Search

ชาวบ้านยืนยันค้านโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก-จวกปิดบังข้อมูล กรมชลแจงไม่เป็นเหตุน้ำท่วมหมู่บ้าน

เมื่อวันนี้ 16 สิงหาคม 2562   ที่บ้านกลาง ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย ได้มีการจัดเวทีเจรจาและชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเลย  ปลัดอำเภอเชียงคาน มลททลทหารบกที่ 28 ตัวแทนกรมชลประทาน ศูนย์ดำรงธรรม กำนันตำบลปากตม ผู้ใหญ่บ้านคกมาด นายก อบต. เชียงคาน ทหารพรานและเจ้าหน้าที่ราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่และชาวบ้านกลางซึ่งรวมตัวกันในนามกลุ่มฮักน้ำเลย ประมาณ 300 คนเข้าร่วมซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก 

นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า  การจัดเวทีที่บ้านกลาง สืบเนื่องจากชาวบ้านกลางได้ยื่นหนังสือคัดค้านประตูระบายน้ำศรีสองรัก ณ ด่านศุลกากร อ.เชียงคาน จ.เลย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2562 จึงนำมาสู่เวทีการพูดคุยระหว่างกรมชลประทานกับชาวบ้านกลางในวันนี้

นายยุทธนา มหานุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ 12 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน กล่าวว่า การดำเนินการก่อสร้างโครงการ ปตร.ศรีสองรัก เพื่อกักเก็บน้ำส่วนหนึ่งไว้ใช้ในฤดูแล้ง โดยก่อสร้างในลำน้ำเลย ลักษณะโครงการเป็นประตูระบายน้ำ ไม่ใช่เขื่อนทดน้ำ และมีการขุดช่องลัดเพื่อระบายน้ำได้เร็วกว่าลำน้ำเลยสายเดิมถึง 4 เท่า ปริมาณน้ำมากกว่า 2,500 ลบ.ม. / วินาที ปกติสามารถระบายน้ำเพียง 400 ลบ.ม. /วินาที จึงขอชี้แจงประเด็นคำถามของชาวบ้านกลางว่า น้ำจะไม่ท่วมหมู่บ้านกลางเพราะระดับน้ำจะอยู่ที่ระดับ 208.5 ม.รทก และในฤดูแล้งระดับน้ำที่สะพานบ้านกลางจะสูงขึ้นอีกประมาณ 3 เมตร ระดับน้ำจะเอ่อไปถึงบ้านแก้งมี้สูงประมาณ 1 เมตร ระดับน้ำจะอยู่ในลำน้ำเลย จะไม่ล้นขึ้นสู่ห้วยกอก ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาที่ไหลผ่านกลางบ้านกลาง ในฤดูฝนหากมีปริมาณน้ำมามาก ก็จะยกประตูระบายน้ำเพื่อให้น้ำไหลลงแม่น้ำโขง ในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง จะปิดบานประตูลงในระดับต่ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ ถ้ามีน้ำโขงหนุนมา เราจะปิดประตูน้ำ และใช้เครื่องสูบน้ำออก เพื่อเลี้ยงระดับน้ำไว้ไม่ให้ล้นเหมือนประตูน้ำห้วยหลวง โดยได้ออกแบบเป็นสถานีสูบน้ำถาวรไว้อยู่แล้ว ในกรณีที่หากน้ำในแม่น้ำน้ำเลยมาเยอะ จะเปิดประตูระบายลงโขงจากจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ เพื่อให้การระบายน้ำได้เร็วขึ้น เป็นการแก้ไขปัญหาและเป็นการลดผลกระทบในช่วงฤดูฝน ส่วนประเด็นการศึกษาดูงาน เมื่อปี 2561 กรมชลประทานจัดให้ไปดูงานแล้วสองครั้ง ครั้งแรกที่ประตูระบายน้ำที่จังหวัดนครพนม ซึ่งเปิดดำเนินการมาแล้วและได้ผลดี ครั้งที่สองที่จังหวัดเชียงใหม่ ไปดูงานศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง           ซึ่งช่วงที่จัดเป็นช่วงที่บ้านกลางอาจติดภารกิจไม่ได้ไปด้วย ทางกรมชลประทานก็ยินดีจัดงบประมาณในปีนี้ให้ เพื่อจะได้เห็นภาพโครงการที่ประสบความสำเร็จ คล้ายๆ กับการดำเนินการของประตูระบายน้ำศรีสองรัก

ส่วนการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โครงการ ปตร.ศรีสองรัก ไม่เข้าข่ายการทำลายผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่มีการศึกษาโครงการ (Pre-Feasibility) ประตูระบายน้ำศรีสองรัก ตามที่ทุกท่านมีอยู่แล้ว และโครงการมีแผนอนุรักษ์พัฒนาสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีงบประมาณ 250 ล้าน

นายธนูศิลป์ อินดา ตัวแทนกลุ่มฮักน้ำเลย กล่าววว่า โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก  ก่อให้เกิดระบบนิเวศของแม่น้ำเลยเปลี่ยนไปแน่นอน ในเอกสารโครงการ กรมชลประทานระบุว่า จะมีสะพานปลา ตนศึกษาระบบน้ำนิวซีแลนด์ปลายังไม่มี  เขื่อนไซยะบุรีปลาก็ไม่ขึ้น ข้อกังวลของพวกตนคือสภาพพื้นที่ของหมู่บ้านและที่ดินของชาวบ้านที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำท่วม จะทำอย่างไร หากเกิดน้ำท่วมขึ้นมา ชาวบ้านอาจจะอพยพไปอยู่ที่อื่น  ความเสียหายก็จะเกิดขึ้น เราต้องมาศึกษาผลกระทบจากโครงการร่วมกันทั้งหมดด้วยกัน เพราะเหตุการณ์น้ำหลากเมื่อปี 2545 ที่เกิดน้ำท่วมหมู่บ้านเกือบถึงระดับหลังคาบ้าน ยังติดตาพวกเราอยู่ ขนาดตอนนั้นไม่มีประตูระบายน้ำปิดปากแม่น้ำเลย โครงการนี้ไม่มีการทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แต่เรายังมีโอกาสให้ทำได้อยู่   และเห็นข้อสงสัยในเนื้อหาของเอกสารโครงการที่ระบุชื่อ บ้านห้วยขิก ตนก็ไม่เคยเห็นว่า บ้านห้วยขิกอยู่ตรงไหนในเขตตำบล อยากให้ศึกษากันใหม่หมด เพราะมูลค่าของโครงการไม่ใช่น้อยแต่ในระดับ 5 พันล้าน

นางมุด อุ่นทุม คณะกรรมการกลุ่มฮักแม่น้ำเลย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ชาวบ้านกลางยื่นหนังสือต่อหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 จนถึงปัจจุบัน พวกเราชาวบ้านกลางไม่เคยได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโครงการและไม่เคยมีส่วนร่วมการประชุม เนื่องจากกรมชลประทานคงคาดว่า พวกเราจะคัดค้านโครงการ  ต่อมาได้มีการพูดคุยกับกรมชลประทานว่า ถ้าชาวบ้านไม่ต้องการโครงการ กรมชลก็จะเอาไปที่อื่น ข้อเสนอคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีมติให้มีการจัดทำโมเดลของเขื่อนและระดับน้ำ ชาวบ้านให้เวลากรมชลประทาน 2 เดือน ผ่านไปจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้คำตอบจากกรมชลประทานเลย ไม่มีข้อมูล กรมชลปิดบังข้อมูลและพยายามบอกว่า ชาวบ้านไม่ได้รับผลกระทบ   พวกเราชาวบ้านกลางมีมติกับสำนักงานเกษตรจังหวัดเลยว่า เราไม่เอาโครงการ และโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักษ์นี้เป็นโครงการเดียวกับโครงการผันน้ำโขงเลยชีมูล เพราะว่าน้ำจากแม่น้ำเลยจะส่งไปถึงเขื่อนอุบลรัตน์ และทุ่งกุลาร้องไห้ กลุ่มฮักแม่น้ำเลยไปดูโครงการก่อสร้าง เห็นแล้วหัวใจหล่น เพราะขนาดแค่เริ่มโครงการไม่กี่เปอร์เซ็นต์ เขื่อนยังมีขนาดใหญ่มาก


นางมุด กล่าวอีกว่า หากว่ากรมชลประทานยืนยันว่า น้ำจะไม่ท่วมบ้านกลางจริง ให้ออกเอกสารและมีการเซ็นยืนยันมาเลย อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านกลางมีหมู่บ้านเดียว ขออนุรักษ์แม่น้ำเลย ขออยู่หากินแต่กับแม่น้ำ กุ้ง หอยปู ปลา ตามธรรมชาติแบบเดิม ที่ผ่านมา เคยมีข้าราชการคนหนึ่งบอกว่า ทำไมไม่เสียสละ ถ้าเราเสียสละแล้วพื้นที่ทำกินเราอยู่ไหน ที่อยู่อาศัยเราอยู่ไหน ราชการจะไปจัดหาให้เราได้สมบูรณ์เหมือนเดิมไม่ได้ เราทำนาปีละครั้งไม่เคยใช้น้ำเลย แต่ในอดีตไม่เคยเจอภัยแล้ง แต่มาปีนี้แล้งเพราะว่าโลกร้อน ต่อไปหากกรมชลประทานจะจัดประชุม ต้องมีหนังสือเชิญคณะกรรมการไปเข้าร่วมด้วย

นายชาญณรงค์ วงศ์ลา กลุ่มรักษ์เชียงคานและที่ปรึกษากลุ่มฮักน้ำเลย กล่าวว่า ตั้งแต่ตั้งคณะกรรมการมา มีการประชุมแค่ครั้งเดียว ชาวบ้านขอเอกสารระบบวางโครงการงบประมาณเกือบห้าพันล้าน ทำอะไรได้หลายกว่านั้น เพราะว่าชาวบ้านมีความกังวล ชาวบ้านเลยมาทำข้อมูลเอง ชาวบ้านได้ทำงานวิจัยไทบ้าน โดยค้นพบว่า มูลค่าการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเลยด้านต่าง ๆ คิดเป็นเงินมูลค่า 7 ล้านกว่าบาท การทำประตูระบายน้ำปิดปากแม่น้ำเลย อย่างไรก็จะทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำแน่นอน และในเอกสารมีการพูดถึง บันไดปลาโจน ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีบันไดปลาโจนที่ไหนในโลกทำให้เห็นว่า ปลาสามารถขึ้นได้ และกรณีนี้ ปลาแม่น้ำโขง แม่น้ำเลย เป็นปลาอพยพ ปากแม่น้ำเลย ถ้ามีเขื่อนขึ้นมา ปลาพวกนั้นไม่สามารถขึ้นมาวางไข่ได้ เอกสารการวางโครงการมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกรมชลประทาน ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตร และด้านต่าง ๆ และขอย้ำว่า โครงการนี้ เป็นโครงการย่อยของโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล จะเห็นว่ามีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งในโครงการศึกษาไม่ได้ระบุบอก แต่ในเอกสารโครงการโขงเลยชีมูลได้ระบุไว้ งบประมาณกว่า 5000 ล้านบาท สามารถนำไปใช้ในการขุดน้ำบาดาลทั้งระบบ เฉลี่ยบ่อละ 100,000 บาท ได้มากว่า 50,000 บ่อ ได้ครอบคลุมมากกว่า ซึ่งประโยชน์ทางการเกษตรมากกว่าโครงการแบบนี้

ขณะเดียวกันกลุ่มฮักน้ำเลย ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้มีการยกเลิกโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก ที่ดำเนินการขัดหลักธรรมาภิบาลและขาดการมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่ ตลอดจนชาวบ้านยังมีเหตุผลที่สำคัญ 4 ประการ คือ การก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรักฯ จะนำไปสู่การทำลายวิถีชีวิตชุมชนชาติพันธุ์ไทพวน ผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในแม่น้ำเลยที่เชื่อมโยงกับระบบนิเวศแม่น้ำโขงสายประธาน ผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและรายได้จากการพึ่งพาแม่น้ำเลย ผลกระทบต่อพื้นที่ทำการเกษตรและที่อยู่อาศัย และขอให้กรมชลประทานทำเอกสารตอบกลับให้คำตอบภายใน 30 วัน

อนึ่ง โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เชียงคาน จ.เลย คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 10 ต.ค.2560 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมชลประทาน มีแผนการดำ เนินงาน 6 ปี ในปีงบประมาณ 2661-2566 ด้วยวงเงินทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท ลักษณะของโครงการนั้นประกอบด้วยประตู (ช่องลัด) ระบายน้ำประเภทบานตรง ขนาดระบายกว้าง 15 .00 เมตร สูง 13,20 เมตร จำนวน 5 ช่อง ประตูระบายน้ำเดิม(แม่น้ำเลย) ประเภทบานตรง กว่าง 10.00 เมตร สูง 12.50 เมตร จำนวน 2 ช่องระบบส่งน้ำยาวประมาณม 99 กม. มีสถานีสูบน้ำ 5 สถานีบริเวณก่อสร้างหัวงาน คือ ต.เชียงคาน อ.เชียงคาน เพิ่มพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 72,500 ไร่ และฤดูแล้ง 18,100 ไร่ ครอบคลุม 7 ตำบล คือ เชียงคาน นาซ่าว ปากตม หาดทรายขาว เขาแก้ว จอมศรีและ ต.ธาตุ อ.เชียงคาน รวม 44 หมู่บ้าน 9,287 ครอบครัว บรรเทาอุทกภัยในฤดูน้ำหลากและสามารถบริการจัดการน้ำลุ่มน้ำเลยตอนล่างได้ ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย


On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →