เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ได้มีการจัดแสดงศิลปะแสดงสด ในโครงการศิลปะชุมชน ขึ้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย จังหวัดเชียงราย เนื่องในวาระที่ทำงานมาครบ 15 ปี โครงการศิลปะชุมชน โดยศิลปินประกอบด้วยชินดนัย ปวนคำ ,ณัฐกรณ์ สุรินธรรม ,ภัทรียา ฉิมนอก ,จักรกริช ฉิมนอก ,วิชชุกร ตั้งไพบูลย์,สาธิต รักษาศรีและจิตติมา ผลเสวก ผู้อำนวยการโครงการ โดยมีนักศึกษาทั้งภาควิชาศิลปกรรมและภาควิชาอื่นๆมาชมและฟังการบรรยาย ภายหลังจบการบรรยายศิลปินยังร่วมกันทำศิลปะแสดงสดในหัวข้อหลักของโครงการ “โลกอีกใบยังมีอยู่”
การบรรยายและทำงานศิลปะแสดงสดครั้งนี้ อาจารย์จักรกริชให้ความเห็นว่า เป็นการถ่างความเคยชินของนักศึกษา ให้ได้รับรู้ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น และศิลปะที่สามารถนำไปใช้เพื่อสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และวิถีวัฒนธรรมชุมชน อาจจะไม่ได้ผลในทันควันแต่เชื่อว่าจะเกิดคำถามขึ้นในใจนักศึกษาอย่างแน่นอน
ในมุมมองศิลปินสาวภัทรี ฉิมนอก กล่าวว่ารู้สึกยินดีที่ได้แชร์ประสบการณ์กับนักศึกษา เพื่อให้จุดประกายนักศึกษาให้เกิดการตั้งคำถามต่อศิลปะในรูปแบบแตกต่างกันออกไป
ขณะที่พุทธศิลป์ สิงห์แก้ว นักศึกษาภาควิชาศิลปกรรมกล่าวว่าประทับใจในการนำเสนอของศิลปิน คนละแนวแต่เชื่อมโยงเรื่องเดียวกัน ความคิดเห็นเกี่ยวกับศิลปะชุมชน เขามองว่าหลายอย่างเป็นสิ่งที่คนในชุมชนมองข้าม เช่นสภาพแวดล้อมหรือภูมิปัญญาที่หายไป และมีศิลปินเข้าไปดึงขึ้นมา
ณัฐกรณ์ สุรินธรรม ศิลปินหนุ่มเชียงรายซึ่งได้ร่วมแสดงสดกับศิลปินจากกรุงเทพฯ กล่าวว่า เป็นการทดลองและทำงานในโจทย์ใหม่ ได้เรียนรู้การทำงานกลุ่ม จังหวะที่จะเข้าออกไปร่วมแสดงสด ส่วนในมุมของศิลปะชุมชนเขามองว่าดีที่ใช้ศิลปะเข้าไป เป็นทางหนึ่งที่นำพาชาวบ้านได้
สาธิต รักษาศรี ศิลปินแสดงสดมากประสบการณ์จากกรุงเทพฯ มีความเห็นว่าเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างนักศึกษากับศิลปิน ได้เห็นมุมมองความคิดของคนรุ่นใหม่ในอีกรูปแบบหนึ่ง ส่วนของศิลปะชุมชนเป็นการนำงานในพื้นที่จริงมาเสนอให้นักศึกษาได้เห็น ไม่ได้คาดหวังว่านักศึกษาจะได้อะไร เพียงแต่อยากให้เขาตั้งคำถาม
จิตติมา กล่าวว่าเนื่องจากประเทศไทยยังเต็มไปด้วยปัญหาที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องแบกรับ โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมที่โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐเข้าไปรุกรานสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นที่พึ่งในการยังชีพของประชาชน ศิลปะที่เราทำอยู่จึงยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ ถือเป็นหน้าที่ของศิลปินที่ต้องพูดแทนผู้คนที่ไม่มีโอกาสส่งเสียง เราจึงคิดถึงการทำงานในชุมชนที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง
ผู้อำนวยการโครงการฯกล่าวว่า งานแรกของศิลปะชุมชนคือการทำงานที่แม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ใช้ร่วมกันระหว่างประชาชนไทยกับเมียนม่าร์ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีทั้งกะเหรี่ยง ไทใหญ่ คะเรนนี สายน้ำที่เกิดจากการละลายของหิมะบนเทือกหิมาลัย เป็นสายน้ำบริสุทธิ์สายเดียวที่ยังไม่มีเขื่อนขวางกั้น แต่มีโครงการสร้างเขื่อนหลายเขื่อนบนแม่น้ำสายนี้ ที่น่าห่วงใย เพราะหากมีเขื่อนเท่ากับจะทำลายป่าผืนใหญ่ น้ำท่วมหมู่บ้าน จะเกิดการอพยพครั้งใหญ่ การสร้างเขื่อนโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับพม่าทางหนึ่งคือต้องการกำจัดกองกำลังกะเหรี่ยง ซึ่งเคเอ็นยูถือว่าการสร้างเขื่อนกับสันติภาพเป็นเรื่องเดียวกัน
“เราได้ลงไปศึกษาข้อมูลแม่น้ำสาละวิน ก่อนจะพาศิลปินไทยและพม่าเข้าไปศึกษาพื้นที่ อยู่ร่วมกับชาวบ้านเป็นเวลาสองสัปดาห์ และสร้างงานศิลปะติดตั้งจัดวางและเพอร์ฟอร์แมนซ์ ในพื้นที่ ถ่ายเป็นภาพนิ่งและวีดีโอบันทึก เพื่อนำมาถ่ายทอดสู่ผู้ชมในเมือง ควบคู่กับการทำงานของชาวบ้านและเอ็นจีโอ เพื่อผลักดันด้านนโยบาย”
เขาบอกว่า นอกจากนี้ยังทำงานในแม่น้ำโขงอีกหลายครั้ง เนื่องจากแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำของภูมิภาคที่หลายประเทศเป็นเจ้าของร่วมกัน ได้มีโครงการสร้างเขื่อนหลายเขื่อนตลอดสายน้ำ เรียกได้ว่าถ้าเกิดขึ้นครบทุกเขื่อนก็เท่ากับตัดแม่น้ำออกเป็นท่อนๆ จะนำพาความหายนะมาสู่แม่น้ำโขงและผู้คนที่อาศัยสายน้ำนี้ยังไม่ต้องสงสัย ขณะนี้ตอนเหนือแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำหลานชางที่อยู่ในเขตประเทศจีนได้มีการสร้างเขื่อนแล้วหลายเขื่อน ที่กำลังสร้างปัญหาอย่างหนักให้แก่ประเทศปลายน้ำ อย่างประเทศไทย ลาว กัมพูชา ไปจนถึงเวียดนาม เพราะการขึ้นลงของแม่น้ำเปลี่ยนไป พืชและพันธุ์ปลาหลายชนิดสูญพันธุ์
จิตติมากล่าวว่า นอกจากทำงานเกี่ยวกับแม่น้ำ โครงการศิลปะชุมชนยังทำงานทางทะเล ในการพูดถึงพลังงานถ่านหินที่เป็นพลังงานก่อมลพิษ ไม่เป็นผลดีต่อมนุษย์และสภาพแวดล้อม เรายังพูดถึงสิทธิของชนเผ่าอูรักลาโว้ย กลุ่มชนดั้งเดิมผู้บุกเบิกเกาะลันตาและหลายหมู่เกาะในอันดามัน ผู้ผูกพันกับทะเลและยังชีวิตด้วยการประมงพื้นบ้าน ทำมาหากินอย่างถนอมและเคารพธรรมชาติ วิถีชีวิตเขาอาจหายไปจากประวัติศาสตร์ในเวลารวดเร็วหากเกิดมลพิษจากถ่านหิน รวมถึงการถูกรุกรานจากทุนที่เข้ามาพร้อมอุตสาหกรรม
“ประเทศไทยในฐานะที่ก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและใช้พลังงานเพื่ออุตสาหกรรมกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ได้มีส่วนในการรุกรานเพื่อนบ้านโดยโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ทำให้เกิดผลกระทบข้ามแดนดังเช่นโครงการเศรษฐกิจพิเศษทวาย ประเทศเมียนม่าร์ที่โครงการศิลปะชุมชนได้เข้าไปศึกษาและทำงานร่วมกับเสมสิกขาลัยซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่เข้าไปทำงานร่วมกับเครือข่ายประชาชนชาวทวาย โครงการเศรษฐกิจพิเศษทำให้เกิดการสร้างเขื่อนเพื่อนำพลังงานไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมหนัก เกิดท่าเรือน้ำลึกเพื่อการขนส่ง สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทะเล แม่น้ำ ป่าเขา อย่างมหาศาล เกิดการอพยพโยกย้ายชุมชน เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมอย่างไม่สามารถคาดคำนวณได้” จิตติมา กล่าว
—————-