Search

คำบนบานของแม่เฒ่า และภัยคุกคามบ้านเมืองเพีย

หากวันหนึ่งตื่นมาแล้วพบว่า “ใกล้ๆ บ้านและพื้นที่ใกล้เคียงกำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพหรือไบโอฮับ คุณจะมีรู้สึกอย่างไร?”

ในขณะที่ฉากหน้ามีข้อมูลระบุว่า พื้นที่ 4,000  ไร่ มีเพียงการก่อสร้าง โรงงานอ้อยและน้ำตาลขนาด 2 หมื่นตันต่อวัน พ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล 32 เมกกะวัตต์

แต่ข้อมูลในทางลึกกลับไม่เป็นเช่นนั้น โดยในช่วง 5 ปี พื้นที่นี้จะมีโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกจำนวนมาก เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวลที่วางเป้าหมายกำลังผลิตอยู่ที่ 1,800 เมกะวัตต์ และจะมีการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยไปอีกมหาศาล

ความใจหายและสถานการณ์อันสับสนเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นกับชาวบ้าน ตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น

บ้านเมืองเพีย หมู่ 1, 2 และ 8  มี 781 หลังคาเรือน รวมประชากร 2,598 คน เป็นชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดติดกับพื้นที่โครงการมากที่สุด พวกเขามีคำถามมากมายเกี่ยวกับโครงการพัฒนาศูนย์กลางนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ

 “ในนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพหรือไบโอฮับมีทั้งหมดกี่โรงงาน?”

“โรงงานอ้อยที่จะเปิดใหม่ในอีสานอีก 27 โรงงานจะส่งวัตถุดิบป้อนไบโอฮับใช่หรือไม่?”

“ใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง ใช้สารเคมีอะไรบ้าง มีอันตรายอย่างไร ใช้เทคโนโลยี เครื่องจักรอะไร?”

“โรงงานแต่ละโรงใช้น้ำเท่าไหร่ ใช้ไฟเท่าไหร่?”

“ใช้แรงงานเท่าไหร่ แรงงานต้องมีความเชี่ยวชาญเรื่องอะไร จะมีแรงงานกี่คนในพื้นที่ที่จะได้ทำงาน?”

“ผลกระทบมีอะไรบ้างทั้งกับทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งน้ำ ป่าชุมชน อากาศ วิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรม”

“ท้องถิ่นไม่ได้ภาษีเพราะนายทุนได้สิทธิไม่ต้องเสียภาษีจาก BOI ท้องถิ่นจะได้อะไร?”

ฯลฯ

ทุกคำถามเหล่านี้ ชาวบ้านเพียรพยายาม แต่ยังไม่เคยมีคำตอบ เมือถามไปยังหน่วยงานต่างๆ แต่ก็ถูกบ่ายเบี่ยงโดยอ้างว่า “ยังไม่มีข้อมูล”

ตั้งแต่รับรู้ว่าใกล้บ้านกำลังจะสร้างโรงงาน ชุมชนบ้านเมืองเพียได้ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับ เครือข่ายอนุรักษ์แก่งละว้า และกลุ่มอนุรักษ์ป่าโคกหนองม่วง คัดค้านโครงการ หลังจากผู้ประกอบการได้อ้างว่าได้จัดเวทีชี้แจงข้อมูลของโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรรอบโรงงาน ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดขอนแก่น 3 อำเภอ ได้ อำเภอบ้านไผ่, อำเภอชนบท และอำเภอบ้านแฮด รวม 6 ตำบล 39 หมู่บ้าน แต่ข้อเท็จจริง คือ การให้ข้อมูลเท็จ ปกปิดข้อมูลอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ที่จะตามมา

เย็นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 แม่กุล แม่นาง แม่เชียน หญิงชราแห่งบ้านเมืองเพียวัยล่วงเลย 70 ปี  เป็นตัวแทนลูกหลานไปบนบานศาลกล่าวกับเจ้าคุณปู่คุณย่าที่ศาลหลักบ้านหลักเมืองอันเป็นที่เคารพสักการะของชุมชนมาแต่โบราณ เมื่อจุดธูปเทียนและวางดอกไม้ แต่ละคนต่างช่วยกันขอพรอันเป็นเป้าหมายของการต่อสู้ในวันรุ่งขึ้น

“เจ้าคุณปู่คุณย่าเอ้ย วันนี้ลูกหลานเป็นตัวแทนของหมู่เฮามาบนบานว่า บ่อยากให้เขามาสร้างโรงงานใหญ่ บ่เอาอุตสาหกรรม บ่ให้มาสร้างในบ้านเมืองของเฮา ลูกหลานอยากอยู่ธรรมชาติแบบเก่า พรุ่งนี้จะไปหาผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ลูกหลานมาขอให้เจ้าคุณปู่คุณย่าไปกับลูกกับหลาน ไปช่วยลูบคำนำใจผู้ว่า ให้เพิ่นใจอ่อน อย่าให้ไปเข้าข้างพวกอยากสิสร้างโรงงานเด้อ ให้คุณปู่คุณย่าปัดป่ายออกไป”

ทั้งสามแม่เฒ่าเชื่อว่า การบนบานศาลกล่าวจากศรัทธาแห่งการต่อสู้ที่แสดงออกจากความเชื่อและจิตวิญญาณที่ฝังรากบนผืนแผ่นดินซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยทวาราวดี จะสามารถปกป้องถิ่นฐานบ้านเกิดที่สงบสุขไว้ให้ลูกหลานได้

รุ่งเช้าวันที่ 1 มีนาคม 2562 ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เสียงตะโกนของชาวบ้าน กว่า 100 คน ดังกระชั้นยาวนานกว่า 3 ชั่วโมง “ไม่พบผู้ว่าฯ เราไม่กลับ”

ในที่สุดเวลาประมาณ 12.20 น. นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้เดินทางมาเจราจากับชาวบ้านโดยชี้แจงว่าหน่วยงานในระดับจังหวัดยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับไบโอฮับมาก่อน และปฏิเสธว่าไม่สามารถออกคำสั่งให้ยุติการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ (ค.1) ของผู้ประกอบการได้ แต่จังหวัดจะประมวลสถานการณ์ทั้งหมดรายงานต่อส่วนกลาง เพื่อขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และรับปากกับชาวบ้านว่าจะมีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับภาคประชาชน เพื่อร่วมกันศึกษาและประเมินข้อมูลโครงการให้รอบด้าน ส่วนการข่มขู่คุกคามชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านโครงการจะให้ศูนย์ดำรงธรรมตรวจสอบผู้นำชุมชน

หลังจบการเจรจา นางสุดารัตน์ ธิมายอม ชาวบ้านได้สะท้อนความรู้สึกอันเด็ดเดี่ยวว่า “ถึงผู้ว่าจะแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมฯ แต่เรายังหยุดเวที ค.1 ไม่ได้ ก็หมายความว่ายังหยุดโครงการไม่ได้ เราสู้ต่อไป ไม่หยุด จนกว่าเราจะชนะ”

ขณะที่นายดุสิต โนนเพีย ข้าราชการเกษียณ ที่หวังว่าจะได้ใช้ชีวิตสุขสงบในบั้นปลาย กล่าวถึงความห่วงกังวลหากจะมีโครงการนิคมอุตสาหกรรมที่จะก่อสร้างห่างจากรั้วบ้านไม่ถึง 200 เมตรว่า

“ผลกระทบจากฝุ่น มลพิษทางอากาศ จะเป็นอย่างไร เพราะขอนแก่นเป็นพื้นที่อันดับหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น มีการเผาอ้อยเยอะอยู่แล้ว ส่วนถนนหน้าบ้านที่ใช้ในชีวิตประจำวัน สายบ้านไผ่-ชนบท ทุกๆ วันจะมีรถขนอ้อยอย่างน้อยวันละ 1,728 เที่ยวทั้งขาเข้า-ขาออก การใช้รถใช้ถนนหนาแน่น ชีวิตของคนที่นี่จะไม่ปลอดภัยเหมือนเดิมอีกแล้ว และใครจะรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุขึ้น”

เช่นเดียวกับผจงพร ผิวเผื่อน ลูกหลานบ้านเมืองเพีย กล่าวว่า หากในพื้นที่เกิดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มากจะส่งผลกระทบแก่งละว้า พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ มีพื้นที่ 17,500 ไร่ มีพื้นที่รับรับน้ำลงแก่งเกือบ 6 แสนไร่ เป็นแหล่งผลิตน้ำประปาของอำเภอบ้านไผ่ และเตรียมขยายเขตออกไปยังอำเภอโนนศิลา มีหมู่บ้าน 40 หมู่บ้านใช้ประโยชน์ในการหาอยู่หากิน เป็นพื้นที่ปศุสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในขอนแก่น มีควาย 3 พันตัว วัว 7 ร้อยตัว มีรายได้หมุนเวียนต่อปีของเกษตรกร 331 ล้านบาท – 485 ล้านบาท มีการทำนาปรังและนาปีล้อมรอบแก่งละว้า การปลูกอ้อยใช้สารเคมีมากกว่าทำนา 5 เท่า มลพิษที่จะเกิดจากอุตสาหกรรม แก่งละว้าจะได้รับผลกระทบอย่างไร ใครจะรับประกันว่าจะไม่เกิดผลกระทบ

“โครงการอุตสาหกรรมใหญ่ขนาดนี้ ยังไม่การศึกษาอะไรมาก่อนเลย และชุมชนไม่ต้องการ ผู้ว่าฯ ต้องยุติโครงการ บ้านไผ่จะมีการพัฒนาอย่างไรในอนาคต ชุมชนจะเป็นผู้กำหนดอนาคตของตัวเอง”

ก่อนขบวนรถของชาวบ้านจะทยอยเดินทางกลับ เสียงตะโกน “มิตรผลออกไป นิคมอุตสาหกรรมออกไป โรงงานออกไป” ดังก้องในเมืองขอนแก่น นครหลวงของแหล่งอารยธรรมในภาคอีสาน

แม้วันนี้คำบนบานศาลกล่าวที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยังไม่เป็นผล แต่เหล่าแม่เฒ่าและชาวบ้านยังเชื่อมั่นว่า เจ้าคุณปู่คุณย่าที่สถิตอยู่ในศาลหลักบ้านหลักเมืองไม่ทอดทิ้งลูกหลาน และสักวันหนึ่งจะช่วยปัดเป่าเภทภัยให้หายไป

On Key

Related Posts

ชาวบางกลอยกลุ่มใหญ่ยืนยันเจตนารมณ์กลับดินแดนบรรพชน“ใจแผ่นดิน” หลายภาคส่วนร่วมกันจัดงานรำลึก 11 ปี ‘บิลลี่’ ถูกบังคับสูญหาย-หวังความยุติธรรมปรากฎ “วสันต์ สิทธิเขตต์”แต่งเพลงให้กำลังใจชุมชนถูกกดขี่

ผู้สื่อข่ายรายงานว่า ระหว่างวันที่ 16-17 เมษายน 25Read More →