Search

“ผู้เฒ่าไร้สัญชาติ” พลเมืองเอื้อมไม่ถึงรัฐ

 

เส้นแบ่งดินแดนเป็นเพียงสิ่งสมมติ แสดงอาณาเขตความเป็นประเทศ แต่ความเป็นคนนั้นไม่มีเส้นเขตแดนใดจะแบ่งได้

 

ในพื้นที่ห่างไกลจากเขตเมืองที่ความเจริญเพิ่งเข้าไปถึงไม่กี่สิบปี ยังมีประชาชนอีกจำนวนมาก ที่ทำมาหากิน มีลูก มีหลานบนแผ่นดินไทย บุกเบิกการเกษตรพืชเศรษฐกิจหลายชนิด แต่จนแล้วจนรอดเขาเหล่านี้ก็ยังคงเป็นได้เพียงคนไร้สัญชาติ คนไร้รัฐ ในทางกฎหมาย เพียงแค่เขาเหล่านี้เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ ทำให้ไม่สามารถเป็นคนไทยได้โดยสมบูรณ์ ขาดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นสิทธิการศึกษา การรักษาพยาบาล การเดินทาง การถือครองทรัพย์สิน การขอสถานะ กระบวนการยุติธรรม การก่อตั้งครอบครัว

 

ปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกิดจากความผิดพลาดหลายอย่างสะสมมาในอดีต จากการเดินทางขึ้นเขาคดเคี้ยวห่างไกล บนดอยแม่สลอง บริเวณบ้านใกล้ฟ้า มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) นำสื่อมวลชนลงพื้นที่บ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ร่วมงาน วัน ผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2556 ซึ่งมีผู้เฒ่าจาก 11 กลุ่มชาติพันธุ์ ในจ.เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน กว่า 300 คน เข้าร่วม

 

พ่อเฒ่าแม่เฒ่าเหล่านี้แต่ละคนอาศัยอยู่บนแผ่นดินไทยมาช้านาน โดยเดินทางข้ามไปมาในแถบภูเขาสูง ซึ่งตามธรรมชาติก็จะมีเพียงยอดดอย ป่าไม้ ขุนเขา ไม่ได้มีประตูหรือเส้นดินแดนบ่งชี้ แต่การตั้งถิ่นฐานถาวรในเขต แดนไทยนั้น แต่ละคนมีหลักฐานการอยู่มากว่า 30-40 ปี เพียงแต่ไม่มีเอกสารหลักฐานที่ชัดเจน ซึ่งทั้งประเทศคาดว่าจะมีกลุ่มที่ตกหล่นจากการสำรวจและออกเอกสารราว 3-4 หมื่นคน

 

จากการออกสำรวจด้วยการลงพื้นที่ต่างๆ นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานมูลนิธิพชภ. กล่าวว่า ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติโดยโครงการสำรวจข้อมูลผู้เฒ่าชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัด 6 อำเภอ 32 หมู่บ้าน ได้แก่ จ.เชียงราย ในพื้นที่ อ.แม่ฟ้าหลวง อ.เชียงของ อ.เชียงแสน และอ.เวียงแก่น จ.เชียงใหม่ ในพื้นที่ อ.แม่อายและจ.แม่ ฮ่องสอน พื้นที่อ.แม่สะเรียง พบว่า มีผู้เฒ่าที่มีปัญหาเรื่องสัญชาติ 1,411 ราย

 

แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ผู้เฒ่าถือบัตรสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือรอแปลงสัญชาติ 176 คน 2.ผู้เฒ่าที่เข้ามาอยู่นานถือบัตรรหัสหัว 6 หรือผู้รอยื่นสถานะเข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย 726 คน 3.ผู้เฒ่าถือบัตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือบัตรเลข 0 จำนวน 104 คน 4.ผู้เฒ่าตกหล่นจากทะเบียนราษฎร 376 คน และ 5.ผู้เฒ่าถือบัตรแรงงานต่างด้าว หรือบัตรเลข 00 จำนวน 29 คน

 

พบว่ามีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ส่วนมากเป็นกลุ่มบุคคลที่ได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในรัฐไทยนานแล้ว แต่ขาดจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศต้นทางที่ตนเองเกิด แต่กลับพบจุดเกาะเกี่ยวและความกลมกลืนเข้ากับวิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรมกับรัฐไทย เพราะอยู่ที่รัฐไทยมานาน

 

ปัญหาคือรัฐไทยมีนโยบายกำหนดให้ผู้เฒ่าที่เคยได้รับการสำรวจได้รับสิทธิให้อาศัยอยู่ชั่วคราวในรัฐไทยเป็นกรณีพิเศษ โดยอาศัยมาตรา 17 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 แต่ไม่มีการพัฒนาสถานะของกลุ่มผู้เฒ่าเหล่านี้ ทำให้มีสิทธิเพียงการอาศัยอยู่ในรัฐไทยชั่วคราวเท่านั้น จนเป็นเหตุให้ผู้เฒ่ากลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้

 

การสำรวจยังพบว่า ผู้เฒ่าที่ถือบัตรประจำตัวคนต่างด้าว มีมากที่สุดเกือบ 56 เปอร์เซ็นต์ บางคนอยู่ประเทศไทยนานกว่า 30 ปี และมากสุดถึง 60 ปี โดยถือบัตรประจำตัวต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมายตั้งแต่ปี 2546 แต่แปลงสัญชาติไม่ได้ เนื่องจากเกณฑ์ประกอบดุลพินิจของรมว.มหาดไทย มีการแก้ไขและกำหนดไว้ว่าต้องมีรายได้เดือนละ 20,000-40,000 บาท ต้องมีใบจ้างงาน มีหลักฐานการเสียภาษี

 

เกณฑ์ดังกล่าวทำให้พ่อเฒ่าแม่เฒ่า ไม่มีวันได้สัญชาติอย่างแน่นอน เพราะส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม จักสาน การเข้าถึงสิทธิพื้นฐานที่พึงมีง่ายๆ แค่การเดินทางไปร.พ.ก็เป็นเรื่องยากแล้ว คนกลุ่มนี้แม้มีบัตรต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย อยู่ในเมืองไทยมานาน แต่น้อยคนที่จะสื่อสารด้วยภาษากลางได้คล่องแคล่ว จึงต้องกลายเป็นพลเมืองที่อาศัยอยู่ด้วยความกลัวไปตลอด

 

อาผี่ หมี่หน่อง แม่เฒ่าวัย 92 ปี ยังแข็งแรงและเป็นผู้ถ่ายทอดวัฒนธรรมชนเผ่า เป็นกลุ่มแรกๆ ที่อพยพถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่บ้านคาสุขใจ ถูกจัดให้เป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ซึ่งไม่มีตัวตนทางกฎหมายของประเทศใดๆ แม่เฒ่าอาศัยอยู่ในเมืองไทยราว 34 ปี และจะฝังร่างตนเองในแผ่นดินไทยเป็นแห่งสุดท้าย ด้วยสุขภาพที่โรยรา การเดินทางไปหาหมอแต่ละครั้งเป็นเรื่องใหญ่ทั้งค่าใช้จ่าย การเดินทาง จึงทำได้แค่น้อยใจว่ารัฐคงคิดว่าไม่ช้าไม่นานแม่เฒ่าก็คงจากโลกนี้ไปลำพัง จึงไม่มีสิทธิใดๆ ให้แก่เธอ

 

อาบออาแม ผู้เฒ่าคนเหล็กแห่งป่าคาสุขใจ ชาวอาข่า อายุ 62 ปี ซึ่งรอการแปลงสัญชาติเป็นคนไทยมาแรมปี เป็นผู้หาเลี้ยงชีพด้วยการตีเหล็ก เครื่องเงินหัตถกรรมของชนเผ่า พ่อเฒ่าถือใบประจำตัวต่างด้าวมากว่า 10 ปี สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิอาศัยอยู่ถาวรในรัฐไทย

 

อาบออาแมเล่าว่า ถ้าไม่สบายแต่ก่อนก็จะเสียค่าใช้จ่ายมากเพราะต้องให้คนแบกไป ถนนหนทางก็ยังไม่ดี ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะเลือกหมอทรง หมอผี ก่อนที่จะไปหาหมอในเมือง ปัจจุบันการเดินทางสะดวกขึ้น แต่สิ่งที่พบคือการถูกเรียกตรวจแล้วตรวจอีก สร้างความกังวลใจให้พ่อเฒ่าที่รู้ภาษากลางเพียงเล็กน้อย

 

นางยิ่ง แซ่ย่าง ผู้เฒ่าเผ่าม้งวัย 80 ปี จากดอยยาวผาหม่อน อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย สาธิตวิธีการเป่าใบไม้เพื่อใช้สื่อสารข้ามเขตดอยของชาวม้ง ซึ่งภูมิ ปัญญานี้กำลังใกล้สูญหายไป แม่เฒ่าอยู่เมืองไทยมาตั้งแต่เกิด มีลูก 4 คน และได้บัตรประชาชนหมดแล้ว แต่ตนเองกลับไม่ได้สิทธิ เพราะการเดินทางไปขึ้นทะเบียนในอดีตเป็นเรื่องยาก จนทุกวันนี้สุขภาพไม่ดีและไม่มีสิทธิใดๆ มารองรับ

 

ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่ทำให้คนกลุ่มนี้ถูกมองว่าเป็นคนกลุ่มเล็กๆ จนบางครั้งดูเหมือนถูกละเลยทอดทิ้ง และการไม่มีสถานะทางกฎหมาย ทำให้คนเหล่านี้ไม่มีสิทธิตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และยังมีปัญหาทางสุขภาพเปลี่ยนไป จากเดิมที่พบโรคทางเดินหายใจ ถุงลมโป่งพอง โรคปวดข้อกระดูก โรคกระเพาะ มาเป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวานมากขึ้น ซึ่งเสี่ยงต่อปัญหาอัมพฤกษ์ อัมพาตด้วย

 

การเดินทางที่ยาวนานจึงยังไม่สิ้นสุด.

 

 โดย เมธาวี มัชฌันติกะ

วันที่ 02 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8190 ข่าวสดรายวัน

 

 

 

On Key

Related Posts

ผู้นำแรงงานแฉอีกพิรุธงบ สปส.โครงการจัดอบรมแรงงานกว่า 30 ล้าน เผยกลายเป็นงบล่ำซำให้บางสภาแรงงานที่เข้าถึง ใช้วิธีเซ็นชื่อลงทะเบียนล่วงหน้า-เก็บค่าหัวคิว ชี้เป้าสอบงบทำปฏิทิน 54 ล้าน-ใครผูกขาดผลิต

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษRead More →

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →