
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ความคืบหน้ากรณีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติออบขาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ในพื้นที่ประมาณ 142,631 ไร่ ซึ่งทับที่ดินทำกินและป่าชุมชน โดยมีชาวบ้านได้รับผลกระทบ 26 หมู่บ้าน 7 ตำบลใน 4 อำเภอ ล่าสุดมีการเดินสำรวจป่าออบขานร่วมกันระหว่างตัวแทนอุทยานฯ และตัวแทนชาวบ้านปกาเกอะญอหรือชาวกะเหรี่ยงผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อให้มีการกันเขตชุมชน ไร่หมุนเวียนหรือไร่ซาก ป่าใช้สอย พื้นที่เลี้ยงสัตว์ และพื้นที่จิตวิญญาณ ออกจากแนวเขตประกาศอุทยานฯ เนื้อที่ประมาณ 24,500 ไร่

นายพฤ โอ่โดเชา ตัวแทนชาวชาวกะเหรี่ยง อำเภอสะเมิง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า การเดินสำรวจเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม กำหนดเสร็จสิ้นวันที่ 7 กุมภาพันธ์ มีการแบ่งคณะสำรวจ 2 ทีม เพื่อจับพิกัดจีพีเอสในพื้นที่เป้าหมายตามที่ชาวบ้านระบุให้กันพื้นที่ ซึ่งภายในเดือนกุมภาพันธ์จะรวบรวมและสรุปข้อมูลทั้งหมดร่วมกับชาวบ้าน คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน และตัวแทนอุทยานแห่งชาติออบขาน ก่อนนำข้อมูลเสนอต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนพิจารณากำหนดแนวเขตใหม่

“จากที่เดินสำรวจมาเกือบ 20 วัน ชาวบ้านพาเจ้าหน้าที่ไปดูทั้งไร่หมุนเวียน ป่าชุมชน ลำน้ำ พื้นที่จิตวิญญาณ แต่ก็ไปได้ไม่ครบทุกจุด เพราะพื้นที่กว้างและเดินทางลำบาก จับพิกัดได้เพียงเป็นจุดๆ ผู้เฒ่าผู้แก่ก็พยายามอธิบายให้เจ้าหน้าที่ฟัง แต่ด้วยปัญหาการสื่อสารคนละภาษาก็อาจทำให้เจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจ ชาวบ้านอยากให้มีนักวิชาการอิสระที่มีความเป็นกลางมาร่วมเก็บข้อมูล และเป็นผู้ช่วยชาวบ้านในการอธิบายถึงพื้นที่จิตวิญญาณ ว่าวิถีการจัดการป่าแบบวิถีชุมชนกะเหรี่ยง เชื่อมโยงต่อการอนุรักษ์ป่าได้อย่างไร ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับเจ้าหน้าที่และสังคมได้

นายพฤ กล่าวอีกว่า ชาวบ้านทุกคนยังไม่มั่นใจว่าอุทยานฯ จะยอมกันพื้นที่ตามที่ชาวบ้านเสนอหรือไม่ เพราะกระบวนการตัดสินใจอยู่ที่ระดับบน ซึ่งหากมองไปที่รัฐบาลจะเห็นว่า ปัจจุบันมีแต่นโยบายที่กีดกันชาวบ้านให้ออกจากป่า กฏหมายมีแต่เพิ่มโทษ มีการจับกุมชาวบ้านที่เข้าไปเก็บเห็ดหรือเลี้ยงสัตว์ในป่า แต่หวังลึกๆ ว่าหากกรณีนี้สามารถแก้ปัญหาอย่างทุกฝ่ายยอมรับ น่าจะเป็นกรณีศึกษาให้กับชุมชนอื่นที่มีปัญหาเช่นเดียวกันได้
ด้านพะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ผู้นำชุมชนบ้านสบลาน หนึ่งในตัวแทนชาวบ้านที่ร่วมสำรวจครั้งนี้ กล่าวว่า การกันเขตชุมชนกะเหรี่ยงออกจากเขตอุทยาน กระทรวงวัฒนธรรมควรเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยนำมติ ครม. 3 สิงหาคม 2533 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง เพื่อผลักดันการกำหนดเขตวัฒนธรรมพิเศษชาติพันธุ์กะเหรี่ยง แทนการใช้กฏหมายป่าไม้หรือการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ มาจัดการกับชุมชนชาติพันธุ์ ที่มีวิถีอยู่กับป่า ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ อีกอย่างวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมคนกะเหรี่ยงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก ชาวบ้านยังทำไร่หมุนเวียน มีวิถีในการดูแลป่าไปพร้อมกับการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ มีงานวิจัยจำนวนมากที่ระบุถึงวิถีชีวิตคนกะเหรี่ยงว่าเป็นคนอยู่กับป่าและดูแลป่า ควรนำข้อมูลวิชาการมาประกอบด้วย เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับ และแก้ปัญหาได้ ชาวบ้านจะมีกำลังใจในการรักษาวิถีชีวิตและดูแลป่าต่อไปได้