
ท่าปลาเก่าชุมชน-อำเภอดั้งเดิมคือพื้นที่ราบลุ่มลำน้ำน่าน มีประชาการอาศัยอยู่สองฝากฝั่ง ห่างไกลจากความเจริญ แต่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ครอบคลุมพื้นที 4 ตำบล ท่าปลา จริม หาดล้า ท่าแฝก มีประชากรราว 3,000 ครอบครัว ปี พ.ศ. 2503 มีการสำรวจเพื่อหาพื้นที่เหมาะสมสำหรับการสร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำน่าน ตามแผนพัฒนาลุ่มน้ำน่านของรัฐบาลกลาง กลายเป็นกระแสข่าวที่สร้างความกังวลใจ พร้อมกับสร้างความขัดแย้งในความเห็นของชาวท่าปลาในพื้นที่ 4 ตำบล ที่ต้องจมอยู่ใต้เขื่อน
กระแสข่าวลือยุติลงกลายเป็นข่าวจริงเมื่อรัฐบาลเลือกจุดสร้างเขื่อนที่บ้านผาซ่อม หรือจ้อมในความหมายของล้านนา บริเวณช่องเขาระหว่างแม่น้ำน่านเป็นช่องแคบ ด้วยเหตุผลว่าน้ำจะท่วมไม่ถึงปากนาย อำเภอนาหมื่น พื้นที่จังหวัดน่าน และจะได้อ่างเก็บน้ำสองอ่างที่เรียกว่า สุริยัน-จันทรา หรือ อ่างเหนือ-อ่างใต้

การสร้างเขื่อนได้เริ่มต้น ในปี พ.ศ. 2508 ใช้ชื่อว่า “เขื่อนผาซ่อม” พร้อมกับการสำรวจรังวัดที่ดิน ที่อยู่อาศัย ไม้ยืนต้น เพื่อคำนวณค่าชดเชยเบื้องต้นแยกออกเป็นสองกลุ่ม ในเขตสุขาภิบาล ชดเชยไร่ละ 1,200 บาท ในแต่ละตำบลก็แตกต่างกันไป ตำบลจริม ไร่ละ 800 บาท ตำบลหาดล้า ไร่ละ 600 บาท และตำบลป่าแฝก ไร่ละ 500 บาท ที่อยู่อาศัยคิดเป็นตารางวา ประเมินราคาจากวัสดุอุปกรณ์ หลังคา โครงสร้างของเนื้อไม้ สิ่งที่ได้เท่ากันคือไม้ผล มะพร้าวมีลูกต้นละ 25 บาท ยังไม่มีลูกต้นละ 12 บาท หมากมีลูกต้นละ 10 บาท ดูเหมือนว่าหมู่บ้านยิ่งห่างออกไปจากสันเขื่อน ห่างไกลจากเมือง ค่าชดเชยก็จะได้น้อยลง และยังมีคนไม่ได้รับค่าชดเชยเพราะตกสำรวจ
อำเภอท่าปลาในยุคนั้นการเดินทางระหว่างตำบลเป็นเพียงทางเกวียน อยู่สองฝากฝั่งลำน้ำน่าน ไกลสุดคืออำเภอป่าแฝกฝั่งทางทิศตะวันออก ห่างจากท่าปลาปัจจุบันกว่า 100 กิโลเมตร ยังมีหมู่บ้านที่ต้องถอยร่นขึ้นที่สูงเพราะคาดว่าน้ำท่วมไม่ถึงอีกหลายหมู่บ้าน เพราะไม่อยากไปอยู่ในแปลงอพยพที่มีสภาพแห้งแล้ง ไม่มีน้ำ ส่วนที่เป็นป่าก็ยังถูกสัมปทานนอกอ่าง และบางแห่งเป็นที่ที่มีเจ้าของ เช่น บริเวณทุ่งกะโล่ พวกเขาถูกข่มขู่ คุกคาม ระหว่างการสำรวจพื้นที่ การจับจองพื้นที่ใหม่จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการจับฉลากอีกขั้นว่าจะได้สิทธิ์แปลงใด คนบ้านเดียวกัน กลุ่มเครือญาติ จะถูกกระจายไปตามผังต่างในแปลงอพยพที่มีชื่อเรียกว่า นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน
ราวปี พ.ศ. 2510 – 2511 เป็นช่วงเวลาของความสับสนอลหม่านเรื่องการเร่งอพยพ นับตั้งแต่รัฐบาลประกาศจ่ายเงินค่าชดเชย ชาวท่าปลาต้องเดินทางไปรับเงินโดยทางเรือ เรือโดยสารทุกลำเต็มไปด้วยชาวบ้านทั้งนั่งทั้งยืนไปยังจุดหมายท่าเสา จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นเงินก้อนที่หลายคนไม่เคยมีมาก่อน การจับจ่ายใช้สอยเป็นไปอย่างคึกคักทั้งของกินของใช้ ร้านอาหารในเมืองเต็มไปด้วยคนท่าปลา
เมื่อการอพยพได้เริ่มต้นพร้อมกับความวิตกกังวลใจ ความเศร้าสร้อยเกิดขึ้นเมื่อนึกถึงข้างหน้าว่าต้องเกิดการพลัดพรากของผู้คน การอพยพเป็นไปอย่างทุลักทุเล ทั้งทางน้ำ ทางบก บางคนขอต้องอาศัยรถบรรทุกไม้ของบริษัทสัมปทานไม้ในอ่าง โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ เงินทองเริ่มหมดไปกับค่าใช้จ่ายในการขนย้ายหรือเป็นการเหมาจ่ายรวมอยู่ในค่าชดเชย
เกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ผู้นำหมู่บ้านเสียชีวิตถูกเสาไม้ศาลาวัดล้มทับในขณะการรื้อวัด รถบรรทุกสองคันประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำ หลุดโค้ง รวมแล้วมีคนเสียชีวิต 7 ราย ถูกนำมาเรียงไว้ที่วัดนาโค้ง พวกเขาบอกว่าเป็นวันที่สูญเสียที่สุดในประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านที่กำลังล่มสลาย
เขื่อนผาซ่อมได้รับพระราชทานพระราชานุญาต ให้ขนานนามว่า “เขื่อนสิริกิติ์” เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2511 สร้างความก้าวหน้าด้านพลังงานให้กับประเทศไทย กับความเสียสละของชาวท่าปลา ตลอดถึงความเสียสละของชาวบ้านน้ำหมัน ผาเลือด ที่ต้องแบ่งปันที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้กับผู้อพยพ

23 พฤษภาคม 2549 เกิดเหตุการณ์ร้ายกับชาวบ้านแถบน้ำหมัน น้ำตะ น้ำรี กิ่วเคียน หมู่บ้านที่สร้างขึ้นหลังอพยพ พวกเขาเป็นชาวบ้านกลุ่มที่ไม่ไปอยู่ในแปลงอพยพแต่เลือกที่จะเสาะแสวงหาหาที่แห่งใหม่ด้วยตนเอง พวกเขาได้รับผลกระทบจากพายุฝนตกหนักจนภูเขาถล่ม เคราะห์กรรมครั้งใหญ่ทำให้สูญเสียที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน และเสียชีวิต อีกครั้งหลังอพยพ
ท่าปลาใหม่ก่อนและหลังอพยพจนถึงปัจจุบัน ยังคงเผชิญกับภาวะความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ จึงเกิดแนวคิดเรื่องการจัดการน้ำในน้ำลี ลำน้ำสาขาที่ไหลลงเขื่อนสิริกิติ์ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริจึงเกิดขึ้น จากการร้องขอของชาวบ้านผ่านกรมชลประทาน เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกอพยพโดยรวมให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถส่งน้ำในพื้นที่โครงการ 53,500 ไร่ แต่เบื้องหลังการดำเนินการนับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2547 ถึงปัจจุบัน กำลังสร้างปัญหาให้ชาวบ้านในระหว่างการก่อสร้าง เรื่องการเวนคืนที่ดินที่ได้รับการฟื้นฟูจากแผ่นดินถล่ม ที่ดินที่ถูกทับจากอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน ชาวบ้านไม่ได้รับค่าเวนคืนได้อย่างครบถ้วน นำไปสู่การเรียกร้องขอความเป็นจากหน่วยงานภาครัฐ
“เขื่อน” ความหวังของการนำพาประเทศสู่การพัฒนาด้านพลังงาน การเปลี่ยนสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ถูกบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2504 ถึงฉบับปัจจุบัน เขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก จึงทยอยสร้างขึ้นทั่วประเทศกลายเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาตามรอยประเทศพัฒนา
เขื่อนก่อให้เกิดผลกระทบทั้งก่อนหน้า และหลังการสร้างเขื่อน นับตั้งแต่ความเห็นต่าง ค่าชดเชยที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย การโยกย้ายผู้คน สำหรับที่อยู่แห่งใหม่ ทำลายระบบนิเวศน์เดิมกระทบถึงสัตว์ป่า ขณะเดียวกันคนกลุ่มได้รับผลประโยชน์จากการสัมปทานไม้ในบริเวณอ่างลามออกจากขอบอ่าง บริษัทที่ปรึกษา บริษัทก่อสร้าง และผลประโยชน์ใต้โต๊ะอันเป็นธรรมเนียม
ในรอบ 49 ปี ชาวท่าปลาผู้เสียสละยังคงวนเวียนอยู่ในความทุกข์จากการพัฒนา กับความแปรปรวนของธรรมชาติ เหมือนถูกคำสาป เขื่อนขนาดใหญ่ยังมีความจำเป็น พอหรือยัง ต้องสร้างอีกหรือไม่ กระบวนทางกฎหมายสิ่งแวดล้อม กระบวนการมีส่วนร่วม การละเมิดสิทธิ์ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประสิทธิภาพของเขื่อนที่มีอยู่เป็นอย่างไร พลังงานทางเลือก ยังมีอยู่หรือไม่กลายเป็นคำถามจากสังคมถึงเขื่อนใหญ่หลายเขื่อนที่กำลังออกแบบก่อสร้างทั้งแม่น้ำภายในประเทศ และแม่น้ำระหว่างประเทศ
——–
สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต
ข้อมูลอ้างอิง “เวทีเสวนา” 49 ปี สืบชะตาคนท่าปลา ฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า และวิถีชุมชน 23-24 พ.ย. 2561
เอกสารประวัติศาสตร์ท่าปลาเล่ม 2 โดย ทีมศึกษาประวัติศาสตร์ท่าปลา