Search

ผลักดันรัฐออกกฎหมายคุ้มครองชนเผ่าพื้นเมือง “พล.อ.สุรินทร์” ชี้ประเทศไทยบาปเหตุรังแกคนที่ช่วยกำหนดเขตแดน

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2562 ซึ่งเป็นวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ได้มีการจัดงานวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ 36 กลุ่มเข้าร่วม ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ ทั้งการจัดนิทรรศการ การขายสินค้าชนเผ่า การแสดง และเวทีเสวนา

ทั้งนี้ในเวทีเสวนาเรื่อง “ตัวตนชนเผ่าพื้นเมืองและการยกระดับมติ ครม.แนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยงและชาวเล” นายอภินันท์ ธรรมเสนา ผู้แทนศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า นอกจากความสวยงามของเสื้อผ้าของพี่น้องชาติพันธุ์แล้ว ในอีกมุมหนึ่งยังมีความเปราะบางของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งในเชิงนโยบายตั้งแต่ปี 2540 จนกระทั่งมีได้มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ปี 2553 ในการคุ้มครองวิถีชีวิตและฟื้นฟูชาวเลและกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นการใช้พลังทางวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ และเป็นอาวุธทางปัญญาในการต่อรอง มติครม.นี้ผ่านไปแล้ว 9 ปี มีพัฒนาการก้าวหน้าที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์มีโอกาสรวมตัวกันสร้างเป็นเครือข่าย มีการจัดกิจกรรมร่วมกัน และมติครม.นี้ยังช่วยคลี่คลายความเข้าใจต่อสังคมได้มากขึ้น เช่น การทำไร่หมุนเวียน ไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย รวมถึงการดำรงชีวิตของชาวเล เช่น การหาปลา เป็นการอนุรักษ์ ไม่ใช่ทำลาย ซึ่งมีแนวโน้มในทางบวกมากขึ้น

“บางคนอาจถามว่าทำไมถึงทำเฉพาะชาวเลและกะเหรี่ยง เราต้องการหาต้นแบบการมีส่วนร่วมก่อน เมื่อครบ 10 ปี คณะกรรมการปฎิรูปประเทศได้บรรจุเรื่องการมี พรบ.ส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์ไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐพึงต้องปฎิบัติ อย่างไรก็ตามเราทำแต่กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ หากเราไม่สามารถสร้างกระบวนการสร้างความเข้มแข็งได้ก็จะไม่อาจทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เข้มแข็ง เป้าหมายของกฎหมายคือการทำให้เกิดความเข้มแข็ง” นายอภินันท์ กล่าว และว่าทำอย่างไรให้มีการพัฒนาองค์ความรู้ของกลุ่มชาติพันธุ์นำมาใช้ได้ และต้องมีการสร้างคนและเครือข่าย รวมทั้งต้องสร้างพื้นที่ทางการสื่อสารให้สังคมเห็นคุณค่าของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการขับเคลื่อน

ดร.ประเสริฐ ตระการศุภกร ผู้แทนชนเผ่าพื้นเมืองที่ร่วมขับเคลื่อนมติ ครม. กล่าวว่า มติครม.3 สิงหาคม 2553 มีหลายพื้นที่ที่เป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างรัฐกับชาวบ้านในการจัดตั้งเขตวัฒนธรรมพิเศษของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งมีผลกับกะเหรี่ยงและชนเผ่า ทำให้เกิดความเข้าแข็งในชุมชนเชื่อมโยงกับการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติและยังมีเรื่องความรู้วิทยาศาสตร์เข้าไปด้วยในเรื่องของแผนที่และเขตแดนต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้และการสร้างฐานเศรษฐกิจชุมชน ที่สำคัญมตินี้ชาวบ้านยังนำมาใช้ต่อรองกับรัฐได้ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปในทางบวก ทำให้รู้จักภูมิปัญญาที่เป็นรากเหง้าของชนเผ่า และเกิดการสื่อสารในระดับชาติมากขึ้น และข้อมูลเข้าถึงส่วนต่างๆ ของรัฐมากขึ้น กรณีคดีของปู่คออี้ ที่ศาลได้ใช้มติ 3 สิงหาคมมาร่วมพิจารณาถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี

ดร.ประเสริฐกล่าวว่า ปัญหาและอุปสรรคนั้น เป็นเรื่องการรับรู้ของมติครม.ดังกล่าวซึ่งแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องยังไม่ขับเคลื่อนและรับรู้มตินี้ กลายเป็นปัญหาที่สำคัญ ข้อเสนอแนะคืออยากให้มองว่ามติ 3 สิงหาคม 2553 ว่ามีนัยยะที่เปิดกว้างและสอดคล้องกับกติกานานาชาติโดยเฉพาะการยอมรับกลุ่มชาติพันธุ์ หากมีการพัฒนาต่อเป็นกฎหมายจะมีความก้าวหน้ามากและรัฐจะมีหน้ามีตาในสังคมโลก จำเป็นต้องมีการผลักดันกันต่อไป และควรมีการสร้างรูปธรรมในพื้นที่ให้มากที่สุด

