เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2561 ที่สวนอนุสรณ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ได้มีการจัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ปีที่ 9 “เหลียวหลังแลหน้า 9 ปี มติ ครม.ชาวเล” ขึ้นเป็นวันที่สองโดยมีชาวเลจากพื้นที่ต่างๆริมทะเลอันดามันเข้าร่วมกว่า 400 คน ทั้งนี้นายพงษ์ศักดิ์ คารวานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวเปิดงานว่าปัญหาชาวเลเป็นปัญหาระดับนโยบาย ตราบใดที่ยังไม่มีความชัดเจนก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทุกวันนี้ไม่ได้ใช้วิธีการต่อสู้เพราะถ้าต่อสู้ก็ต้องมีผู้แพ้-ชนะ แต่วันนี้แค่ร้องขอสิทธิที่มีอยู่ เชื่อว่ารัฐบาลใหม่คงมีเรื่องรุดหน้าและดำเนินการไปได้ระดับหนึ่ง เรามียุทธศาสตร์ชาติและรัฐธรรมนูญ ทำให้มีโอกาสมากขึ้น สิ่งแรกที่อยากให้ทวงสิทธิคืนคือการออกกฏหมายรองรับกลุ่มชาติพันธุ์ หากสามารถดำเนินการได้ทุกอย่างจะดำเนินการไปตามครรลอง
ขณะเดียวกันภายในงานยังได้มีการเสวนาโดยมีผู้แทนหน่วยราชการ นักวิชาการและชาวเลร่วมกันแลกเปลี่ยนในหัวข้อ “เหลียวหลังแลหน้า 9 ปี มติ ครม.ชาวเล” โดยนายนิรันดร์ หยังปาน ผู้แทนชาวเลชุมชนราไวย์ จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า หลังจากมีมติครม.คุ้มครองวิถีชีวิตชาวเล แต่พวกเรายังถูกฟ้องอยู่เรื่อยๆโดยชาวบ้านในราไวย์ถูกฟ้องกว่า 200 คดี ซึ่งชาวบ้านยังหาเช้ากินค่ำเพราะเชื่อว่ามติครม.จะแก้ไขปัญหาได้บ้าง แต่กลับไม่ได้เลยเพราะเรายังถูกจับกุมและแทบจะประกอบอาชีพไม่ได้เลย ที่ผ่านมาเราได้คุยกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาว่าจะมีเขตผ่อนปรนให้ชาวเลประกอบอาชีพซึ่งอุทยานทุกแห่งต่างเห็นด้วยให้เราใช้เครื่องมือของชาวเล แต่สุดท้ายเราก็ยังถูกจับกุม โดยมีลำหนึ่งเข้าไปหาปลาที่พังงาและถูกน้ำหนีบจึงแวะอุทยานฯในภูเก็ตเพื่อรักษาอาการน้ำหนีบแต่กลับถูกจับกุมในข้อหาบุกรุก พอเราตั้งคำถามว่าเขตอุทยานฯอยู่แค่ไหน และเมื่อมีเขตผ่อนปรนแต่เราก็ยังถูกจับกุมอยู่
นางสลวย หาญทะเล ผู้แทนชาวเลจากเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล กล่าวว่าเมื่อมีมติครม.เราก็หวังว่าชีวิตจะดีขึ้น แต่เรากลับยังถูกจับติดคุก แม่ของตนเป็นคนดั้งเดิมต้องเครียดเพราะถูกฟ้อง แม้ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องแต่เขาก็ฎีกาต่อ พื้นที่หลีเป๊ะชาวเลเป็นผู้บุกเบิกไม่ใช่ผู้บุกรุก เราเป็นอุรักลาโว้ยที่อยู่ใต้สุดในทะเลอันดามัน พวกเราถูกฟ้องกว่า 30 ราย
นางสายใจ หาญทะเล ผู้แทนชาวเลเกาะหลีเป๊ะกล่าวว่าปู่ย่าตายายของพวกตนเชื่อว่าเกาะหลีเป๊ะเป็นเขตสยาม ก่อนประกาศอุทยานฯพื้นที่เหลานี้เป็นที่ของชาวเล เราพยายามให้เจ้าหน้าที่รัฐเห็นใจ แต่เขาไม่อนุญาตได้เราทำมาหากินเลย จนแม่ตนต้องป่วยและตรอมใจตาย เราถูกคุกคามมาก แม้แต่เด็กๆเล่นชายหาดก็ยังไมได้ ตอนนี้ไล่อย่างเดียว ตอนนี้เราต้องเถียงอยู่กับอุทยาน รู้อย่างนี้เราอยู่มาเลย์ดีกว่า
ขณะที่ชาวเลจากชุมชนสะปำ จังหวัดภูเก็ตกล่าว่า เราอยู่ที่ดินในป่าชายเลนมานาน ซึ่งต่อมาทราบว่าอยู่ในความดูแลจองกรมเจ้าท่า เมื่อมิถุนายน 2561 เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าให้ชาวบ้านไปลงทะเบียนด้วยโดยอ้างว่าใครที่ลงทะเบียนจะได้ไม่กังวลในเรื่องที่อยู่อาศัย และทางจังหวัดได้ประชุมและประกาศว่าพื้นที่บริเวณนั้นจะยกให้ชาวเลเป็นพื้นที่พิเศษเพราะเป็นผู้บุกเบิก แต่หลังจากนั้นอีก 1 เดือนได้มีหนังสือเชิญชาวบ้านที่ลงทะเบียนรื้อถอนบ้านภายใน 365 วัน ทำให้ชาวบ้านรู้สึกงง ในที่สุดชาวบ้านไปร้องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งตอนนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบให้รอฟังคำตอบ
ผู้แทนชาวเลเกาะพีพี กล่าวว่าพวกเราได้รับผลกระทบจากอุทยานฯ เราอยากให้ทางการช่วยเหลือ ทั้งด้านอุทยานและนายทุนบุกรุกในที่ดินทำธุรกิจโรงแรม และขณะนี้พื้นที่จิตวิญญาณถูกปิดกั้น ชาวบ้านไปไหนไม่ได้ ได้แค่ออกเดินหน้าหาดตัวเอง ตอนนี้มีแต่บริษัททัวร์ใหญ่ๆเข้าไปจนชาวบ้านไม่สามารถทำมาหากินได้
น.ส.อรวรรณ หาญทะเล ผู้แทนเครือข่ายชาวเลอันดามัน กล่าวว่า เรามีสุสานฝังศพ 15 แห่ง แต่มีเอกสารระบุว่าเป็นที่ดินสาธารณะ 2 แห่ง บางพื้นที่ยังถูกฟ้องถูกขับไล่จากนายทุนอยู่ ขณะที่พื้นที่ศักดิ์สิทธิพวกเราเคารพและให้เกียรติแต่รัฐไม่เข้าใจ หลังมติ มีปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ทำกินประกอบอาชีพ พวเราทำเรื่องของการเก็บขอมูลชุมชน ทำผังตระกูล ทำเรื่องพื้นที่นำร่องใน 11 พื้นที่ หลังจากเราสู้แต่ปัญหา เราจึงคิดว่าการท่องเที่ยวอย่างไรที่ชาวเลอยู่ได้ จึงทำเรื่องชาวเลพาเที่ยว เดิมชาวเลเองก็ไม่เห็นด้วยเพราะไม่เชื่อมีใครมาเที่ยว เราพยายามยื่นข้อเสนอกับผู้ว่าฯทำเรื่องหน้าบ้านหน้ามอง เรามองเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอนนี้มีคนสหรัฐ สิงคโปร์และเครือข่ายในประเทศไทยมาเรียนรู้ และเราได้พัฒนากลุ่มเยาวชนด้วย
“ถามว่ามติครม.ที่ออกมา 9 ปี เราได้กี่เปอร์เซ็น ทุกคนบอกว่าแค่ 10% เพียงแต่ตอนนี้มีวงหารือ และเริ่มเข้าใจว่าเครื่องมือหาปลาของชาวเลไม่ได้ทำลาย เราคิดว่าแค่มติครม.คงไม่พอแล้ว เลยขอให้นายคมสัน โพธิคง นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสัต ช่วยร่างเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมเพื่อให้เรามีพื้นที่ที่แท้จริง”น.ส.อรวรรณ กล่าว
นายประยงค์ ดอกลำใย ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวว่ากะเหรี่ยงมี 1,900 ชุมชนกว่า 3 แสนคน กว่าร้อยละ 40 ของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่มติครม.กะเหรี่ยงผ่านมา 9 ปี ชาวบ้านยังถูกจับและยึดพื้นที่จำนวนมาก ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีเหตุไม่ต่ำกว่าวันละ 20 ราย จนวันนี้ยังไม่มีพื้นที่คุ้มครองเลย ที่หนักว่านั้นคือมีมติครม.เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เห็นชอบตามคณะกรรมการที่ดิน ซึงจะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านโดยกะเหรี่ยงส่วนใหญ่อยู่ตามลุ่มน้ำชั้น 1-2 เขาควรได้รับการคุ้มครอง แต่เมื่อมีมตินี้จะส่งผลกระทบพวกเขา เพราะนอกจากไม่ได้รับการคุ้ครองแล้วยังอาจถูกดำเนินการเพราะเขาใช้เกณฑ์ปี 2545 พูดง่ายๆคือที่ดินที่ปลูกต้นไม้ไว้ในลุ่มน้ำชั้น 1-2 ก็จะถูกยึด และมติครม.ครั้งนี้ยังให้กันพื้นที่ชายทะเล 100 เมตรเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทำให้ชาวบานดั้งเดิมไปใช้ประโยชน์ไม่ได้
นายมงคล ลิ่ววิริยกุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา กล่าวว่า อุทยานทางทะเลได้มีการหารือเรื่องเขตผ่อนปรนแล้ว แต่อาจยังไม่ได้เอามาใช้ดังนั้นจึงอยากเอามติมาย้ำเตือนกับหัวหน้าอุทยานฯต่างๆ
นายอภินันท์ ธรรมเสนา ผู้แทนศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าวว่า มติครม.ที่ให้ความคุ้มครองชาวเลและชาวกะเหรี่ยงนั้น ด้านหนึ่งคือการเสริมศักยภาพของทั้งสองกลุ่ม อย่างน้อยเป็นพื้นที่ที่ทำให้มีความกล้าที่จะพูดมากขึ้นถือว่าเป็นความสำเร็จที่เป็นแสงสว่าง ทำให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้น จนสามารถจัดงานติดต่อกันได้ 9 ครั้ง แต่ในด้านการแก้ปัญหายังมีอีกหลายข้อที่ยังไม่สำเร็จเพราะมีข้อจำกัดหลายเรื่อง เช่น เรื่องการทำความเข้าใจเพราะเวลาออกมติครม.โดยไม่ได้สร้างความเข้าใจกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและให้โจทย์หน่วยงานราชการไปทำ
“สิ่งที่เราจะทำต่อไปเพื่อให้ชาติพันธุ์พัฒนาขึ้นคือ 1.สร้างฐานให้เข้มแข็ง สร้างความเข้าใจให้ชาติพันธุ์ภูมิใจในอัตลักษณ์ของตัวเองก่อนโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน 2.การปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างโดยปรับกฎหมายและยกเป็นพระราชบัญญัติตัวใหม่ในเชิงยุทธศาสตร์ 3.ทำให้สังคมเห็นความสำคัญโดยการสื่อสารสาธารณะ”นายอภินันท์ กล่าว