สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

‘ผู้เฒ่าไร้สัญชาติ’ ภูมิปัญญาแผ่นดินที่ถูกลืม

พื้นที่ชายขอบของประเทศไทยยังมีผู้เฒ่าไร้สัญชาติจำนวนมากที่มีปัญหาสถานะบุคคล ไม่สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ข้อจำกัดด้านการสื่อสาร จนไม่ได้สิทธิตามกฎหมายในฐานะพลเมืองซึ่งเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน

 

มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) และองค์กรภาคี ได้ริเริ่มโครงการการแก้ปัญหาสถานะบุคคลเพื่อสุขภาวะผู้เฒ่าไร้สัญชาติขึ้นตั้งแต่ปี 2555 โดยลงพื้นที่สำรวจผู้เฒ่าไร้สัญชาติ (บุคคลที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ในพื้นที่เป้าหมายเพื่อเป็นกรณีศึกษาได้แก่ 1. ลุ่มน้ำแม่จัน–แม่สลอง อ.แม่จัน–อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย 2. ลุ่มน้ำลุ่มน้ำโขง อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น อ.เทิง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย 3. ลุ่มน้ำสาละวิน อ.แม่สะเรียง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เพื่อผลักดันในการเข้าถึงสุขภาวะ สิทธิทางสุขภาพของผู้เฒ่าตามสิทธิทางกฎหมายที่แต่ละคนควรได้รับ และในวันที่ 10 เม.ย. 2555 ได้จัดงานวันผู้เฒ่าไร้สัญชาติครั้งที่ 1 ขึ้น ณ สำนักงานมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ดอยแม่สลอง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย และในปีนี้ได้จัดงานครั้งที่ 2 ขึ้นเมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมาภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี นายชาติชาย สงวนพงษ์ ปลัดจังหวัดเชียงราย และ นายวรญาณ บุญณราช นายอำเภอแม่ฟ้าหลวง และแกนนำสำคัญของพี่น้องชนเผ่า มาพร้อมผู้เฒ่าไร้สัญชาติจาก จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย มาร่วมงานจำนวนมาก วัตถุประสงค์ของการจัดงาน เพื่อนำเสนอข้อมูลสภาพปัญหาของผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ข้อเสนอเชิงนโยบายและภาคปฏิบัติ ให้มีนโยบายปฏิบัติสำหรับผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ซึ่งภายในงานได้มีเวทีเสวนา “ภูมิปัญญาผู้เฒ่า” ด้วย

 

“ประเด็นที่รัฐบาลไทยต้องพิจารณา คือ ผู้เฒ่าทุกกลุ่มส่วนมากไม่สามารถพูดอ่านเขียนภาษาไทยได้ ถิ่นที่อยู่อาศัยไกลจากอำเภอ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นพันต่อการเช่ารถเดินทางไปทำเรื่องที่อำเภอ บางคนออกเดินทางนอกหมู่บ้านไม่ได้เมารถ เดินทางได้อย่างเดียวคือเดินเท้า แม้ว่าบางคนเข้ารับการสำรวจที่มีการเปิดสำรวจโดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในแต่ละยุคสมัย แต่ด้วยข้อจำกัดของภาษาที่ไม่ตรงกัน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการบันทึกข้อมูลผิดพลาด จนนำไปสู่ปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น” นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานมูลนิธิ พชภ. เกริ่นถึงปัญหาที่ทำให้ผู้เฒ่าต้องไร้สัญชาติ

 

