวกอีปรีย์จัญไร นักวิชาการแนะจัดสรรใหม่ให้คนจนเข้าถึง จวกกฏหมายภาษีที่ดินผิดเป้า


เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2561 ที่หอประชุมเล็กมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ เครือข่ายภาคประชาชน 13 องค์กร ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมมหกรรมโฉนดชุมชน “ที่ดินคือชีวิต ฝ่าวิกฤตที่ดินไทย” ในงานมีทั้งการเวทีเสวนา การปาฐกถา การออกร้านสินค้าของชุมชน รวมทั้งการแสดงดนตรี โดยในช่วงเช้าเริ่มต้นงานด้วยการกล่าวต้อนรับของ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีชาวบ้านร่วมฟังราว 300 คน

ดร.ปริญญากล่าวว่า ที่ดินในประเทศไทยมี 320 ล้านไร่ซึ่งเพียงพอต่อการอยู่อาศัยและทำกินของทุกครัวเรือน แต่ปัญหาเกิดจากกฎหมายที่ดิน เพราะเมื่อใช้กฎหมาย คนที่ไม่มีโฉนดกลายเป็นผู้ที่ไม่มีที่ดิน ต่อมาเมื่อมีกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติและกฎหมายอุทยานแห่งชาติ ก็ประกาศทับที่ประชาชนอีก ขณะที่การประกาศของสำนักงานปฏิรูปที่ดินหรือ สปก. ก็เกิดปัญหามากมาย เช่น นายทุนเข้าไปลงทุนในแหล่งที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ เข้าไปซื้อที่ดินจากชาวบ้านที่ยากจนและขาดเงิน ดังนั้นจึงถึงเวลาที่ต้องแก้ไขกฎหมายและเน้นทำให้ที่ดินเป็น “ที่ดินทำกิน” ไม่ใช่ “ที่ดินทำขาย”

“เราจึงควรหาทางออกซึ่งเริ่มต้นจากการให้โอกาสโดยการกระจายการถื่อครองที่ดิน เช่น มาตรการภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า การจัดการที่ดินแบบโฉนดชุมชน หรือธนาคารที่ดินคือรัฐไปซื้อที่ดินกลับมาแล้วจัดสรรให้ชาวบ้านทุกวันนี้เมื่อเกิดการรวมศูนย์ทางการเมืองก็ย่อมเกิดการรวมศูนย์ทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำของประเทศเพิ่มจากอันดับ 10 ของโลกเป็นอันดับ 3 ตอนนี้เรามีบทเรียน ไม่ว่าจะขัดแย้งกันแค่ไหนก็ต้องเล่นกันตามกติกา ไม่เช่นนั้นทหารก็จะเข้ามา และรัฐบาลก็มาสั่งให้เราทำ ขณะที่รัฐบาลประชาธปิไตยแตกต่างคือตั้งโจทย์แล้วถามหาทางออกร่วมกัน สิ่งที่เป็นหัวใจของการประชุมในวันนี้คือความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ประชาธิปไตยจะเข้มแข็งไม่ได้ หากยังมีความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ และความเหลื่อมล้ำที่สำคัญคือเรื่องที่ดินที่ต้องแก้ไข” ดร.ปริญญา กล่าว

ขณะที่นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ได้กล่าวแสดงความไว้อาลัยให้ ดร.อคิน รพีพัฒน์ ปูชณียบุคคลผู้มีบทบาทสูงในการแก้ไขปัญหาคนจนซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่าดร.อคินเป็นลูกเจ้า ทั้งฝ่ายพ่อและแม่มีเชื้อราชวงศ์ แต่ด้วยการไปเรียนมนุษยวิทยาและทำวิจัยเกี่ยวกับผู้ยากไร้ ท่านจึงอุทิศตนเพื่อผู้ยากไร้ ต่อมาได้ไปร่วมงานกับ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ในลุ่มน้ำแม่กลอง เพราะเป็นว่าชาวบ้านไม่ต้องย้ายเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ ซี่งเป็นเรื่องวิเศษที่สุด

