วันที่ 16 มิถุนาย นายปกรณ์ สุริวรรณ นายอำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับรายงานจากเกษตรอำเภอพญาเม็งรายว่าพบกล้วยตายพรายในสวน กล้วยหอมเขียว ของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด พญาเม็งราย ม.1 ตำบลพญาเม็งราย และเจ้าหน้าได้เข้าไปเก็บตัวอย่างจากกล้วยหอมจีนในวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมาเพื่อส่งตรวจที่ห้องปฎิบัติการหาสาเหตุว่าเป็นเชื้อชนิดใดก่อนจะมีมาตรการดูแล
นายปกรณ์กล่าวว่า ในเบื้องต้นได้ทำความเข้าใจกับเจ้าของสวนแล้วว่า หากพบว่าเป็นเชื้อที่มีการระบาดได้ ก็ให้ควบคุมการแพร่ระบาด และหุ้นส่วนของธุรกิจนี้จะเป็นทุนจากจีนซึ่งทางกงสุลจีนประจำจังหวัดเชียงใหม่ก็ให้ความสนใจ ตอนนี้รอให้ผลออกมา หากเป็นเชื้อราที่แพร่ระบาดก็จะมีการควบคุมพื้นที่ป้องกันการแพร่ระบาดตามขั้นตอน โดยให้ล้มต้นกล้วยและขุดเหง้ามาเผาทำลาย และให้งดปลูกกล้วยในระยะเวลา 10 กว่าปี แต่อาจปลูกพืชอื่นได้ อย่างไรก็ตามต้องรอผลจากตรวจสอบก่อน
นางนงคราญ สองเมืองแก่น เกษตรอำเภอพญาเม็งราย กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เข้าไปเก็บตัวอย่างหลังจากทราบจากเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเมื่อทราบว่าพบกล้วยมีลักษณะตายพรายจึงเข้าไปเก็บตัวอย่างขณะนี้ส่งแลปกรมวิชาการเกษตรให้ตรวจสอบแล้วหากเป็นเชื้อราว่าเป็นชนิดใดนั้นก็จะดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งสรุปเบื้องต้นรายงานให้กับนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายทราบในวันที่ 17 มิถุนายนนี้
ด้านนายต๋อย(นามสมมุติ) ผู้ดูแลสวน กล่าวว่า ต้นกล้วยตายพรายจำนวนไม่มาก ไม่ถึง 1 ไร่ ที่แสดงอาการให้เห็นถึงลักษณะใบเหลืองและหักพับ แต่ในช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงที่แล้งและอากาศร้อนมาก จึงยังไม่ทราบสาเหตุและได้แจ้งให้กับเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอเข้ามาตรวจสอบแล้ว ขณะนี้ได้เก็บตัวอย่างบางส่วนไปตรวจสอบ และยังมีการเก็บเพิ่มในแปลงอื่น ๆ ที่ยังไม่มีอาการ ขณะนี้ปลูกกล้วยประมาณ 1 พันไร่ จากพื้นที่ 2 พันไร่ ซึ่งในพื้นที่ก็มีผลไม้อื่น ๆ ด้วย
นายต๋อยกล่าวว่า ได้เข้ามาดูแลสวนปีกว่าที่ผ่านมา เพิ่งเจออาการแบบนี้เป็นครั้งแรก และทางสวนกล้วยได้ใช้สารเคมีปริมาณตามที่หน่วยงานควบคุมมาตลอด และอยู่ในการดูแลของนักวิชาการและเจ้าหน้าที่โดยให้ความร่วมมือมาตลอด อยากให้เห็นใจในแง่ของการลงทุนทำการเกษตรที่กล้วยมีตลาดแน่นอนทำให้เป็นรายได้มีการจ้างงานและมีรายได้เข้ามา ซึ่งเชื่อว่าในสวนใช้สารเคมีน้อยกว่าแปลงผลไม้หลายอย่างที่ปลูกกัน และตอนนี้ก็รอผลการตรวจสอบและพร้อมให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขปัญหา
ขณะที่นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย กล่าวว่า ปัญหาการปลูกกล้วยเชิงเดี่ยว คืออาจทำให้เกิดโรคระบาด ซึ่งทางไบโอไทยคาดว่าโรคระบาดดังกล่าวคือ “โรคตายพราย” หรือ “Panama disease” ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Fusarium โรคร้ายแรงนี้เคยทำให้กล้วยหอมทอง (Gros Michel) ที่ปลูกในทวีปอเมริกาเป็นโรคระบาดตายแทบเกลี้ยงทวีปเมื่อทศวรรษ 1950 และเป็นสาเหตุให้มีการนำกล้วยหอมเขียว (Cavendish) มาปลูกแทน สาเหตุของการเกิดโรคระบาดนี้เกิดขึ้นจากการปลูกกล้วยเชิงเดี่ยวในพื้นที่ขนาดใหญ่ มีการใช้ปุ๋ยและสารเคมีจำนวนมาก ทำลายสมดุลของระบบนิเวศและสมดุลของสิ่งมีชีวิตในดิน ที่สำคัญคือเชื้อนี้สามารถปรับตัวให้ต้านทานต่อการใช้สารเคมี วิธีการแก้ปัญหาคือการเปลี่ยนพื้นที่ปลูกหรือไม่ก็เปลี่ยนเป็นกล้วยสายพันธุ์อื่นที่ต้านทานแทน แต่ก็มักจะพบว่าเชื้อนี้สามารถปรับตัวต้านทานต่อสารเคมีและทำลายการปลูกกล้วยสายพันธุ์ใหม่ๆที่ปลูกแบบเชิงเดี่ยวได้เสมอ จึงมีความเป็นห่วงว่าจะเกิดการแพร่ระบาดไปยังกล้วยหอมทองในพื้นที่อื่น ๆ