ประธานมูลนิธิ พชภ. กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาของผู้เฒ่าไร้สัญชาติน่ากังวลอย่างมาก โดยปี 2556 จากโครงการสำรวจข้อมูลผู้เฒ่าชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัด 6 อำเภอ 32 หมู่บ้าน ได้แก่ จ.เชียงราย ในพื้นที่ อ.แม่ฟ้าหลวง อ.เชียงของ อ.เชียงแสน และ อ.เวียงแก่น, จ.เชียงใหม่ ในพื้นที่ อ.ปาย และ จ.แม่ฮ่องสอน พื้นที่ อ.แม่สะเรียง พบว่า มีจำนวนผู้เฒ่าที่มีปัญหาเรื่องสัญชาติทั้งสิ้น 1,411 ราย แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. ผู้เฒ่าถือบัตรสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือรอแปลงสัญชาติทั้งสิ้น 176 คน 2. ผู้เฒ่าที่เข้ามาอยู่นานถือบัตรหัว 6 หรือผู้รอยื่นสถานะเข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย จำนวน 726 คน 3. ผู้เฒ่าถือบัตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือบัตรเลข 0 จำนวน 104 คน 4. ผู้เฒ่าตกหล่นจากทะเบียนราษฎร จำนวน 376 คน และ 5. ผู้เฒ่าถือบัตรแรงงานต่างด้าว หรือบัตรเลข 00 จำนวน 29 คน ซึ่งผู้เฒ่าใน 5 กลุ่มนั้นมีอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป ซึ่งรัฐไทยได้มีนโยบายกำหนดให้ผู้เฒ่าที่เคยได้รับการสำรวจได้รับสิทธิให้อาศัยอยู่ชั่วคราวในรัฐไทยเป็นกรณีพิเศษ โดยอาศัยมาตรา 17 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 แต่รัฐไทยเองก็ยังไม่มีการพัฒนาสถานะของกลุ่มผู้เฒ่าเหล่านี้ต่อไป ส่วนหนึ่งติดปัญหาอยู่ที่อำเภอเองไม่มีเจ้าหน้าที่ไปสำรวจข้อมูล รวมทั้งคนที่เป็นพยานยืนยันว่าผู้เฒ่าบางคนอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 15 ปี ก็ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยหรือตายไป

 

ทำให้ผู้เฒ่ากลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในบางจำพวกได้ อาทิ สิทธิในการเดินทาง สิทธิการถือครองทรัพย์สิน สิทธิการรักษาพยาบาล เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นต้น

“ผู้เฒ่าเหล่านี้เปรียบเหมือนคลังสมอง เพราะร่วมสร้างบ้านแปลงเมืองกันมา อีกทั้งชนเผ่าพื้นเมืองเหล่านี้มีวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ เคารพธรรมชาติ มีภูมิปัญญาที่ช่วยอนุรักษ์รักษาป่าต้นน้ำ ตามหลักสิทธิมนุษยชนแล้วเขาต้องได้รับสิทธิของการเข้าถึงสวัสดิการที่รัฐนั้นมี” “ครูแดง” หรือ เตือนใจ ดีเทศน์ บอกเล่า บนเวทีเสวนาในวันผู้เฒ่าไร้สัญชาติครั้งที่ 2 ได้นำเสนอภูมิปัญญาที่สำคัญของแต่ละชนเผ่า เช่นพี่น้องเผ่าอาข่าการตั้งถิ่นฐานนั้น ต้องเลือกอาศัยอยู่ตามที่ลาดเชิงเขา ส่วนการดำรงชีพของเผ่าอาข่านั้นต้องออกไปทำไร่ไกลจากบ้านเรือนเพราะมีกฎอยู่ว่าเมื่อสัตว์เลี้ยง หมู ไก่ มากัดกินพืชไร่ไม่สามารถปรับเจ้าของหมูได้ เผ่าอาข่าจึงต้องเดินเท้าไปทำไร่ที่ไกลจากหมู่บ้าน วิถีชีวิตเช่นนี้ทำให้ป่างอกโดยธรรมชาติ

 

ชาวเขาเผ่าลีซู ซึ่งแปลว่าผู้เรียนรู้ นอกจากวิถีชีวิตเรียบง่าย ลีซอมักใช้เสื้อผ้าสีสดมาเป็นเครื่องแต่งกาย แม่เฒ่า บังอาซามิ ชาวเขาวัยชรา ซึ่งเป็นคน ไร้รัฐเช่นกันบอกว่าสีของเสื้อผ้านั้นมาจากได้เห็นสีสันของต้นไม้ในป่าขึ้นแซมสลับสีต่างกัน

 

“พัมหม่าแท้ ๆ” คือภาษาของชาวเขาเผ่าอาข่า บอกกับเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อต้องเจอการตรวจสอบ หมายถึงเขาเป็นคนไทย แต่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าใจว่าเป็นชาวพม่า อาแม แซ่เบวกู พ่อเฒ่ารอแปลงสัญชาติวัย 62 ปี จากบ้านใกล้ฟ้า ต.แม่สลองนอก เคยเจอประสบการณ์เช่นนี้เมื่อต้องเดินทางออกนอกหมู่บ้าน ปัจจุบันผู้เฒ่ายังถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเลขที่ 557/2546 และถือใบสำคัญถิ่นที่อยู่เลขที่ 553/2546 มาแล้ว 10 ปี มีสถานะเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองไม่มีบัตรประชาชน ซึ่งตามข้อกฎหมายคนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยในรัฐไทยมาเป็นเวลา 5 ปี ต้องมีเงินเดือน 80,000 บาท หรือถ้าถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและใบสำคัญถิ่นที่อยู่ครบ 10 ปี ต้องมีเงินเดือน 20,000 บาท อาแม ไม่มีโอกาสได้บัตรประชาชน ลำพังอาชีพทำเครื่องเงินมีรายได้ปีละไม่ถึง 20,000 บาท ขณะที่เขาเป็นชาวเขาผู้สืบทอดภูมิปัญญาการทำเครื่องเงินแห่งเดียวของหมู่บ้าน

 

“นายอำเภอบอกว่าแก่แล้วไม่ต้องทำบัตร ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร อายุไม่สำคัญหรอกแต่มีบัตรแล้วทำให้เดินทางมั่นใจ จะซื้อที่ดินก็ได้ ได้เบี้ยผู้สูงอายุ คนอื่นเขาได้เราไม่ได้” อาแมบอกถึงความในใจ

 

นายสุพจน์ เลียดประถม สมาชิกวุฒิสภา จ.ตราด อดีตประธานกรรมาธิการติดตามการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหาการไร้สถานะและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย กล่าวว่า ตามหลักสิทธิมนุษยชนแล้วคนต้องมีสัญชาติ ปัจจุบันมีคนทั่วโลก 10-11 ล้านคนไม่มีสัญชาติ นอกจากนี้ยังมีประชาชนภาคอื่น ๆ ที่ยังไม่มีสัญชาติ ทั้งนี้ความเป็นไปได้ที่กลุ่มคนที่จะรอแปลงสัญชาติที่มีอยู่ประมาณ 700 กว่าคนจากสำรวจในครั้งนี้ อย่างแรกภาครัฐต้องผ่อนปรนกฎระเบียบ อาทิเกณฑ์เรื่องอาชีพเกณฑ์รายได้ใช้ไม่ได้ หลักเรื่องสื่อสารต้องผ่อนปรนกับกลุ่มคนชายขอบแม้พูดภาษาไทยไม่ได้ก็ต้องใช้ล่าม และตัวเจ้าของปัญหาต้องปรับตัวเองเพื่อให้เข้ากับกฎระเบียบของรัฐได้

 

“กรมการปกครองต้องเร่งสำรวจผู้ไร้สัญชาติทั่วประเทศเพราะเมื่อครั้งที่แล้วก็มีการสำรวจในพื้นที่นี้แต่ไม่มีความคืบหน้า” สมาชิกวุฒิสภา จ.ตราด กล่าวทิ้งท้าย.

 

เดลินิวส์
28 เมษายน 2556

 

 

On Key

Related Posts

ชี้บทเรียนส่งกลับเด็ก 126 คนกลับพม่าทำลายภาพลักษณ์ไทย “ศ.สมพงษ์” แนะทำระเบียงมนุษยธรรมคุ้มครองเด็ก “ครูน้ำ” เผยส่งเด็กเร่ร่อนไปอยู่พื้นที่ชั้นในหวั่นเอเย่นต์ค้ามนุษย์ อธิบดี ดย.เผยชะลอส่งเด็กกลับ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ความคืบหน้ากรณีเด็กนักเRead More →

KNU ปรับแถลงการณ์ช่วยเหลือมนุษยธรรมหลังกองทัพบกไทยร้อนใจถูกพาดพิง-หวั่นผลกระทบ “ศ.สุรชาติ” ระบุนานาชาติแปลกใจไทยใช้บริการ BGF ที่ใกล้ชิด SAC มาก่อน แนะวางกรอบคิดยุทธศาสตร์ปัญหาสงครามเมียนมา

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงควาRead More →

KNU แสดงจุดยืน 6 ข้อหลังความช่วยเหลือมนุษยธรรมส่งถึงมือชาวบ้านกะเหรี่ยง ไม่เชื่อใจกาชาดพม่าระบุเป็นเครื่องมือ SAC “สีหศักดิ์”ตีฆ้องประกาศผลสำเร็จ-เชิญนานาชาติกว่า 50 ประเทศร่วมรับฟัง เตรียมเดินช่วยเหลือหน้าครั้งต่อไป

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 คณะกรรมการกลางสหภาพแห่งRead More →

รมว.พม.ประกาศไม่ส่ง 19 เด็กไร้สัญชาติกลับพม่า ข้องใจต้นตอข่าว พระอาจารย์วัดสว่างอารมณ์แจงไม่มีการนำไปเดินเรี่ยไร ผอ.ศูนย์การเรียนไร่ส้มจับตาเป็นภาค 2 ของการส่งเด็กกลับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราRead More →