นายสุลักษณ์กล่าวเปิดงานว่า ชาวตกวันตกมองว่าที่ดินเป็นสิ่งสำคัญที่สุดและคนเป็นรอง อังกฤษจึงแผ่ขยายอาณานิคมไปยึดที่ดินทั้งนั้น ขณะที่ไทยมีกฏหมายสมัยบรมไตรโลกนาถ แบ่งคนเป็นศักดินา แต่อย่างน้อยคนยากคนจนก็ต้องมีที่ดิน 5 ไร่ เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกรอง 2475 ระบบศักดินาถูกล้มไป ซึ่งอ.ปรีดา พนมยงค์ เขียนไว้ในธรรนูญสูงสุดว่าที่ดินเป็นของราษฏร และท่านเสนอแผนเศรษฐกิจ ที่ให้ชาวไร่ชาวนาอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีไม่แพ้ราชการ เช่นเดียวกับหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ที่ต้องการให้ชาวนาชาวไร่มีศักดิ์ศรี

“แม้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำความชั่วร้ายไว้มาก แต่ก่อนท่านจะพ้นจากอำนาจ ท่านออกกฎหมายว่าคนมีที่เกิน 5 ไร่ ไม่ได้ ที่ทำกินเกิน 50 ไร่ ไม่ได้ ผมว่าอันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดี ถ้าเผื่อว่าเราร่วมกันทำให้ที่ดินอย่างน้อย 5 ไร่ ถ้าท่านทั้งหลายร่วมมือกันเป็นพลังประชาชน ต้องเรียกร้องที่ดินกลับมาเป็นของประชาชน และที่ดินจะเป็นของประชาชนส่วนใหญ่ได้ บ้านเมืองจะต้องเป็นประชาธรรม ถ้าพูดแบบอาจารย์ป๋วยก็ต้องบอกว่าวิถีของสันติประชาธรรม ขับไล่ไอ้พวกอีปรีย์จัญไรนี่ไปให้พ้น”ส.ศิวรักษ์ กล่าว

ด้านนายประยงค์ ดอกลำใย ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวว่า เมื่อ 44 ปีที่แล้วมีการเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่ ในนาม “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” โดยมีข้อเรียกร้อง 9 ข้อ ซึ่งเกี่ยวกับปัญหาที่ดินทั้งสิ้น และทุกวันนี้ข้อเรียกร้องทั้งหมดยังร่วมสมัย กล่าวคือ ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาใดๆ ในเรื่องที่ดิน
มรดกการต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย คือ กฎหมาย 2 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.การควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 และ พ.ร.บ.ปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 โดยกฎหมายฉบับแรกไม่ถูกบังคับใช้เพราะให้คุ้มครอบผู้เช่า เจ้าของที่ดินจึงไม่พยายามใช้กฎหมายทำให้กฏหมายนี้เป็นหมัน ขณะที่กฎหมายปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมซึ่งมีเป้าหมาย 2 ประการคือ ให้รัฐจัดซื้อที่ดินเอกสารสิทธิ์มาจัดสรรให้เกษตกร แต่ปรากฏว่า 44 ปีที่ผ่านมา รัฐสามารถซื้อที่ดินนำมาจัดสรรได้เพียง 10,000 ไร่ต่อปี รวมแล้วจนถึงปัจจุบันซื้อแล้ว 4.5 ล้านไร่ จากที่ดินที่มีโฉนด 37 ล้านฉบับ หากยังดำเนินการเช่นนี้อยู่คงต้องใช้เวลา 3,200 ปี จึงจะกระจายการถือครองที่ดินสู่เกษตรกรผู้ยากไร้ได้สำเร็จ

นายประยงค์ยังกล่าวว่า หากย้อนหลังไปเมื่อ 64 ปีที่แล้ว ที่มีการประกาศประมวลกฎหมายที่ดินโดยมีเจตนารมณ์ที่ต้องการให้ประชาชนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินอย่างทั่วถึง โดยปัจจุบันกรมที่ดินออกเอกสารสิทธิ์ไป 128 ล้านไร่ โดยเป็นโฉนด 37 ล้านฉบับ ถูกถือครองโดยประชาชน 15 ล้านรายเท่านั้น หรือ ร้อยละ 24 ของประชากรทั้งหมด แต่ในบรรดาผู้ถือครองใน 15 ล้านคนนั้น เมื่อแบ่งเป็น 5 กลุ่มตามขนาดผู้ที่ถือครอง พบว่ากลุ่มที่ถือครองที่ดินมากที่สุดกับกลุ่มที่มีที่ดินน้อยที่สุดมีสัดส่วนการถือครองที่ดินต่างกัน 325 เท่า โดยคนที่ถือครองที่ดินมากสุดคือ 6.3 แสนไร่ ส่วนผู้ที่ถือครองน้อยสุดมีที่ดินเพียง 1 ตารางวา

“ผลพวงการกระจุกตัวของที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ส่งผลให้คนไทยจำนวนอย่างน้อยร้อยละ 50 ล้านคนหรือร้อยละ 76 ของคนไทยทั้งหมด ไม่สามารถเข้าถึงที่ดินที่ทำกินที่มีเอกสารสิทธิ์ เป็นแรงกดดันและแรงจูงใจให้คนที่ไม่มีที่ดินตัดสินใจเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ ปัจจุบันมีชุมชนท้องถิ่นและชุมชนชาติพันธุ์ต่างๆทั้งจากยอดดอยสูงและในเกาะต่างๆในภาคใต้ถูกประกาศเขตป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ ทับที่ดินของบรรพบุรุษอย่างน้อย 2,700 ชุมชน เนื้อที่ประมาณ 5.9 ล้านไร่ ทุกวันนี้ชุมชนกำลังเผชิญปัญหาการไล่รื้อทวงคืนผืนป่า อันนี้คือสถานการณ์ปัญหาวิกฤตและรุนแรงขึ้นตาลำดับ” นายประยงค์ กล่าว

ชาวบ้านกว่า 300 คนร่วมกันยืนไว้อาลัยแด่ ดร.อคิน รพีพัฒน์ ปูชณียบุคคลของคนจนที่สิ้นลมอย่างสงบตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 พย.61

ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือยังกล่าวว่า ชาวบ้านได้เสนอทางแก้ปัญหาไปแล้วป 16 รัฐบาล 13 นายกรัฐมนตรี โดย 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลระบุ 3 เรื่องชัดเจนคือเรื่องกำหนดการเก็บภาษีที่ดิน การจัดตั้งธนาคารที่ดินและการรองรับสิทธิให้ชุมชนบริหารจัดการที่ดิน แต่สุดท้ายนเรากำลังได้พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งไม่ใช้ภาษีก้าวหน้า ส่งผลให้บางองค์กรปกครองท้องถิ่นไม่สามารถเก็บภาษีได้หรือได้นอ้ยกว่าเดิมที่เป็นภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือน เนื่องจากไม่ได้มีการจัดเก็บภาษีตามขนาดถือครองอย่างแท้จริง แต่กลับมีข้อยกเว้นให้เก็บกับบุคคลที่ถือครองที่ดินเกษตรกรรมที่มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งการขยายเพดานการยกเว้นเช่นนี้สูงเกินไป

เวลา 09.30 น.ได้มีการเสวนา “สังคมไทยจะก้าวพ้นความเหลื่อมล้ำ สู่ความเป็นธรรมในที่ดินอย่างยั่งยืนได้อย่างไร”โดยวิทยากรประกอบด้วย นางสุนีย์ ไชยรส นักวิชาการจากวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนางหนูเดือน แก้วบัวขาว ผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ)

นางหนูเดือนกล่าวว่า แม้รัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ แต่ปัญหาในภาพรวมกลับแย่ลง เช่น การแก้ปัญหาของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาสิทธิที่ดิน เพราะการจัดการที่ดินอยู่ที่จังหวัดซึ่งให้สิทธิผู้ว่าราชการจังหวัดตัดสินใจจึงไม่สอดคล้องสิทธิในการใช้ประโยชน์ของชุมชน เมื่อชาวบ้านอยากพัฒนาที่ทำกินก็ต้องขออนุญาตผู้ว่าฯ ชาวบ้านจึงต้องการเปลี่ยนการจัดการแก้ปัญหาไปเป็นรูปแบบโฉนดชุมชนแทนกลไก คทช. เพราะจะทำให้ชุมชนสามารถจัดการพัฒนาที่ดินได้อย่างยั่งยืน

“ที่ดินไม่ควรเป็นสินค้า พอเป็นสินค้าก็จะมีการฮุบที่ดินของชาวบ้าน นายทุนร่วมมือกับรัฐ เช่น ออกโฉนดให้คนๆ เดียว 1 หมื่นไร่ ชาวบ้านที่ทำกินมานานกลายเป็นผู้ไม่มีที่ดิน นายทุนเอาที่ดินไปเข้าธนาคาร พอได้เงินแล้วก็ถูกฟ้องล้มละลาย ที่ดินถูกขายทอดตลาด คนที่ซื้อต่อไปอย่างถูกต้องก็ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ เพราะชาวบ้านที่ทำกินอยู่ก็ฟ้องร้องเป็นปัญหา หรือที่ดินที่ชาวบ้านอยู่มาก่อนรัฐ แต่หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง(นสล.) ออกทับทีหลัง หรือกรณีประกาศอุทยานทับที่ดินชาวบ้าน ก็ยังเป็นปัญหาที่เราต้องต่อสู้ให้เกิดการยอมรับชาวบ้านที่อยู่มาก่อน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ดิน และไม่มีการบุกรุกเพิ่มเติม”นางหนูเดือน กล่าว

นางหนูเดือน กล่าวต่อว่า ชาวบ้านพยายามผลักดันให้มี พรบ.โฉนดชุมชน ซึ่งที่ดินยังคงเป็นของรัฐแต่เป็นการให้สิทธิชาวบ้านอยู่อาศัยได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย และชุมชนมีสิทธิในการร่วมกันพัฒนาสร้างประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม ไม่ใช่การนำไปสร้างโรงงานหรือโรงแรม ชาวบ้านสามารถทำเกษตรอินทรีย์หรือทำกินอย่างเหมาะสมกับพื้นที่ แนวทางนี้เป็นสิ่งที่พีมูฟพยายามผลักดันมาโดยตลอด แต่รัฐบาลยังไม่สามารถตอบสนองได้เท่าที่ควร ทั้งที่กรณีโฉนดชุมชน รัฐบาลสามารถสั่งการได้ทันที และจะส่งผลให้ชาวบ้าน 2 แสนครัวเรือนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทันที

นางสุนีย์ ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในสมัย 14 ตุลาคม ในช่วงของการเกิดขึ้นของขบวนการชาวนาชาวไร่ มีหนังสือชื่อว่า ชาวนาถูกบังคับให้จับปืน ระบุสาเหตุสำคัญของการสูญเสียที่ดินว่า เกิดจากราคาเกษตรที่ผันผวน ทำให้ชาวบ้านต้องสูญเสียที่ดิน เป็นปัญหาความยากแค้นที่ชาวบ้านถูกทอดทิ้ง รัฐเบียดเบียนชาวนา การใช้อำนาจเผด็จการขัดขวางกระบวนการแก้ปัญหาตามแนวทางประชาธิปไตย สถานการณ์ปัจุบันยังคงมีความคล้ายคลึงในสมัยนั้น เพราะวันนี้เกิดความเลื่อมล้ำ รัฐปล่อยให้ที่ดินเป็นสินค้าลอยตัว นโยบายของรัฐทำให้ความเลื่อมล้ำไม่เคยจางหายไป เช่น กฏหมายภาษีที่ดินที่ไม่เป็นการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม

“เราเห็นภาพของปัญหาที่ดินหลายกลุ่ม ที่ดินชาวเล ที่ดินในเขตป่า เขตที่ดินของรัฐอื่นๆ เช่น ทหารมีที่ดิน 10 ล้านไร่ ชาวบ้านต้องเช่าที่จากรัฐ พอมีโครงการขนาดใหญ่ชาวบ้านก็ถูกไล่ ทำให้เกิดความเลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ การจดทะเบียนคนจนปัญหาหลักคือเรื่องที่ดิน กลไกของรัฐไม่เคยแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน อยากชี้ให้เห็นว่าบทเรียนการต่อสู้นั้นเจ็บปวด การต่อสู้ของชาวนาชาวไร่เหมือนแพ้แล้วแพ้อีก แต่จริงๆ มันคือสู้แล้วสู้อีก ล้มแล้วลุกขึ้นตลอดเวลา เพราะการต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดิน คือการต่อสู้เพื่อสิทธิความเป็นคน”นางสุนีย์ กล่าว

อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าวต่อว่า ขบวนการต่อสู้ของประชาชนต้องยกระดับการเรียกร้องให้เรื่องสิทธิทำกิน สิทธิที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องพื้นฐานสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิเพื่อให้รัฐมีหน้าที่แก้ปัญหาและประชาชนสามารถเรียกร้องสิทธิของตนเอง ข้อเรีกยร้องสำคัญที่สุด คือรัฐต้องยุติการไล่รื้อและจับกุมชาวบ้านทุกพื้นที่ แล้วย้อนไปดูว่าที่ชาวบ้านร้องเรียนเข้ามาปัญหาอยู่ตรงไหน แต่กระบวนการตรวจสอบไปถึงไหน ซ้ำยังมีปัญหาใหม่เกิดขึ้น เช่น กรณีปัญหาการยึดที่ดินไปทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น และมีสถานการณ์เวนคืนในพื้นที่ใหม่ๆ มากมายเกิดขึ้น ชาวบ้านจะถูกไล่รื้ออยู่ตลอด มีการจับกุมชาวบ้านจำนวนมาก สถานการณ์จึงยังหนักหน่วง การที่รัฐทำโครงการสารพัดโดยไม่คำนึงสิทธิของชาวบ้านนั้น สะท้อนว่าปัญหาอยู่ที่โครงสร้างระดับนโนบาย ก็ต้องผลักดันให้แก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างด้วย เพราะถ้ารอแก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ด้านเดียวก็จะไม่ทันสถานการณ์

รศ.ดร.ประภาสกล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่การต่อรองสิทธิที่ดินของชาวบ้านหดแคบลงไปทุกที โดยเฉพาะนโยบายทวงคืนผืนป่า ชาวบ้านไม่สามารถต่อรองกับรัฐบาลได้ในสถานการณ์การปกครองแบบนี้ การแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน ประชาชนต้องยอมรับหลักการพื้นฐานของสังคม ที่ต้องการกระจายเรื่องการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เช่น โฉนดชุมชน สำหรับกรณี คทช.ช่วงต้นมีเจตนาพัฒนาเป็นธนาคารที่ดิน แต่ว่ากองทุนเหล่านี้แม้จะแก้ปัญหาความซ้ำซ้อนของกองทุนมากมาย แต่เป็นลักษณะกองทุนรถดับเพลิง คือพี่น้องไปเรียกร้องก็นำกองทุนนี้มาใช้แก้ปัญหา แต่ธนาคารที่ดินก็ดูเหมือนทำหน้าที่ธนาคารซื้อขายที่ดินทั่วไป

“บทเรียนของสมัชชาคนจนต้องการสร้างการเจรจาแบบเสมอหน้า การพิสูจน์สิทธิต้องฟังชาวบ้าน ปัญหามีความซับซ้อน รัฐเอาที่ป่าโทรมๆ ไปให้เอกชนเช่าปลุกยูคา สนามกอล์ฟในที่ดินทหารเมืองกาญจน์ วิธีคิดการใช้ที่ดินของรัฐเป็นปัญหา ที่ดินเหล่านี้ควรนำมาใช้กับเกษตรกรรายย่อย เพื่อไม่ให้ที่ดินกระจุกตัว ที่ดินของรัฐที่พัฒนาเป็นเขตชลประทานแต่ถูกนำไปใช้ผิดประเภท รัฐควรคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมอย่างไร อันนี้คือสิ่งที่จะต้องพูดถึงกฏหมายคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม กองทุนฟื้นฟูที่ดินเกษตรกรรม เพราะตอนนี้มีเกษตรกรกำลังจะถูกยึดที่ดินประมาณ 30 ล้านไร่ เราจะจัดการอย่างไรให้ชุมชนสามารถจัดการที่ดินโดยชุมชน ไม่ใช่เอาอำนาจไปให้ผู้ว่าฯตัดสินใจ ต้องมีการตรวจสอบผลักดันและทบทวนนโยบายด้านที่ดิน”ดร.ประภาส กล่าว

ดร.บุญเลิศ กล่าวว่า หากมองในเรื่องการแก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยในเมือง ดูเหมือนจะดีขึ้น มีการพัฒนาให้คนอยู่กับคูคลอง ซึ่งเป็นรูปธรรมที่รัฐพยายามประชาสัมพันธ์ แต่มีปัญหาอีกจำนวนมากถูกซุกไว้ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ดินที่ถูกทำให้กลายเป็นสินค้า กลายเป็นสินทรัยพ์เพื่อการเก็งกำไร สถานการณ์นี้จะทำอย่างไรไม่ให้ที่ดินกลายเป็นสินค้า แต่ต้องเป็นทรัพยากรที่แจกจ่ายอย่างเป็นธรรม ทั้งที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ปัจจุบันสังคมไทยยอมรับว่า การศึกษา การรักษาพยายบาลเป็นรัฐสวัสดิการพื้นฐานที่รัฐต้องจัดหา ต้องทำให้สังคมตระหนักว่าที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยต้องเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานด้วย ไม่ให้มีการเก็งกำไรจากการซื้อขายที่ดิน ลดทอนการกักตุนที่ดิน โดยรัฐอาจใช้วิธีการแทรกแซง เช่นการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า เป็นต้น ถ้าลดปัญหาเหล่านี้ได้ ปัญหาอื่นในหลายมิติก็จะลดตามไปด้วย เช่น การบุกรุกใหม่จะไม่เกิด

“ภายใน 10 ปี ถ้าลดการถือครองราคาที่ดินจะไม่สูงขึ้น ก็จะไม่มีการเก็งกำไร ต้องทำให้ที่ดินเป็นสิทธิที่ทุกคนเข้าถึงได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับุกคน ตอนนี้รัฐต้องหยุดไล่รื้อ หยุดการฟ้องร้องที่ไม่เป็นธรรม สิ่งที่เรียกร้องต่อรัฐคือต้องเอากฏหมายวางไว้แล้วเอาข้อเท็จริงมาคุย ต้องเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้แจกแจงข้อเท็จจริง เริ่มจากที่ดินของรัฐที่มีอยู่มากมาย ให้ประชาชนเข้าไปอยู่อาศัยได้หรือไม่ รัฐต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่ได้อย่างถูกกฏหมาย เช่น ชุมชนในที่ดินรถไฟวันนี้ยังไม่มีความมั่นคง ไม่มีสํญญาเช่า ชาวบ้านขอต่อรองทำสัญญาเช่า แต่รถไฟกลับคิดว่าให้เอกชนเช่าได้เงินมหาศาลมากกว่า ต้องให้คุณค่าของที่ดินมากกว่าการให้มูลค่า” ดร.บุญเลิศ กล่าว

พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล กล่าวว่า ถ้ามองเรื่องสิทธิที่ดินให้มีความเป็นธรรม การใช้กฏหมายต้องคำนึงถึงสิทธิการครอบครอง และต้องมีผลย้อนหลังชาวบ้านที่อยู่มาก่อน ให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน เช่น คนกะเหรี่ยง หรือชาวเลอันดามัน ชาวบ้านเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มคนที่สร้างให้มีประเทศไทยในวันนี้ เพราะในอดีตการมีอยู่ของชาวบ้านในทะเลอันดามันและพื้นที่ป่าเขา ชาวบ้านยืนยันว่าเป็นคนไทยทำให้ไทยไม่ต้องเสียดินแดนให้อังกฤษ แต่เมื่อมีการออกฏหมายป่าไม้และกฏหมายที่ดินกลับไม่มีการกันพื้นที่ให้ชาวบ้านเหล่านี้

////////////////////////////

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →