Search

ชาวบ้านบุกยื่นหนังสือค้าน 3 เขื่อนภาคใต้ โวยกรมชลฯ ละเมิดผลสรุป คกก.ร่วม เผยข้อมูลจังหวัดสั่งวิทยุท้องถิ่นให้ข้อมูลเท็จ หวั่นสร้างความขัดแย้งในพื้นที่

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561 ตัวแทนชาวบ้านประมาณ 30 คน ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนในภาคใต้ คือ 1.เขื่อนวังหีบ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช 2.เขื่อนคลองสังข์ อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช 3.เขื่อนเหมืองตะกั่ว อ.ป่าบอน จ.พัทลุง ได้เดินทางไปที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนทั้ง 3 แห่ง ผ่านนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) นายวุฒิชัย แก้วลำหัด กลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำคลองวังหีบ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน และไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น การดำเนินการก่อสร้างเขื่อนทั้ง 3 แห่ง ไม่สอดคล้องต่อความต้องการของคนในพื้นที่ ทั้งยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ ทำลายวิถีชุมชนดั่งเดิม โดยเฉพาะในพื้นที่เขื่อนคลองสังข์ ที่ชาวบ้านเคยได้รับผลกระทบจากอุทกภัยดินโคลนถล่ม และการก่อสร้างเขื่อนกะทูน เขื่อนดินแดน และต้องอพยพย้ายมาอยู่ที่คลองสังข์ สำหรับข้อเสนอของชาวบ้านยืนยันว่าไม่ต้องการให้มีการเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนทั้ง 3 แห่ง เพราะไม่มีความจำเป็น โดยอาจเปลี่ยนรูปแบบการจัดการน้ำเป็นลักษณะการทำฝายมีชีวิตขนาดเล็กแทน น่าจะเป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่มากที่สุด และยังสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะทำงานบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมที่แต่งตั้งโดยนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่เสนอผลการศึกษาให้ชะลอโครงการออกไปก่อน

นายวุฒิชัย กล่าวอีกว่า ในคณะทำงานที่กระทรวงเกษตรตั้งขึ้นมีตัวแทนทุกฝ่าย รวมถึงตัวแทนจากกรมชลประทานทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่ ได้มีการศึกษาที่ลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่หลายครั้ง ชี้ชัดว่าไม่คุ้มค่าและส่งผลกระทบหลายด้าน และให้ชะลอโครงการออกไปก่อน แต่กรมชลประทานกลับไม่สนใจข้อตกลงนี้ ได้พยายามผลักดันทุกรูปแบบ โดยไม่กี่วันที่ผ่านมาทราบมาว่ามีคำสั่งของจังหวัดสั่งการให้คลื่นวิทยุท้องถิ่นประชาสัมพันธ์ว่า ชาวบ้านในพื้นที่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนวังหีบ และมีชาวบ้านเซ็ื่อยินยอมแล้วมากกว่าครึ่ง แต่ในพื้นที่ชาวบ้านกลับไม่รู้เรื่อง และขอยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการมาโดยตลอด ดังนั้นเหตุการณ์แบบนี้อาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้

ทั้งนี้เหนังสือคัดค้านของชาวบ้าน ระบุว่า

  1. วัตถุประสงค์ของโครงการไม่สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ เช่น กรณีเขื่อนวังหีบ มีการเสนอให้จัดหาน้ำ ตั้งแต่ปี 2542 เพื่อนำน้ำมาใช้ในการทำนาแต่ปัจจุบันไม่มีนาแล้ว กรณีเขื่อนคลองสังข์ ปี 2519 มีชาวบ้านถวายฎีกาขอพระราชทานอยากได้น้ำทำนาและเลี้ยงสัตว์ ส่วนเขื่อนเหมืองตะกั่ว มีประธานสภาจังหวัดนำเสนอปี 2533 จะเห็นว่าแต่ละโครงการได้ทำการศึกษาเมื่อนานมาแล้ว และความต้องการของพื้นที่ในปัจจุบันเปลี่ยนหมดแล้ว
  2. พื้นที่วังหีบและเหมืองตะกั่ว บริเวณที่จะดำเนินการโครงการเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนและมีน้ำตกสวยงาม ซึ่งถือว่าชุมชนมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่สมบูรณ์อยู่แล้ว ส่วนที่คลองสังข์มีพื้นที่โพรงน้ำใต้ดิน ยังไม่มีการสำรวจให้ชัดเจนว่าเมื่อมีโครงการมีผลต่อโพรงน้ำใต้ดินอย่างไร
  3. ในขั้นตอนการมีส่วนร่วมในช่วงที่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้ได้รับกระทบไม่มีโอกาสเข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็นและไม่ได้แสดงความคิดเห็นเท่าที่ควรจะเป็น แต่ไปเอากลุ่มนอกพื้นที่หรือกลุ่มอื่นๆ มาแทน
  4. กระทบต่อชุมชนเป็นที่ทราบว่าชุมชน ไม่อยากจะย้ายไปไหนทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม เพราะไม่มีพื้นที่ทำกินอื่นที่จะอุดมสมบูรณ์เหมือนที่อยู่ปัจจุบัน

เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาดังกล่าวและให้เกิดการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมยั่งยืน และคืนความสุขให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง ชุมชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบทั้ง 3 โครงการอันประกอบไปด้วย ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบ คลองสังข์ เหมืองตะกั่ว มีข้อเรียกร้อง ดังนี้

1.ให้ยกเลิกโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 3 โครงการ ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น

2. ให้คณะทำงานบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่อำเภอทุ่งสงและลุ่มน้ำวังหีบ และคณะศึกษาข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ภายใต้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ซึ่งเป็นคณะทำงานที่มีตัวแทนของชาวบ้าน ผู้มีส่วนได้และผู้ได้รับผลกระทบในพื้นร่วมอยู่ด้วย กลับมาดำเนินงานต่อให้แล้วเสร็จ เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านและคณะทำงาน ได้ร่วมกันศึกษาข้อเท็จจริงในพื้นที่และทางวิชาการรวมไปถึงการศึกษาถึงแนวทางเลือกอื่นที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของชาวบ้าน

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →