เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2562 กลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำคลองวังหีบ จ.นครศรีธรรมราช ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่าไม่ยอมรับการประชุม กระบวนการให้ข้อมูลที่มัดมือชก จากการประชุมในวันเดียวกันนี้เมื่อเวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมอำเภอทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้มีการจัดประชุม เรื่องประชุมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ การก่อสร้างโครงการวังหีบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ร.9 ) โดยมี นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เจ้าหน้าที่กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ เข้าร่วมประชุม
ในแถลงการณ์ระบุว่า เมื่อเริ่มประชุม เนื้อหาในการพูดคุยในที่ประชุมไม่ได้นำไปสู่กระบวนการสร้างความเข้าใจและการไม่เปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบ แสดงความคิดเห็น เป็นการชี้แจงในเรื่องของค่าเวณคืน ค่าตอบแทน ซึ่งชาวบ้านไม่ได้ต้องการและไม่มีการรับฟังข้อเสนอของชาวบ้าน หนำซ้ำยังแทบไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้พูดแสดงความคิดเห็น ซึ่งชาวบ้านมองว่ากระบวนการจัดเวทีดังกล่าวไม่ได้สร้างความเข้าใจและนำไปสู่ความขัดแย้ง ดังนั้นชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจึงไม่ขอเข้าร่วมประชุมดังกล่าว และประกาศไม่ยอมรับการประชุมที่มัดมือชก
“ กระบวนการทำความเข้าใจตามเอกสารที่ส่งมายังชาวบ้าน ดูประเด็นแล้ว ระยะเวลาครึ่งวัน ไม่สามารถทำความเข้าใจได้ และไม่ควรทำกระประชุมชี้แจงในครั้งเดียว เพราะถ้าจะสร้างความเข้าใจจริง ต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายและหัวข้อให้กลุ่มเป้าหมายทราบและมีเวลาในการตอบข้อซักถาม มากกว่าจะชี้แจง และประเด็นไหนยังไม่ได้ข้อยุติ ค่อยนัดทำความเข้าใจกันต่อไป โดยมีการกำหนดร่วมกันกับกลุ่มเป้าหมาย มีข้อสังเกตว่า หน่วยงานเคยชินกับการทำเพื่อพอเป็นพิธีเท่านั้น ทำนองว่าได้ทำตามมติ ครม.แล้ว ซึ่งไม่น่าจะตรงกับ มติ ครม.ที่ออกมาแต่อย่างใด” แถลงการณ์ระบุ
ในแถลงการณ์ระบุว่า ในขณะที่มติคณะรัฐมนตรีในข้อหนึ่งบรรทัดสุดท้ายได้ระบุว่า ทั้งนี้ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ชี้แจงทำความเข้าใจกับราษฎรในพื้นที่และผู้ได้รับผลกระทบให้ยุติก่อนดำเนินการตามโครงการต่อไป แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานดังกล่าวยังไม่ได้ชี้แจงความเข้าใจกับราษฎรในพื้นที่แต่อย่างใด ฉะนั้นข้อเสนอของชาวบ้านคือ ต้องการให้หยุดการขับเคลื่อนโครงการวังหีบไปก่อน ไม่ให้กรมชลเข้าสำรวจพื้นที่เพื่อรังวัดแนวเขตใดๆทั้งสิ้นและให้กรมชลประทานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำตามมติ ครม.ให้ได้ข้อยุติกับชาวบ้านเสียก่อน เพื่อไม่ให้สถานการณ์นำไปสู่ความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น