“โรคนี้รุนแรงมาก และรักษาไม่ได้ด้วยเพราะสารเคมีก็เอาไม่อยู่ วิธีเดียวคือต้องทิ้งระยะไว้และเปลี่ยนสายพันธุ์ ตัวที่ระบาดในปานามาครั้งนั้น ได้แพร่ระบาดไปทั้งทวีป ขณะที่กล้วยหอมเขียวก็มีเชื้อที่พัฒนาเช่นกัน ซึ่งระบาดในเอเชียโดยมีรายงานพบว่าระบาดในไต้หวันและจีนตอนใต้ ไปจนถึงออสเตรเลีย ถ้าระบาดแล้วลำบาก เฉพาะหน้าต้องจำกัดการระบาดไม่ให้มีการขนย้ายใดๆทั้งเครื่องไม้เครื่องมือเข้า-ออกจากเขต รวมถึงคนที่เข้า-ออกมาต้องฆ่าเชื้อด้วย ”นายวิฑูรย์ กล่าว
นายวิฑูรย์กล่าวว่า ในโพสต์ของไอโอไทยได้มีผู้ส่งข้อมูลว่าเกิดโรคระบาดชนิดนี้ในส่วนกล้วยที่จังหวัดลำปางซึ่งได้ซื้อหน่อกล้วยไปจากจังหวัดเชียงราย หากข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้นมีสิทธิที่เชื้อราตัวนี้จะขยายไปยังจังหวัดอื่นที่ปลูกหอมเขียวด้วย ก่อนหน้านี้ได้ยินที่จังหวัดพะเยาก็เอาหน่อกล้วยเชียงราย ทำให้เสี่ยงทั้งหมด สมัยก่อนในบ้านเราเคยมีการระบาดของเชื้อราในกล้วยน้ำว้า แต่ปลูกกันในพื้นที่ขนาดเล็กสวนหลังบ้านจึงไม่เกิดปัญหามาก แต่ปัจจุบันปลูกเชิงเดี่ยวกันเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จึงมีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งเชื้อนี้สามารถฝังอยู่ในดินได้นับสิบๆปี
เมื่อถามว่าทางการควรมีการเปิดเผยข้อเท็จจริงหรือไม่ นายวิฑูรย์กล่าวว่า เมื่อ1-2 เดือนก่อนตนเคยเห็นรายงานเตือนภัยของกระทรวงเกษตรฯในเรื่องนี้ แต่กรณีที่เกิดขึ้นเชียงราย ถ้าเกิดโรคในแปลงขนาดใหญ่ ก็น่าเป็นห่วงว่าจะควบคุมไม่อยู่ ในส่วนของภาครัฐก็ต้องเข้าไปตรวจสอบจริงๆ ควรจะกัดเขตห้ามเข้าและกันพื้นที่โรคระบาด ที่สำคัญควรต้องเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ทราบว่าเชื้อนี้ไปถึงไหนแล้ว
เมื่อถามว่าแหล่งปลูกกล้วยหอมสำคัญของประเทศไทย เช่น ที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี จะได้รับผลกระทบหรือไม่ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีกล่าวว่า ตอนนี้โรคระบาดนี้เกิดกับหอมเขียว แต่แหล่งกล้วยหอมของไทยส่วนใหญ่เป็นกล้วยหอมทอง แต่กล้วยหอมทองอ่อนแอกว่ากล้วยหอมเขียว ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน
อนึ่ง สวนกล้วยหอมในอำเภอพญาเม็งรายแห่งนี้ เคยถูกชาวบ้านร้องเรียนเมื่อ 2 ปีก่อนกรณีแย่งน้ำในแม่น้ำอิงของชุมชนมาใช้ ซึ่งเริ่มต้นพบว่าเป็นการจดทะเบียนลงทุนของนักธุรกิจจีน โดยก่อนหน้านั้นนักธุรกิจจีนได้เข้ามาลงทุนปลูกกล้วยหอมจำนวนมากในฝั่งลาว แต่ใช้สารเคมีเข้มข้นจนทำลายสภาพแวดล้อมและมีคนงานป่วย ในที่สุดรัฐบาลลาวจึงห้ามปลูกกล้วยหอมในหลายแขวง ทำให้มีการย้ายฐานผลิตมาปลูกในฝั่งไทย แต่ชาวบ้านได้ร้องเรียนจนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เข้ามาตรวจสอบ และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อการจดทะเบียนเป็นของคนไทย
///////////////////////////