Search

วันผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ครั้งที่ 2 ด้วยความเคารพในภูมิปัญญาและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

42 ปีที่ดิฉันได้ร่วมชีวิต ร่วมเรียนรู้ กับกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือจนเชื่อมไปถึงชาวเลในทะเลอันดามัน ชาวไทยพลัดถิ่นแถบระนอง ประจวบคีรีขันธ์ กับคนเชื้อสายไทยเกาะกง จังหวัดตราด และกลุ่มลาวอพยพในอีสาน ได้ตระหนักว่าผู้เฒ่าทั้งหญิงชาย คือ เจ้าของภูมิปัญญาที่บ่มเพาะ ปลูกฝังให้คนรุ่นลูกหลาน มีมติความเชื่อ วัฒนธรรม พิธีกรรม ที่จะอยู่ร่วมกันในครอบครัว ชุมชน ด้วยการร่วมทุกข์ ร่วมสุข แบ่งปัน จัดสรรหน้าที่และใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างพอเพียง เป็นธรรม สมดุล และยั่งยืน หล่อเลี้ยงชีวิต ด้วยความเคารพและเรียนรู้จากธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง

 

ผู้เฒ่าเหล่านี้อยู่อย่างพึ่งพาตนเอง ไม่ค่อยสัมพันธ์กับอำนาจรัฐและระบบบริการของรัฐ เพราะส่วนใหญ่พูดแต่ภาษาของตนเอง เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตจริงจากสภาพธรรมชาติแวดล้อมซึ่งมีความหลากหลายของระบบนิเวศ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเดินทางออกนอกพื้นที่มีเพียงแค่การเดินทางไปยังชุมชนใกล้ ๆ ซึ่งเป็นเครือญาติ หรือคนร่วมชาติพันธุ์เดียวกันเพื่อร่วมพิธีกรรม แลกเปลี่ยนค้าขายกันในระบบเศรษฐกิจยังชีพ

 

เมื่อเกิดรัฐชาติยุคใหม่ซึ่งประกอบด้วยเขตแดน อำนาจอธิปไตยและบุคคลซึ่งถูกกำหนดให้เป็นพลเมืองของรัฐชาติ มีการกำหนดระบบทะเบียนราษฎร การมีสถานะบุคคลทางกฎหมาย ด้วยกฎหมายสัญชาติ กฎหมายการทะเบียนราษฎร กฎหมายคนเข้าเมือง กฎหมายการทำงานของคนต่างด้าว แม่น้ำ ภูเขา กลายเป็นเขตแดนของประเทศ ที่ขวางกั้นความเป็นพี่น้องร่วมเครือญาติ ร่วมชาติพันธุ์ บุคคลต้องมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐเจ้าของอำนาจอธิปไตย ต้องมีสถานะทางกฎหมายเป็นเกณฑ์ กำหนดสิทธิอาศัย สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และสิทธิความเป็นพลเมือง สิทธิทางการเมือง

 

ผู้เฒ่าเหล่านี้ปรับตัวกับรัฐชาติยุคใหม่ได้ยาก ในขณะที่คนรุ่นลูกหลานปรับตัวเข้าสู่ระบบการศึกษา การพัฒนาที่มุ่งสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ การบริโภค และโครงสร้างอำนาจของรัฐยุคใหม่ได้ง่ายกว่า ผู้เฒ่าเจ้าของภูมิปัญญาที่สั่งสมมาเป็นร้อย ๆ พัน ๆ ปี ให้มนุษย์อยู่กับมนุษย์ มนุษย์อยู่กับธรรมชาติ และสิ่งเหนือธรรมชาติด้วยความอ่อนน้อม ด้วยความเป็นธรรม และศานติสุข ถูกทอดทิ้งจากระบบการทะเบียนราษฎรและการมีสัญชาติ กลายเป็นผู้เฒ่าไร้สัญชาติ แฝงตัวอยู่ตามชุมชนชายแดนของทุกภาคในประเทศ แม้กระทั่งชุมชนใจกลางกรุงเทพมหานคร

 

งานวันผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ครั้งที่ 1 จึงเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 โดยมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ที่บ้านใกล้ฟ้า หมู่บ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยการสุ่มตัวอย่างสำรวจเฉพาะตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง แล้วนำผลมาสรุปเพื่อประกาศต่อสังคมว่าผู้เฒ่าไร้สัญชาติ เป็นกลุ่มคนที่ถูกทอดทิ้งจากสิทธิและสวัสดิการทั้งปวง เพราะกฎหมายส่วนใหญ่กำหนดว่า การที่จะได้สิทธิ์ทั้งหลายแม้กระทั่งสิทธิที่จะเดินทางออกนอกพื้นที่เพื่อไปหาลูกหลาน ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย

 

ในปี 2556 งานวันผู้เฒ่าไร้สัญชาติครั้งที่ 2 จัดขึ้นในวันที่ 22 เมษายน 2556 ที่บ้านใกล้ฟ้า บ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โดยขยายเครือข่ายไปยังพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน อ. สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน พื้นที่ แม่อาย จ.เชียงใหม่ พื้นที่ริมน้ำโขงจาก อ.เชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น พื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ เพื่อสำรวจตัวตนที่มีอยู่ของผู้เฒ่าไร้สัญชาติ สภาพปัญหา และทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาจากระดับชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด จนถึงระดับกฎหมายและนโยบาย ด้วยความสนับสนุนของ สสส. สำนัก 9 รวมทั้งแสดงภูมิปัญญาของผู้เฒ่าจากชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นมรดกอันทรงคุณค่าของโลก

 

ข้อเขียนของอริยะ เพ็ชร์สาคร และมานะ งามเนตร ในเอกสารฉบับนี้ จะช่วยชี้ให้เห็นสถานการณ์ผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ซึ่งจำแนกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ ๆ และทางออกที่ปฏิบัติได้จริง ซึ่งต้องการความเข้าใจร่วมกันในสังคม จนถึงระดับนโยบาย

 

โครงการแก้ปัญหาสถานะบุคคลเพื่อสุขภาวะผู้เฒ่าไร้สัญชาติ หวังว่า งานวันผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ครั้งที่ 2 จะจุดประกายให้ทุกคนในสังคมเห็นคุณค่าของผู้เฒ่าที่มีภูมิปัญญา สร้างครอบครัว สร้างชุมชน สร้างสังคม ซึ่งเป็นการสร้างชาติที่งดงามด้วยความหลากหลาย ร่ำรวยทางภูมิปัญญา วัฒนธรรมมาตลอดชีวิต แล้วระดมพลังกาย พลังใจ พลังปัญญา เพื่อแก้ปัญหาของผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ให้ท่านได้มีสิทธิที่พึงมี พึงได้ มีสถานะทางกฎหมายที่ตรงกับข้อเท็จจริงของท่านเหล่านี้ โดยเปิดช่องทางพิเศษจากระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด จนถึงระดับบริหารของกระทรวงที่รับผิดชอบ คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม แม้กระทั่งภาคธุรกิจเอกชน ที่จะร่วมกันเร่งแก้ไขปัญหาให้ผู้เฒ่าได้มีชีวิตในบั้นปลายอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีความสุขสงบทางใจ เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้เฒ่าเหล่านี้ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนที่ครอบครัวจะได้อยู่ร่วมกันพร้อมหน้าด้วยความเป็นสิริมงคล

 

มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ขอเป็นกลไกฟันเฟืองตัวหนึ่ง ที่จะเป็นตัวเร่ง ตัวกระตุ้น และเป็นแกนกลางในการแก้ไขปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี  ขอขอบคุณองค์กรสนับสนุน คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 9 และองค์กรอื่นๆ ที่สนับสนุนและมาร่วมงาน ขอให้ร่วมแรงร่วมใจต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

 

ติดต่อมูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา (พชภ.) ได้ที่
129/1 ม.4 ถ.ป่างิ้ว ซ.4 ต.รอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย 57000
โทรศัพท์ 053-758658 ,715696
E-mail : hadf_cr@hotmail.com  www.hadf1985.org

 

โดยเตือนใจ ดีเทศน์

สยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์ ฉบับที่ 32  ศุกร์ 26 เมษายน – พฤหัสบดี 2 พฤษภาคม 2556

 

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →