
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2562 นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ จังเชียงราย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุถึงผลการหารือกับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ซึ่งจะยุติโครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงเนื่องจากส่งผลกระทบต่อเส้นเขตแดนและวิถีชีวิตชุมชน ว่าถือว่าเป็นจิตสำนึกที่ดีของรัฐบาล 2 ประเทศที่มีแนวทางการพัฒนาที่คำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสิทธิมนุษยชน อันจะนำไปสู่แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประชาคมโลก และนำไปสู่ทิศทางความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ในทางการเมืองระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือความร่วมมือในการทบทวน แก้ไขปัญหาจากพัฒนาพลังงานจากเขื่อนสู่พลังงานทางเลือกหรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ
“ถึงตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่าโครงการระเบิดแก่งจะยุติจริงหรือไม่ หากข้อตกลงของรัฐมนตรีทั้งสองมีผลในทางปฎิบัติก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดี เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านริมแม่น้ำโขงตอนล่างได้รับผลกระทบต่างๆ มากมายจากโครงการพัฒนาของจีน โดยพยายามร้องเรียนไปยังรัฐบาลทั้งสองประเทศ แต่ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ทั้งเรื่องระเบิดแก่งซึ่งได้ระเบิดมาแล้วจนถึงเชียงแสน นอกจากนี้ยังมีผลกระทบร้ายแรงจากการสร้างเขื่อนที่ทำให้น้ำขึ้นลงผิดฤดูกาลก่อให้เกิดความเสียหายมากมาย ดังนั้นรัฐบาลทั้งสองประเทศควรหาโอกาสคุยกันในเรื่องนี้ด้วยเพื่อประโยชน์ของประชาชน”นายสมเกียรติ กล่าว

ขณะที่นางสาวเพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ กล่าวว่า โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเกิดจากข้อตกลงการเดินเรือพาณิชย์ แม่น้ำล้านช้างแม่น้ำโขง ที่ลงนามระหว่าง 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนบน ได้แก่จีน พม่า ลาว ไทย เมื่อปี 2543 โดยจะทำให้แม่น้ำโขงตอนบนเป็นเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ จากท่าเรือซือเหมา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ลงมาจนถึงหลวงพระบาง ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว โดยมีการระเบิดแก่งและปรับปรุงร่องน้ำไปแล้วในช่วงพรมแดนพม่าลาว ลงมาจนถึงสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย อย่างไรก็ตามการดำเนินการต้องได้รับการยอมรับจากเจ้าของพื้นที่ แต่บริเวณพรมแดนไทย-ลาว ระหว่างแขวงบ่อแก้ว และจังหวัดเชียงรายไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากข้อกังวลของประเทศไทยทั้งเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการปักปันพรมแดนไทยลาวที่ยังไม่มีข้อยุติ
นางสาวเพียรพรกล่าวว่า ข้อมูลที่ผ่านเป็นที่ชัดเจนว่าฝ่ายจีนได้พยายามผลักดันโครงการระเบิดแก่งมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ค.ศ. 2015 –2025 และการดำเนินงานเบื้องต้นโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง เห็นชอบในหลักการให้กรมเจ้าท่า เป็นหน่วยงานปฏิบัติและประสานงานหลักในการดำเนินการตามแผน และให้กระทรวงคมนาคม (กรมเจ้าท่า) รับฟังความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกรมแผนที่ทหารไปพิจารณาประกอบการดำเนินการด้วย และในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2560 บริษัทจีน CCCC Second Harbor ได้ดำเนินการสำรวจทางอุทกธรณีวิทยา อุทกวิทยาและชลศาสตร์ บนแม่น้ำโขงพรมแดนไทยลาว 96กิโลเมตร โดยได้ดำเนินการสำรวจจำนวน 15 จุด 168 หลุมเจาะ และได้ว่าจ้างบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ดำเนินการรวบรวมข้อมูลสิ่งแวดล้อมและสังคมและจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในพื้นที่ระยะทาง 2 กิโลเมตร จากริมฝั่งแม่น้ำโขง ฝั่งประเทศไทย จังหวัดเชียงราย ตลอดแนวชายแดน ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ คือ เชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น

นางสาวเพียรพรกล่าวว่า เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา บริษัททีมฯ ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อผลการศึกษาร่างมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้างแม่น้ำโขง ที่ อ.เวียงแก่น อ.เชียงของ และ อ.เชียงแสน ซึ่งประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าร่วม ส่วนใหญ่แสดงความกังวลและไม่เห็นด้วยกับโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าไทยจีน และความมั่นคง ผลกระทบทางกายภาพของแม่น้ำโขง ที่มีผลต่อเส้นแบ่งพรมแดน และการระเบิดแก่งที่ไม่กระทบการเปลี่ยนแปลงทางน้ำนั้นเป็นไปได้ยาก
“ดิฉันได้เข้าร่วมเวที 2 ครั้งที่ อ.เชียงของ และ อ.เชียงแสน ซึ่งรองประธานบริษัทจีนได้มานำเสนอผลการศึกษาด้วยตนเอง และเห็นชัดเจนว่าจีนมีความพยายามในการการเดินหน้าโครงการ ซึ่งไม่สามารถดำเนินไปถึงหลวงพระบางได้ เนื่องจากติดที่คอขวดบริเวณพรมแดนไทยลาว อย่างไรก็ตามข่าววันนี้นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีหากเป็นเรื่องจริงที่รัฐบาลทั้งสองประเทศได้ให้ความสนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมแม่น้ำโขงและวิถีชีวิตของประชาชนริมแม่น้ำโขง เพราะเป็นข้อกังวลและผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงของชาวบ้านที่เรียกร้องมาตลอดกว่า 20 ปี หากรัฐบาลจริงใจ ควรมีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่ารัฐบาลจีนจะยกเลิกโครงการระเบิดแก่งจริง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำโขง” นางสาวเพียรพร กล่าว
ด้านนายชาญณรงค์ วงศลา ตัวแทนกลุ่มฮักเชียงคาน จังหวัดเลย กล่าวว่าเป็นเรื่องดี เพราะเป็นสัญญาณที่ดีที่มีการพูดคุยกับเรื่องเรื่องแม่น้ำโขง เป็นแนวทางที่ดีที่คุยกันทั้งสองประเทศ คิดว่าอาจจะต้องอธิบายให้มากกว่านี้ว่าเหตุผลในการยกเลิกโครงการนี้ว่าเป็นอย่างไร เพราะในข่าวมีเหตุผลเพียงเรื่องคมนาคม และในอนาคตควรจะมีการพูดคุยเชื่อมโยงไปถึงเรื่องผลกระทบจากเขื่อนตอนบนของจีนที่ประชาชนท้ายน้ำได้รับผลกระทบมากว่า 20 ปีนั้น และเปิดโอกาสให้ประชาชน ประชาสังคมได้มีโอกาสไปพูดคุยร่วมกันจะเป็นการยกระดับการเจรจาที่ดีมากขึ้น
ทั้งนี้เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันมติชนออนไลน์ ได้ลงข่าวคำสัมภาษณ์นายดอนโดยระบุถึงผลการหารือกับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ที่ได้เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ได้มีการหารือกันในหลายๆ ประเด็น ทั้งประเด็นในภูมิภาคและประเด็นทวิภาคี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเด็นที่มีข้อห่วงกังวลของประชาชนทั้งในไทย ลาว และเมียนมา เกี่ยวกับการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง โดยเฉพาะจุดที่เลยขึ้นไปจากบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ
นายดอนกล่าวว่า ตนได้หารือและทำความเข้าใจกับนายหวัง อี้ ถึงความห่วงกังวลของประชาชนในพื้นที่ เกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นหากมีการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะผลกระทบทางธรรมชาติไปจนถึงระบบนิเวศ ซึ่งอาจส่งผลถึงวิถีชีวิตและการทำมาหาเลี้ยงชีพ ตลอดจนการวางไข่ของปลาในแม่น้ำโขง เพียงเพื่อให้เรือลำใหญ่เดินทางขึ้นไปได้ แต่จะขึ้นไปเพื่อการใดยังไม่ชัดเจน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวด้วยว่า เมื่อพิจารณาว่าปัจจุบันนี้มีเส้นทางคมนาคมต่างๆ เข้ามาเสริมมากมายในพื้นที่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางเดินรถ รถไฟ ไปจนถึงการเดินทางทางอากาศ ความจำเป็นของการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงน่าจะหมดไป ขณะที่การระเบิดเกาะแก่ง นอกจากจะทำลายระบบนิเวศวิทยาซึ่งจะทำให้ธรรมชาติเสียหายแล้ว วิถีชีวิตของผู้คนริมฝั่งน้ำยังจะได้รับผลกระทบ รวมถึงเรื่องเขตแดนระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านในบริเวณดังกล่าวก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
“ฉะนั้นไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาตามมาในหลากหลายมิติ เราได้รับการตอบรับด้วยความเข้าใจจากฝ่ายจีนที่เห็นพ้องกันว่าจะยกเลิกการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง จึงถือเป็นผลการประชุมที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ เพราะฝ่ายจีนเขารับทราบข้อห่วงกังวลต่างๆ ของเราเป็นอย่างดี” นายดอนกล่าว