นายวิทวัส เทพสง ตัวแทนชาวเลกล่าวว่า ชาวเลอยู่มาตั้งแต่ยุคอิสระมีป่าและสัตว์มากมาย แต่ทรัพยากรเหล่านั้นได้หมดไปตั้งแต่ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นได้มีการสัมปทานป่าไม้ จากเดิมที่ชุมชนชาวเลมีด้านหน้าเป็นภูเขาด้านหลังเป็นทะเล เมื่อมีสัมปทานทำให้ป่าหมดไป ต่อมาได้มีการสัมปทานทำเหมืองแร่ในทะเล ซึ่งชาวเลอยู่ในพื้นที่สัมปทานที่ใช้เครื่องมือขนาดใหญ่ทำให้ที่ดินหายไป ชาวเลจึงต้องย้ายออกไป จนกระทั่งมีการสัมปทานแร่ชายหาดโดยใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ แต่ชาวเลไม่มีส่วนร่วมเลย ไม่มีสิทธิว่าชาวเลต้องการสัมปทานนั้นหรือไม่ และชาวเลต้องปรับตัวเองไปกับการพัฒนา

นายวิทวัส กล่าวว่า มาถึงยุคของการท่องเที่ยวเกิดการฟ้องร้องชาวเลมากมาย เช่น กรณีชุมชนราไวย์และเกาะหลีเป๊ะ ขณะที่รัฐบาลได้ประกาศขยายพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเล เห็นบริเวณไหนเขียวๆ ก็วงในแผนที่ ตอนแรกชาวเลก็ยังอยู่ได้เรื่อยมาจนเกิดสึนามิ เจ้าหน้าที่ได้ปรับแผนจากเคยอยู่กับชาวเลอย่างสมดุลมาเป็นแผนควบคุม เช่นกรณีชาวเลเกาะสุรินทร์

“ตอนนี้ปัญหาชาวเลยังหยุดอยู่ที่เดิม การประกอบอาชีพก็ยังมีปัญหา พวกเราเรียกร้องให้ผ่อนปรนเครื่องมือ 11 ชนิดและเสนอเรื่องไปแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า ทุกวันนี้ชาวเลยังถูกน้ำหนีบ มีปัญหาสุขภาพ ยังไม่มีบัตรประชาชนกว่า 500 คน เรื่องสำคัญที่เราขับเคลื่อนคือเรื่องเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรม เพื่อให้เป็นกฎหมาย เพราะมติ ครม.เจ้าหน้าที่มักไม่ปฎิบัติเพราะเขามีกฎหมายที่ใหญ่กว่ามาอ้าง แม้เราจะมีรัฐธรรมนูญเขียนระบุให้การคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ยังไม่มีแนวปฎิบัติ จึงจำเป็นที่เราต้องผลักดันให้มีกฎหมาย” นายวิทวัส กล่าว

พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง อดีตประธานคณะกรรมการชาวเล-กะเหรี่ยง สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าตั้งแต่มีมติครม.ปี 2553 แต่ไม่มีความคืบหน้านัก หากยังไม่มีการแก้ไขปัญหาที่ดินของชาวเลและกะเหรี่ยงได้ ตนได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานอยู่หลายปีทั้งชาวเลและกะเหรี่ยง และได้ลงพื้นที่และทำข้อเสนอถึงรัฐมนตรีแล้ว โดยหลักกฎหมายแล้ว เมื่อตั้งประเทศไทยขึ้นมา หากเอาที่สากลรับรู้คือสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เสด็จไปต่างประเทศ ณ วันนั้นทุกเผ่ามีอยู่แล้ว และขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายเลย ดังนั้นทุกเผ่าจึงมีสิทธิครอบครองโดยชอบ ต่อมาจึงมีกฎหมายต่างๆ ออกมา ทั้งกฎหมายที่ดิน กฎหมายป่าไม้


พลเอกสุรินทร์กล่าวว่า ชนเผ่าเป็นผู้ที่ร่วมสร้างชาติ เป็นผู้ชี้แนวอาณาเขตประเทศไทย โดยชาวกะเหรี่ยงช่วยในแนวเขตฝั่งตะวันตกตั้งแต่จังหวัดเชียงใหม่ถึงจังหวัดประจวบฯ เช่นเดียวกับชาวเล หากไม่มีพวกเขา ทะเลอันดามันของไทยก็มีแค่ขอบ 12 ไมล์ทะเล ทั้งหมดเป็นคุณูปการของชนเผ่า แต่ทุกวันนี้ชนเผ่ายังเดินเท้าร้อนเพราะแผ่นดินเป็นของคนอื่น ประเทศไทยสร้างบาปไว้เยอะมาก เพราะคนที่กำหนดเขตแดนประเทศไทยถูกรักแกมาก เช่นเดียวกับใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็กถูกรังแกในลักษณะเดียวกัน จริงๆ แล้วกฎหมายไม่ได้เลวร้าย แต่ผู้ปฎิบัติเอากฎหมายมาหากิน

พลเอกสุรินทร์กล่าวว่า รัฐใช้อำนาจอะไรย้ายชาวกะเหรี่ยงจากใจแผ่นดินมาอยู่บางกลอยล่าง ทั้งๆ ที่เขาอยู่ที่ใจแผ่นดินมาก่อนและไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐทำแบบนี้ได้

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →