Search

ชุมชนวังหีบตึงเครียด-หวั่นบานปลาย ชาวบ้าน-รัฐ เผชิญหน้า หลังมติครม.เดินหน้าสร้างเขื่อน “ปราโมทย์” จวกกรมชล อ้างโครงการพระราชดำริ ชี้ ร.9 รับสั่งก่อนสร้างต้องให้ชาวบ้านเห็นด้วย


เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ซึ่งประชุมกันที่ จ.อุบลราชธานี ได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์สนับสนุนและให้กำลังใจชาวบ้านวังหีบ

วันที่ 22 ธันวาคม 2461 ในรายการวิทยุของมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โดย อ.ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และอดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการเขื่อนวังหีบ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช โดยผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า ภายหลังจากทราบมติครม. ประชาชนในพื้นที่มีความเคลื่อนไหว ประกาศพร้อมที่จะยอมตายหากมีความพยายามสร้างเขื่อนวังหีบ

ขณะที่นายปราโมทย์กล่าวว่า การชูประเด็นโครงการพระราชดำริแล้วไม่ฟังเสียงใดๆ เจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐเข้าใจผิด จริงๆ แล้วโครงการเหล่านี้ เป็นโครงการที่พระองค์ท่านรับสั่งไว้เก่าแล้ว ตั้งแต่ช่วงปี 2520 เศษๆ โครงการตามแนวคิดนี้ ต้องนำไปศึกษาให้สอดคล้อง โดยเฉพาะภูมิสังคม คือศึกษาภูมิประเทศ สังคมผู้คน และสิ่งแวดล้อม แต่ยุคปัจจุบันนั้นประหลาด อย่าให้พูดมาก โครงการเขื่อนวังหีบไม่ได้กระทบต่อปริมาณน้ำใน อ.ทุ่งสง เพราะสายน้ำไม่ได้ไหลไปด้านนั้น แต่น้ำไปคนละทิศ แต่ผู้สนับสนุนโครงการกลับบอกว่าป้องกันอุทกภัย จากข้อมูลที่มีการศึกษาพบว่า เขื่อนมีความจุน้ำประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) กระจิ๋ว เล็ก ไม่คณาเรื่องการป้องกันอุทกภัย มูลค่าการลงทุน 2,300 กว่าล้านบาท สันเขื่อนมีความสูง 70 เมตร เท่ากับว่าน้ำ 1 ล้านลบ.ม. ต้องลงทุนเป็นเงินสูงถึง 200 กว่าล้านบาท


เจ้าหน้าที่ทางการ 6 คันรถ เข้าไปตรึงพื้นที่ชุมชนวังหีบจนเกิดการเผชิญหน้ากับชาวบ้าน

“ผมไม่เคยเจอไม่เคยทำมา มันมโหฬาร ทางด้านเศรษฐศาสตร์ ข้อมูลก็คลุมเครือ เป็นการปั้นตัวเลข ที่ระบุว่าช่วยพื้นที่เพาะปลูกกว่าหมื่นไร่ จริงๆ แล้วพื้นที่ย่านนั้นไม่ใช่นา แต่เป็นพื้นที่สวนยาง ที่สำคัญคือท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ผู้คนในพื้นที่ก็ไม่ได้รับการบอกกล่าว ซึ่ง ร.9 รับสั่งว่าจะทำอะไรต้องให้คนในพื้นที่ตกลงด้วย แบบนี้บกพร่อง ซึ่งกรมชลประทานใช้การประชาสัมพันธ์ ไม่ใช่รับฟังความคิดเห็นหรือประชาพิจารณ์ คนในพื้นที่รู้เรื่องน้อย ครม.นำเอาเรื่องนี้เข้าไปที่ประชุมอย่างไรผมไม่ทราบ ผมประชุมวันพุธ แต่มีมติครม.ตั้งแต่วันอังคาร เป็นปัญหาที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม ต้องเป็นประชาพิจารณ์ นี่เป็นลักษณะของการประชาสัมพันธ์ว่าดีอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่ทราบว่าการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านได้อย่างไร ผู้บริหารจังหวัดบอกว่าเป็นโครงการพระราชดำริ ไม่ถูกต้อง” อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว


เจ้าหน้าที่ทางการ 6 คันรถ เข้าไปตรึงพื้นที่ชุมชนวังหีบจนเกิดการเผชิญหน้ากับชาวบ้าน

นางนงลักษณ์ ผาสุข ชาวบ้านวังหีบ กล่าวว่าเมื่อวานนี้ ชาวบ้านได้รวมเงินกันเพื่อสร้างประตูป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาในชุมชน แต่กลับมีเจ้าหน้าที่รัฐ มายึดเอาหลักประตูไปไว้ที่สถานีตำรวจ และสอบถามหาตัวแกนนำเพื่อที่จะดำเนินคดี แต่ชาวบ้านบอกว่าไม่มีแกนนำ

นางนงลักษ์กล่าวว่า สถานการณ์ล่าสุดคือ มีเจ้าหน้าที่ จำนวน 6 คันรถ เข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน “ตอนนี้ไม่มีใครฟังชาวบ้าน ชาวบ้านถูกกดันอย่างหนัก ตามหาแกนนำว่าเป็นใคร แต่ชาวบ้านยืนยันแล้วว่าไม่มีแกนนำ สิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือ ให้มีคณะกรรมการที่เป็นกลาง เช่น คณะกรรมการชุดที่แต่งตั้งโดย อาจารย์ยักษ์ (รมช.เกษตรฯ) น่าจะบรรเทาสถานการณ์เพื่อให้เกิดการพูดคุย ไม่เช่นนั้นหวั่นว่าสถานการณ์จะบานปลาย เพราะชาวบ้านไม่ยอมแน่นอน”

ในวันเดียวกัน เครือข่ายภาคประชาชนในหลายภาคของประเทศไทย เช่น คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคใต้ เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ต่างออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนกานต่อสู้ของชาวบ้านวังหีบ โดยได้ออกมาโพสต์ภาพให้กำลังใจ

ในขณะที่ วันที่ 22 ธันวาคม องค์กรภาคประชาชนในภาคใต้ 10 องค์กร จะร่วมจัดเวทีวิพากษ์วิจารณ์มติครม.ที่ให้มีการก่อสร้างโครงการเขื่อนวังหีบ

On Key

Related Posts

USIPแนะไทยชิงธงนำปราบปรามแหล่งอาชญากรรมริมเมย ชี้มีนาคมอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่-จีนจับชิตู เชื่อแดนมังกรต้องการขยายอิทธิพลเปิดช่องให้รัฐบาลทหารพม่ากุมพื้นที่ ขณะที่ 32 เหยื่อชาวอินโดฯหนีข้ามแดนทะลักไทย

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2568 นายเจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำRead More →

แหล่งอาชญากรรมริมเมยป่วนหลังถูกกดดันหนัก มาเฟียจีนพล่าน-ชักไม่มั่นใจกองกำลังกะเหรี่ยงเทา เตรียมฉวยจังหวะช่วงตรุษจีนกลับประเทศ แนะรัฐสบช่องเก็บข้อมูลแก๊งอาชญากร

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 แหล่งข่าวด้านความมั่นคงRead More →