เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมกับภาคประชาชนที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ฉบับประชาชน เดินทางเข้ายื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีต่อศาลปกครอง เนื่องจากละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และเลือกปฏิบัติ กรณีการรับรองหรือไม่รับรอง “ร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ”
ทั้งนี้คำฟ้องระบุว่า การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และการเลือกปฏิบัติดังกล่าว ส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ฉบับประชาชน ที่รวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10,744 รายชื่อเข้ายื่น ไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ เพราะนายกรัฐมนตรีไม่ลงนามรับรอง แต่กลับลงนามรับรองในฉบับที่กรมอุทยานแห่งชาติยกร่าง ทำให้ไม่มีภาคประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการวิสามัญร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.บ. นี้ ตลอดจนไม่สามารถเข้าไปชี้แจงเนื้อหาอันอาจละเมิดต่อสิทธิชุมชนในร่าง พ.ร.บ. ฉบับของกรมอุทยานแห่งชาติได้
นายบุญ แซ่จุ่ง คณะทำงานประชาชนเพื่อการอนุรักษ์เพื่อการอนุรักษ์และสิทธิชุมชน (คอส.) กล่าวว่า การเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้สิทธิทางตรงของประชาชนที่ต้องการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่ มิใช่เป็นเพียงกฎหมายที่ออกมาจากเบื้องบนสู่เบื้องล่างแล้วไม่เกิดการแก้ปัญหาที่ตรงจุด
“พอไม่มีฉบับคู่ขนานไป ก็น่าเป็นห่วงว่าข้อเสนอของพวกเราจะไม่ได้รับฟัง จะมีการแก้ไขปัญหาแค่มุมเดียว ซึ่งอาจจะดีก็ได้ แต่ที่ไม่ดีคือเราจะไม่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาให้ตรงจุดเลย เพราะถ้าไม่มีฉบับของภาคประชาชนเข้าไปตีคู่ขนานเลย ภาครัฐจะยึดแค่แนวทางร่าง พ.ร.บ. อุทยานฯ ของรัฐบาลอย่างเดียว” นายบุญ กล่าว
ด้านนายเกรียงไกร ชีช่วง เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี กล่าวว่ามีข้อห่วงกังวลในรายละเอียดเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ฉบับผ่าน สนช. เพราะขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่มีการนิยามคำว่า “ชุมชน” หรือ “ชุมชนดั้งเดิม” ไว้ในร่าง พ.ร.บ. ด้วย อาจหมายถึงการมองไม่เห็นประชาชนในพื้นที่ที่มีสิทธิในฐานะผู้อยู่มาก่อน และอาจก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาว
ด้านนายประยงค์ ดอกลำใย รองประธานสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวว่า ข้อที่น่าห่วงกังวลมากสำหรับชุมชนคือ การเพิ่มโทษขึ้นมาจาก พ.ร.บ. อุทยานฯ ฉบับก่อน และมีการระบุโทษขั้นต่ำ มีการฟ้องทั้งคดีแพ่ง เรียกร้องค่าเสียหาย และคดีอาญา ให้จำคุก ซึ่งหมายความว่า หาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่านโดยไม่มีการแก้ไขเนื้อหาส่วนนี้ จะไม่มีการรอลงอาญา แต่ต้องรับโทษทันที

“เรื่องโทษน่ากังวลมาก จำคุกขั้นต่ำ 4 ปี หมายความว่าศาลจะพิจารณาต่ำกว่า 4 ปีไม่ได้ ซึ่งไม่มีสิทธิได้รับการรอลงอาญา ยิ่งถ้าไปทำในชั้น 1 และ 2 และพื้นที่เปราะบางทางระบบนิเวศวิทยา ต้องเพิ่มโทษอีกกึ่งหนึ่ง ก็คือเพิ่มอีก 2 ปี รวมทั้งค่าปรับก็ต้องเพิ่มขึ้นอีกกึ่งหนึ่งด้วย” นายประยงค์ กล่าว
นายแระยงค์กล่าวว่า ในร่าง พรบ.ดังกล่าวหากต้องการเลี้ยงสัตว์ในอุทยานแห่งชาติที่ไม่ใช่พื้นที่โครงการจัดสรรกันแนวเขตไว้ให้ชุมชนใช้ประโยชน์ ต้องเสียค่าธรรมเนียมออกใบอนุญาตเลี้ยงสัตว์สูงถึงฉบับละ 10,000 บาท หรือมีการเก็บค่าธรรมเนียมออกใบอนุญาตการบริการนำเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ ฉบับละ 500,000 บาท ซึ่งถือเป็นการผูกขาดโดยหน่วยงานรัฐเพียงฝ่ายเดียว
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ ฉบับกรมอุทยานแห่งชาติที่ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้วนั้น ได้ผ่านการพิจารณาจาก สนช. ในวาระแรกเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2561 และอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญ