Search

สุดทน เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนมาเกือบ 50 ปี ชาวฮอดเดินหน้าออกหนังสือรับรองสิทธิในที่ดินกันเอง

สภาพความแห้งแล้งในหน้าแล้งของพื้นที่บ้านดงดำ ต.ฮอด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่

อบต.-ชาวบ้าน ร่วมกันสำรวจจัดทำเอกสารไม่ง้อหน่วยงานรัฐหลังร้องเรียนจนเบื่อ ระบุถูกลืมมานาน ต้องทนลำบากทั้งน้ำท่วม-ฝนแล้ง

 

เมื่อวันที่ 2 เมษายน นายจงกล โนจา รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ฮอด จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในวันที่ 3 เมษายน ชุมชนตำบลฮอดจะมีการมอบ ‘หนังสือรับรองสิทธิชุมชนการจัดการที่ดินตำบลฮอด’ ให้แก่ชาวบ้านจำนวน 778 แปลงหรือประมาณ 500 ไร่ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกภายหลังจากชาวบ้านต้องประสบกับปัญหาที่ดินทับซ้อนมานานหลายสิบปี ทั้งนี้สาเหตุในการออกหนังสือรับรองสิทธิฯ ดังกล่าวเนื่องจากนับแต่ปี พ.ศ.2507 ที่มีการเปิดใช้ ‘เขื่อนภูมิพล’ และต่อมามีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติออบหลวง ชาวบ้านต้องประสบกับปัญหาเดือดร้อนเพราะพื้นที่ทำกินถูกประกาศเป็นพื้นที่ทับซ้อน ส่งผลต่อวิถีชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งชุมชนอารยธรรมโบราณแห่งนี้ต้องกลายเป็นผู้บุกรุกในที่ดินของตนเอง ซึ่งยังไม่ได้รับการเหลียวแลต่อการแก้ปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

สภาพความแห้งแล้งในหน้าแล้งของพื้นที่บ้านดงดำ ต.ฮอด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่

“หมู่บ้าน ไร่นาของชาวบ้านถูกหลายหน่วยงานประกาศทับซ้อน ทั้งจาก กฟผ.(การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) ป่าไม้ อุทยาน นิคม ทั้งๆที่พวกเรามีหลักฐานหรือร่องรอยของชุมชนมาก่อนตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า”นายจงกล กล่าว

 

รองนายกอบต.ฮอดกล่าวว่า ปัญหาที่สำคัญคือไม่มีหน่วยงานใดที่สนใจแก้ปัญหานี้ เมื่อชาวบ้านพยายามเรียกร้องหรือกระตุ้นให้รัฐเข้ามาแก้ปัญหาร่วมกับชุมชน กลับไม่มีหน่วยงานใดที่ให้ความสนใจต่อปัญหา อีกทั้งเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติก็ไม่สามารถขอรับการช่วยเหลือหรือการชดเชยจากหน่วยงานรัฐได้ จุดนี้เองเป็นสาเหตุให้ชุมชนและท้องถิ่นคือ อบต.ฮอด ต้องร่วมมือกับชาวบ้าน หาทางจัดการปัญหา จึงเกิดเป็นแนวคิดการรับรองสิทธิที่ดินของชุมชนขึ้น และเริ่มลงมือเก็บข้อมูลตั้งแต่ พ.ศ.2551 เป็นต้นมา โดยแรกเริ่มชาวบ้านไม่คิดอยากได้ นส.3 หรือเอกสารสิทธิอะไร แค่อยากจะมีความมั่นใจในการทำสวนทำไร่ในที่ดินซึ่งทำกินมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ชาวบ้านไม่มีอะไรเลยเพื่อจะยืนยันสิทธิของเขาเอง จะไปขอขุดสระน้ำก็ไม่ได้ ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรหรือไม่สามารถตรวจสอบสิทธิ์กรณีประสบภัยพิบัติได้เลย

 

หลักฐานแสดงความเป็นเมืองโบราณ แต่คุณค่าต่างๆหายไปหลังจากถูกน้ำท่วมเมื่อมีการสร้างเขื่อน

“เราต้องใช้เวลาถึง 5 ปี ในการเก็บข้อมูลชุมชนและร่องรอยการทำมาหากินรวมทั้งที่แหล่งที่ตั้งชุมชนในอดีต เพื่อพิสูจน์ว่าชาวบ้านไม่ใช่ผู้บุรุก โดยมี อบต.ฮอด เป็นหน่วยงานที่เก็บรวบรวมข้อมูลของชุมชน และนำไปสู่การออกหนังสือรับรองสิทธิชุมชนฯ อันเป็นหลักฐานยืนยันสิทธิ์ของชาวบ้าน เราเป็นผู้บุกเบิกไม่ใช่ผู้บุกรุก การลงพื้นที่เก็บข้อมูลรายแปลงและกำหนดเขตเพื่อออกเอกสารชุดแรก แม้เราจะรับรองกันเอง แต่ก็เป็นความหวังเดียวของชาวบ้าน ดีกว่าอยู่กันไปวันๆ ไม่มีความมั่นใจ ถ้าวันหนึ่งรัฐมีนโยบายเข้ามาพัฒนาโครงการในพื้นที่ อย่างน้อยเราก็มีเอกสารรับรองที่ชาวบ้านและอบต.ช่วยบกันรับรองสิทธิ์ของชาวบ้าน”นายจงกล กล่าว

 

นายจงกลกล่าวว่า ในงานมอบหนังสือรับรองสิทธิฯ วันที่ 3 เมษายนนี้ ช่วงเช้าจะมีเวทีเสวนาเรื่อง “สิทธิชุมชนการจัดการที่ดินตำบลฮอด” โดยมีตัวแทนอุทยานแห่งชาติออบหลวง องค์กรท้องถิ่น และชาวบ้าน ร่วมเวที ทั้งนี้ได้เชิญ สส.และสจ.ในพื้นที่มาร่วมรับฟังปัญหาและแสดงความคิดเห็นด้วย จากนั้นจะเข้าสู่พิธีมอบหนังสือรับรองสิทธิชุมชนฯ แก่ชาวบ้านต่อไป

 

ขณะที่นายประธาน ปอกอ้าย 1 ในชาวบ้านที่จะได้รับหนังสือรับรองสิทธิฯ ในครั้งนี้กล่าวว่า ชาวบ้านกำลังประสบปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน ทั้งที่เป็นพื้นที่ของชุมชนดั่งเดิม แต่กลับโดนอุทยานฯ ขับไล่ให้ออกนอกพื้นที่ของตนเอง ชาวบ้านหลายคนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตหันออกไปขายแรงงานในต่างถิ่น ทุกคนจึงหวังว่าหนังสือรับรองสิทธิฯ จะเป็นเครื่องมือยืนยันสิทธิให้แก่ชาวบ้าน

 

สภาพความแห้งแล้งในหน้าแล้งของพื้นที่บ้านดงดำ ต.ฮอด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่

“หนังสือรับรองจะช่วยสร้างความอุ่นใจให้กับชาวบ้านว่าจะไม่มีใครมาไล่พวกเขาให้ออกจากผืนดินของปู่ย่าตายาย แม้จะเป็นการรับรองกันเอง แต่ครั้งนี้่นับว่าเป็นแรงพลังของชาวบ้านที่เกิดจากความตื่นตัวของชุมชน เห็นได้ชัดเวลามีการประชุมในเรื่องนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่จะพร้อมเพรียงและร่วมมือกันอย่างเต็มที่”นายประธาน กล่าว

 

เช่นเดียวกับนายบุญศรี โนจา ชาวบ้านที่ได้รับหนังสือรับรองสิทธิฯบอกว่า ที่ดินของตนถูกน้ำท่วมทุกปี โดยต้องอาศัยช่วงเขื่อนปล่อยน้ำออกซึ่งพอจะมีผืนดินว่างทำการเกษตรได้บ้าง เช่น ปลูกข้าวโพดแต่ก็ยังไม่พอกิน จำเป็นต้องออกหาปลาควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ช่วงน้ำท่วมจะออกไปรับจ้างขึ้นลำไยที่ จ.กำแพงเพชร ครั้งละ 10 วันถึง 1 เดือน แลกกับค่าจ้างตระกร้าละ 40 บาท ถ้าทำงานเต็มที่ได้เงินประมาณ 300-400 บาทต่อวัน ทั้งตนและชาวบ้านไม่มีที่ทำกิน ยามแล้งน้ำก็ไม่พอใช้ ถ้าน้ำท่วมก็นาน 6 เดือน และไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือ ต้องพยายามหากินไปวันๆ

 

 

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →